เปิดปม! สหรัฐเล็งแบน 'TikTok' ลามถึงแอพโซเชียลจีน

เปิดปม! สหรัฐเล็งแบน 'TikTok' ลามถึงแอพโซเชียลจีน

ในช่วงที่สหรัฐกับจีนกำลังขัดแย้งกันหนักข้อขึ้น รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเผยว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังพิจารณาห้ามใช้ "TikTok" (ติ๊กต๊อก) และแอพพลิเคชั่นโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของจีน แต่อะไรคือชนวนเหตุที่แท้จริงของเรื่องนี้กันแน่

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยกับสถานีโทรทัศน์ฟอกซ์นิวส์ เมื่อวันจันทร์ (6 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น ตอบข้อถามที่ว่า สหรัฐควรหาทางห้ามใช้ TikTok และแอพโซเชียลมีเดียจีนอื่นๆ หรือไม่ 

“เรากำลังทำเรื่องนี้จริงจังมาก กำลังหาทางจัดการบางอย่างอยู่ เราจัดการปัญหานี้มาระยะหนึ่งแล้ว” ปอมเปโอกล่าวเรื่องที่สหรัฐผลักดันไปทั่วโลกว่า หัวเว่ย อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ซึ่งหลายประเทศก็รับฟัง รวมทั้งการที่สหรัฐประกาศว่า บริษัทแซดทีอีเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ

“ด้วยความเคารพสิทธิของประชาชนที่มีแอพจีนบนมือถือ สหรัฐจะทำเรื่องนี้อย่างถูกต้องด้วย”

159418059944
- ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ -

รัฐบาลวอชิงตันรณรงค์ต่อต้านบริษัทเทคโนโลยีจีนมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะหัวเว่ยที่ตกเป็นเป้าอย่างหนัก สหรัฐอ้างว่า รัฐบาลปักกิ่งอาจใช้อุปกรณ์ของหัวเว่ยเป็นเครื่องมือสอดแนมล้วงข้อมูลผู้ใช้ ซึ่งหัวเว่ยปฏิเสธข้อกล่าวหามาโดยตลอด

แต่ TikTok ของบริษัทไบต์แดนซ์ที่มีฐานปฏิบัติการในปักกิ่ง เพิ่งถูกจับตาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลวอชิงตันกังวลที่แพลตฟอร์มนี้เซ็นเซอร์เนื้อหาและปักกิ่งอาจเข้าถึงข้อมูลได้ TikTok จึงพยายามแยกตัวเองออกจากบริษัทแม่

ก่อนหน้านี้ บริษัทได้จ้าง เควิน เมเยอร์ อดีตผู้บริหารดิสนีย์ มาเป็นประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) การทำงานของเขาถูกมองว่า TikTok ให้ความสำคัญกับการรื้อฟื้นความไว้เนื้อเชื่อใจจากคณะกรรมการกำกับดูแลสหรัฐเป็นอย่างแรก แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ไว้ใจ TikTok อยู่ดี

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: เปิดบทบาท 'เควิน เมเยอร์' จากผู้บริหาร 'Disney' สู่ซีอีโอ 'TikTok'

เมื่อฟอกซ์นิวส์ถามปอมเปโอว่า ชาวอเมริกันควรดาวน์โหลดแอพ TikTok มาใช้หรือไม่

“จะทำได้ก็ต่อเมื่อคุณอยากให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณหลุดไปอยู่ในมือพรรคคอมมิวนิสต์จีนเท่านั้น” รมต.ต่างประเทศสหรัฐตอบ

ก่อนหน้านี้ TikTok แจ้งว่า ข้อมูลผู้ใช้สหรัฐถูกเก็บไว้ในประเทศ และสำรองไว้ที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ศูนย์ข้อมูลของบริษัทยังตั้งอยู่นอกประเทศจีน ไม่มีข้อมูลใดต้องปฏิบัติตามกฎหมายจีนเลย

ช่วงนี้ TikTok ถูกตรวจสอบหนักจากทั่วโลก ไม่กี่วันก่อน อินเดียเพิ่งบล็อก TikTok และอีก 58 แอพ  เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับจีนตึงเครียดขึ้นทุกขณะ ชนวนเหตุจากข้อพิพาทพรมแดนหิมาลัย ถึงขนาดปะทะกันจนทหารอินเดียเสียชีวิต 20 นาย

วันเดียวกับที่รมต.ต่างประเทศสหรัฐแถลง TikTok ประกาศว่า มีแผนถอนตัวออกจากตลาดฮ่องกง ท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับอื้อฉาว ที่ปักกิ่งประกาศใช้เมื่อสัปดาห์ก่อน

ผู้ไม่เห็นด้วยกล่าวว่า กฎหมายนี้บั่นทอนความเป็นอิสระที่ฮ่องกงมีค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจีน ด้านนักวิจารณ์กังวลด้วยว่า กฎหมายให้อำนาจรัฐบาลกลางในปักกิ่งจัดการคนเห็นต่างในฮ่องกงได้

159418144910

โฆษก TikTok เผยกับเอ็นบีซีนิวส์ว่า บริษัทตัดสินใจระงับการปฏิบัติการในฮ่องกง ถ้อยแถลงนี้ชี้ให้เห็นว่า TikTok ตั้งใจจับตลาดต่างประเทศ เพราะในตลาดจีนไบต์แดนซ์มีแอพอีก 1 ตัว ชื่อว่า โต่วอิน

บริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ก็ส่งเสียงกังวลเรื่องกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ในฮ่องกง บริษัทใหญ่จำนวนหนึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทสหรัฐ กล่าวว่า หยุดให้กับความร่วมมือและงดรับคำขอข้อมูลผู้ใช้จากทางการฮ่องกง

โฆษกกูเกิล (Google) กล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า นับตั้งแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ค. บริษัทก็หยุดให้ความร่วมมือกับทางการฮ่องกง และหยุดให้ข้อมูลผู้ใช้ พร้อมเดินหน้าทบทวนรายละเอียดของกฎหมายนี้ต่อไป

เฟซบุ๊ค (Facebook) ก็ทำแบบเดียวกัน ยืนยันบริษัทเชื่อว่า “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน” และบริษัทจะ “สนับสนุนสิทธิของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นของตน โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะไม่ปลอดภัยหรือโดนตอบโต้ต่างๆ นานา”

โฆษกเฟซบุ๊คเผยว่า หยุดพิจารณาคำขอข้อมูลผู้ใช้จากทางการฮ่องกงระหว่างประเมินกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพิ่มเติม รวมทั้งประเมินสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นทางการ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ

สื่อจำนวนมากรายงานว่า ทวิตเตอร์ และแอพส่งข้อความ “เทเลแกรม” ก็เคลื่อนไหวแบบเดีวกัน บริษัททั้งหมดที่ว่ามาถูกบล็อกเข้าไม่ได้ในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ได้รับความนิยมมากในตลาดฮ่องกง

ข้อน่าสังเกตคือโดยปกติแล้วบริษัทเทคโนโลยีให้ความร่วมมือเสมอ เมื่อหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายขอข้อมูล เพื่อให้ทางการสบายใจว่าบริษัททำตามกฎหมายแล้วเมื่อได้รับการร้องขอ แต่คราวนี้บริษัทใหญ่เริ่มปฏิเสธ