ผลสำรวจเศรษฐกิจ ‘5 ชาติอาเซียน-อินเดีย’ ติดลบหนัก

ผลสำรวจเศรษฐกิจ ‘5 ชาติอาเซียน-อินเดีย’ ติดลบหนัก

นักวิเคราะห์คาด 5 ประเทศใหญ่อาเซียน และอินเดีย เศรษฐกิจดิ่งหนัก GDP ปี 2563 ติดลบ การว่างงานพุ่ง

เว็บไซต์นิกเคอิรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่น (เจซีอีอาร์) และหนังสือพิมพ์นิกเคอิ สำรวจความคิดเห็นรายไตรมาส ได้คำตอบจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 38 คน จาก 5 ประเทศใหญ่อาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และอินเดีย พบว่า ระหว่างเดือน เม.ย.-มิ.ย. เศรษฐกิจทั้งหกประเทศดิ่งหนัก คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประจำปี 2563 ติดลบทุกประเทศ การว่างงานเพิ่มขึ้น ผู้ให้ข้อมูลคาดว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง แต่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ควบคุมการระบาดได้อย่างเหมาะสม 

ในการเผชิญกับโควิด-19 อาเซียนทั้ง 5 ประเทศและอินเดียต่างออกมาตรการในเดือน มี.ค. ควบคุมการเดินทางของประชาชนและการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจหวังสกัดการแพร่ระบาด ฟิลิปปินส์สั่งล็อกดาวน์กรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. อินเดียล็อกดาวน์ทั้งประเทศเมื่อวันที่ 25 มี.ค. มาตรการเหล่านี้ดำเนินไปจนถึงเดือน พ.ค.และมิ.ย. จึงค่อยๆ ผ่อนคลาย

ขณะนี้อัตราการติดเชื้อในมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ชะลอลงแล้ว แต่อินเดียยังเพิ่มขึ้น สิ้นเดือน มิ.ย. จำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วอยู่ที่กว่า 500,000 คน พร้อมกันนั้นยังมีความกังวลเรื่องการติดเชื้อระลอก 2 ในภูมิภาค

การล็อกดาวน์และมาตรการอื่นๆ ทำให้กิจกรรมของภาคธุรกิจต้องชะงักลง คาดว่าไตรมาส 2 เศรษฐกิจ 5 ประเทศอาเซียนขยายตัว -7.8%  เศรษฐกิจมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ลดลงกว่า 10%

วินเซนต์ ลู เยียง ฮอง จากเคเอเอฟรีเสิร์ชในมาเลเซีย อธิบายว่า การหดตัวลงอย่างรุนแรงในไตรมาส 2 สะท้อนถึงผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ 3 เดือน ตั้งแต่ 18 มี.ค.-9 มิ.ย.

159418391851

ขณะที่ พนัญดร อรุณีนิรมาน จากธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การล็อกดาวน์กระทบต่อการท่องเที่ยวและส่งออกทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหายหนัก

เหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดว่า จีดีพี ปี 2563 รวมทั้งในไตรมาส 3 และ 4 ของ 5 ประเทศอาเซียนจะติดลบ การฟื้นตัวจะมีขึ้นในไตรมาส 2 แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ลลิตา เธียรประสิทธิ์ จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ถ้าไทยควบคุมการระบาดได้ภายในไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยก็จะพ้นจุดต่ำสุดในไตรมาสนี้

พอลลีน เรวิลลัส จากเมโทรแบงก์กล่าวเสริมว่า เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564 ถ้าสกัดการแพร่ระบาดได้ผลภายในปีนี้

ด้านมานุ ภัสการัน จากบริษัทที่ปรึกษา “เซนเทนเนียลเอเชีย” ในสิงคโปร์กล่าวว่า ถ้าสกัดการติดเชื้อระลอก 2 ได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวจากไตรมาส 3 ปีนี้แล้วแข็งแกร่งขึ้นในไตรมาส 4

นอกเหนือจากโควิด-19 แล้ว นักเศรษฐศาสตร์ยังจับตาความสัมพันธ์ "สหรัฐ-จีน" ว่า เป็นปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่ง

“ความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นมาอีกรอบ เพราะจีนควบคุมฮ่องกงหนักข้อขึ้นอาจส่งผลต่อตลาดเงินและการค้าโลก” วัน สุไฮมี จากเคอนันกาอินเวสท์เมนท์แบงก์ในมาเลเซียกล่าว

ส่วนเศรษฐกิจอินเดียนั้นคาดว่าหดตัวถึง 20.6% ในไตรมาส 2 ผลพวงจากโควิด-19 และมาตรการล็อกดาวน์อันเข้มงวดรวมถึงมาตรการอื่นๆ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายหยุดชะงัก

ทั้งนี้ อินเดียสั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 25 มี.ค. แรงงานย้ายถิ่นหลายล้านคนต้องออกจากเมืองใหญ่กลับไปยังหมู่บ้านในชนบท ตกงานกันหลายล้านคนด้วย

วันที่ 12 พ.ค. รัฐบาลอินเดียประกาศชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 20 ล้านล้านรูปี คิดเป็นราว 10% ของจีดีพี และตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. รัฐบาลเริ่มผ่อนคลายล็อกดาวน์ทีละขั้น กระนั้นการติดเชื้อยังมีอยู่ต่อเนื่อง

เมื่อประเมินสถานการณ์ข้างหน้า ปุณิต ศรีวสัตว์ จากไดวะแคปิตอลมาร์เก็ตสอินเดีย มองว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจยังคงมีสูง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้น เพราะอินเดียมีประชากรจำนวนมาก การรักษาระยะห่างทำได้ยาก อีกทั้งการตรวจหาเชื้อก็ต่ำ

ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะกลางและระยะยาวหลังโควิด นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองว่า ภาคธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนจะเปลี่ยนมาเป็นดิจิทัลอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด และเดินหน้าต่อไป บางคนเตือนให้ระวังการโจมตีทางไซเบอร์ที่อาจเพิ่มมากขึ้น เพราะการทำกิจกรรมออนไลน์มากขึ้น เช่น ทำงานจากที่บ้านยิ่งเพิ่มโอกาสการโจมตีให้กับเหล่าแฮกเกอร์

การรวมกิจการจะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะกิจการแบบเดิมๆ ที่ไม่สามารถแข่งขันได้ ธุรกิจใหญ่ยิ่งมีบทบาทเด่น ขณะที่เอสเอ็มอีต้องเอาตัวรอดเนื่องจากความต้องการซบเซา แถมรัฐบาลยังไม่สนับสนุน

 ความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจโลกอาจมีหลากหลาย ความเสี่ยงเรื่องการไร้เสถียรภาพทางการเงินยังมีสูง โลกมีแนวโน้มลดความเป็นโลกาภิวัตน์ ไม่อยากนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น หันมาใช้สินค้าผลิตเองภายในประเทศเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้ผลิตภายใน