5.2แสนคนเข้าไม่ถึงระบบรักษาพยาบาลรัฐ วอนตั้งกองทุนพิเศษช่วย

5.2แสนคนเข้าไม่ถึงระบบรักษาพยาบาลรัฐ วอนตั้งกองทุนพิเศษช่วย

วอนรัฐตั้งกองทุนพิเศษช่วยคนไทยมีปัญหาสถานะเข้าถึงรักษาพยาบาล มีกว่า 5.2 แสนคน เผยใช้งบตั้งต้น 120 ล้านบาท แนวโน้มกองทุนลดลงหลังได้สัญชาติ ไม่เพิ่มภาระงบฯรัฐระยะยาว ขณะที่ 9 หน่วยงานลงนามร่วมพัฒนาการเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพกลุ่มเปราะบาง

          เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ “การดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ระหว่าง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ยังเข้าไม่ถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.)เป็นประธาน

         นายอนุทิน กล่าวว่า หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือการดูแลประชาชนให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครอบคลุมและทั่วถึง มีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตเป็นกลไกหลักดำเนินงานตลอดระยะเวลา 18 ปี ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิกว่า 47.5 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 66.56 ล้านคน ครอบคลุม 99.88 % อย่างไรก็ตาม มีประชากรราว 5.2 แสนคน มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ อาทิ ไม่ได้รับแจ้งเกิด เอกสารบุคคลสูญหาย เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มคนไร้บ้าน กลุ่มคนไร้สิทธิ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานของทุกหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่และภารกิจอย่างเป็นระบบ บูรณการงานร่วมกัน รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน นำมาสู่การลงนามบันทึกความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 9 หน่วยงาน

         “แม้รัฐบาลจะมีนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ยังมีคนไทยด้วยกันที่ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเลข 13 หลัก ทำให้เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ความร่วมมือนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเติมเต็มนโยบายรัฐบาล เดินหน้าตามรัฐธรรมนูญด้านสิทธิการเข้าถึงบริการสุขภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมด้านการเข้าถึงบริการสุขภาพให้กับประชาชน” นายอนุทิน กล่าว

       น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานโครงการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงของ 9 หน่วยงานในครั้งนี้ เชื่อว่าจะช่วยให้กลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนเป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สถานะใดๆเลย เพราะไม่มีความรู้ที่จะดำเนินการ ไม่มีค่าเดินทางไปติดต่อหน่วยงานรัฐ หรือไม่มีค่าตรวจดีเอ็นเอที่ต้องใช้ราว 18,000 บาท เช่น คนที่ไม่ได้แจ้งเกิด หรือเคยแจ้งเกิดและมีบัตรประชาชนแต่ขาดการต่ออายุบัตรมานาน ราว 5.2 แสนคนได้รับบัตรประจำตัวที่ระบุรหัสเฉพาะระหว่างการรอพิสูจน์สถานะ อาจจะเป็น รหัสเอ(A)แล้วตามด้วยเลข เหมือนกับกรณีเด็กรหัสจี(G) เพื่อให้สามารถนำบัตรนี้ไปใช้ยื่น เพื่อเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต่างๆได้

         ทั้งนี้ อยากวิงวอนให้รัฐมีการพิจารณาตั้งกองทุนพิเศษดูแลค่ารักษาพยาบาลคนไทยกลุ่มนี้ระหว่างที่ยังอยู่ระหว่างการพิสูจน์สถานะ ใช้งบประมาณตั้งตอนราว 120 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินจากข้อมูลยอดค่ารักษาพยาบาลที่รพ.ไม่สามารถเรียกเก็บจากใครได้แต่ละปีใน 56 จังหวัด ลักษณะคล้ายกับกองทุนคืนสิทธิ์ 500 ล้านบาทที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)บริหารจัดการในการช่วยดูแลค่ารักษาพยาบาลให้กลุ่มคนไร้รากเหง้า เด็กจี และคนจีนโพ้นทะเลได้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ซึ่งกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนไม่ได้อยู่ในการใช้สิทธิของกองทุน 500 ล้านบาท

         “กองทุนพิเศษ 100 ล้านบาทเพื่อช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลคนไทยกลุ่มนี้ระหว่างรอการพิสูจน์สถานะนั้น รัฐไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นกองทุนที่จะโตขึ้นและเพิ่มภาระงบประมาณให้กับรัฐ เพราะกองทุนนี้จะค่อยๆเล็กลง เมื่อคนไทยเหล่านี้ได้รับสิทธิสถานะแล้ว เพราะเมื่อมีบัตรประชาชนและเลข 13 หลักก็จะสามารถเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทองได้ตามสิทธิคนไทยทั่วไปแล้ว”น.ส.วรรณากล่าว

       ด้านนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการทำงานของคณะทำงานบูรณาการพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทาง ทะเบียน นำมาสู่ความร่วมมือที่จะส่งผลให้เกิดการประสานงานเพื่อดูแลคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนอย่างเป็นระบบ ทั้งสำรวจและค้นหาผู้ที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน สำรวจข้อมูลและต้นทุนการรับบริการสุขภาพ บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประสานงานด้านทะเบียน และการเข้าถึงบริการสุขภาพระหว่างรอพิสูจน์สถานะ เป็นต้น โดยสปสช.จะจัดทำระบบข้อมูลสารสนเทศ การลงทะเบียนสิทธิ และการพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน 

        “กระบวนการที่จะทำให้คนไทยที่ยังมีปัญหาสถานะทางทะเบียนได้เข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือ จะต้องให้มีเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพราะเมื่อมีบัตรประชาชนแล้วก็จะสามารถเข้าถึงสิทธิได้ตามกฎหมาย ซึ่งทั้ง 9 หน่วยงานจะทำงานร่วมกัน เพื่อพิสูจน์และช่วยเหลือประชาชนกลุ่มนี้ ส่วนที่เครือข่ายเสนอให้มีการตั้งกองทุนพิเศษขึ้นมาดูแลค่ารักษาพยาบาลการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างที่การดำเนินและรอการพิสูจน์ของแต่ละบุคคลยังไม่แล้วเสร็จนั้น อยู่ระหว่างการหารือว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง แต่หากตั้งเป็นกองทุนพิเศษนั้น อาจต้องทำเป็นข้อเสนอและออกกฎหมายมารองรับ เนื่องจากพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545ไม่สามารถจัดสรรงบมาดำเนินการได้”นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว