4 บทเรียน จากโควิด-19

4 บทเรียน จากโควิด-19

เปิด 4 บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 ที่ฝากข้อคิดไว้ให้กับนักลงทุน ที่จะทำให้การจัดสรรพอร์ตการลงทุนกลับมามีความสำคัญและลดความเสี่ยงอีกครั้ง

ในทุกวิกฤติล้วนทำให้เราแข็งแกร่งและเติบโตขึ้นจากบทเรียนสำคัญต่างๆ ที่ได้ฝากเอาไว้หลังจากที่วิกฤตินั้นได้ผ่านไป ทั้งนี้วิกฤติที่เกิดขึ้นได้ทำให้การจัดสรรพอร์ตการลงทุนกลับมามีความสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงอีกครั้ง

วิกฤติในครั้งนี้ได้ฝากบทเรียนที่สำคัญไว้ถึง 4 ข้อให้แก่นักลงทุน

หลังจากเกิดตลาดกระทิงที่ยาวนานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2008 ตลาดหุ้นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้มาเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2020 อย่างไม่ทันตั้งตัว จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้บริษัท นักลงทุน รวมถึงประชาชนทั่วไป ต้องปรับตัวเพื่อที่จะอยู่รอดและข้ามผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปให้ได้

ในปัจจุบันสถานการณ์ต่างๆ ฟื้นตัวดีขึ้นจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เริ่มชะลอตัวลง เศรษฐกิจทั่วโลกก็ได้เริ่มกลับมาฟื้นตัว พร้อมทั้งราคาของตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาสูงพอสมควร นับจากจุดต่ำสุด ซึ่งทำให้ถึงเวลาที่เราจะต้องมาพิจารณาบทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทั้งนี้เราได้สรุปบทเรียนที่สำคัญๆ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ ดังนี้

1.การวางแผนทางการเงินนั้นสำคัญยิ่ง วิกฤติที่เกิดขึ้นในรอบนี้ทำให้หลายคนอาจคิดถึงประโยคหนึ่งที่ว่า “ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน” ซึ่งถ้าย้อนกลับไปได้จะมีใครคิดว่าหลายประเทศทั่วโลกจะมีการปิดเมืองเป็นเวลาถึง 2-3 เดือน จนทำให้หลายธุรกิจต้องหยุดชะงัก รวมถึงประชาชนจำนวนมากต่างก็ตกงานหรือมีรายได้ที่ลดน้อยลง SMEs แม่ค้าพ่อค้าไม่สามารถสร้างรายได้

ดังนั้นเงินสำรองฉุกเฉินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ปกติจะแนะนำให้มีเงินสำรองฉุกเฉินไว้เป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 3-6 เดือน เพื่อที่จะได้รองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของชีวิต รวมถึงเครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงอย่างประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน หรือแม้กระทั่งประกันสุขภาพเพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉิน ที่จะทำให้เงินเก็บที่สะสมมานั้นต้องหายไปกับค่ารักษาโรคหรืออุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น จนส่งผลให้จำนวนเงินที่เก็บออมมาอย่างยาวนานได้ลดลงไป และอาจจะต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นเพื่อความไม่ประมาท เราจึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนทางการเงิน เป็นอย่างยิ่ง

2.ควรจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของแต่ละบุคคล จากภาวะตลาดกระทิงกว่า 10 ปี ทำให้นักลงทุนหลายท่านที่เพิ่งเข้ามานั้นแทบจะยังไม่เคยเห็นการตกลงของราคาในระดับที่รุนแรงและรวดเร็วแบบนี้มาก่อน จนลืมความเสี่ยงที่แท้จริงของสินทรัพย์ต่างๆ ที่ตัวเองลงทุน โดยเฉพาะในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตราสารทุน หรือหุ้น

โดยการลงในครั้งนี้นั้น ดัชนีได้ลงไปแตะจุดต่ำสุดในรอบกว่า 5-10 ปี ซึ่งหมายความว่านักลงทุนที่ลงทุนมา 5-10 ปีนั้น แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนหรือขาดทุนจนอาจทำให้นักลงทุนเกิดการตระหนกตกใจ หรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินและขายหุ้นที่ถือมาในช่วงที่ตลาดปรับตัวลง

ดังนั้นการลงทุนที่ดีจะต้องรู้ขีดจำกัดในการรับความเสี่ยงการลงทุนของตัวเอง เพื่อจะได้จัดสรรพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งระดับความเสี่ยงที่รับได้นั้นสามารถประเมินได้จากแบบประเมินความเสี่ยงที่ได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. หรือสามารถประเมินด้วยตัวเองได้จากระดับการขาดทุนสูงสุดที่ยอมรับได้ เช่น หากยอมรับการขาดทุนได้มาก อาจจะมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่สูง หรือหากรับการขาดทุนได้น้อย อาจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสำรหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีในสัดส่วนที่มากขึ้น เพื่อรักษาเงินต้น ทั้งนี้นักลงทุนก็ควรจะปรับพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อที่จะได้ลงทุนได้อย่างสบายใจ

3.ทุกวิกฤตินั้นย่อมมีโอกาส ท่ามกลางการปรับตัวลงที่รุนแรงของตลาดหุ้นทั่วโลก ก็ยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างจำกัด หรือแทบไม่ได้รับผลกระทบเลย ซึ่งสังเกตได้หลังจากที่เหตุการณ์ได้มีการเริ่มผ่อนคลายลง หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้นแทบจะไม่ได้ผลกระทบหรืออาจจะได้ผลประโยชน์บ้างด้วยซ้ำ ทำให้ดัชนีหุ้นอย่าง NASDAQ นั้นกลับมาเป็นบวกเป็นที่เรียบร้อย YTD 9.42% รวมถึงดัชนีในกลุ่ม IT ก็ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมา 5.78% หรือกลุ่ม Health Care ก็ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีเช่นกัน โดยที่กลุ่ม Health Care ได้มีการปรับตัวสูงขึ้น 1.96%

ซึ่งตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างเช่น กลุ่มการท่องเที่ยวที่มีการปรับตัวลดลงของราคาถึง 21.81% หรือกลุ่มพลังงานที่มีการปรับตัวลดลงของราคากว่า 36.32% ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ กลุ่มการเงินก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้ราคาของกลุ่มการเงินมีการปรับตัวลดลงถึง 26.11% เช่นกัน ดังนั้นหากติดตามข้อมูลข่าวสาร ก็อาจจะเป็นโอกาสในการปรับพอร์ตการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.สุดท้ายการกระจายการลงทุนนั้นช่วยได้เสมอ สุดท้ายนี้การกระจายความเสี่ยง โดยการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่สามารถใช้เพื่อลดความเสี่ยงลงได้ หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ขึ้นอีกครั้ง รวมถึงการปรับสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามระดับความเสี่ยงที่รับได้ (Rebalancing) ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนลง เพื่อทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับนักลงทุนและสถานการณ์

เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป ราคาของสินทรัพย์ที่เราลงทุนอาจจะมีการปรับตัวขึ้นหรือปรับตัวลง ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับนักลงทุนก็ควรจะมีการปรับสัดส่วนของพอร์ตการลงทุนอยู่ตลอด เช่น ปรับทุกๆ 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี

กลยุทธ์การลงทุน : เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงของตัวเอง รวมถึงจัดพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส หากเราสามารถที่จะปรับตัวและปรับพอร์ตการลงทุนในอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม การจัดสรรพอร์ตการลงทุนของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนจะรับได้ หากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้สูง อาจเลือกลงทุนในกองทุนหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เช่น PRINCIPAL GBRAND/ ONE-UGG หรือหากนักลงทุนสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำถึงปานกลาง ก็ควรลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย หรือกองทุน ตราสารหนี้ที่มีความผันผวนต่ำ เช่น PRINCIPAL DPLUS/ PRINCIPAL iFIXED หรือจะลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงผ่านกองทุนผสม เช่น Phatra SG-AA/ KFAINCOM