ชักธงรบ! ตัดงบฯกองทัพ.. 'พรรคก้าวไกล-ธนาธร' เอาคืน?

ชักธงรบ! ตัดงบฯกองทัพ.. 'พรรคก้าวไกล-ธนาธร' เอาคืน?

จับประเด็นร้อน ชักธงรบ! ตัดงบฯกองทัพ.. "พรรคก้าวไกล-ธนาธร" เอาคืนแค้นต้องชำระ?

พรรคก้าวไกล เป็นอีกพรรคการเมืองหนึ่งที่สับขาหลอกได้อย่างแนบเนียน ภายหลังปรากฏชื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรอนาคตใหม่ เข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ในนามของพรรคก้าวไกล

ในแง่ของข้อกฎหมาย การนั่งในตำแหน่งดังกล่าวของ ‘ธนาธร’ ไม่ได้มีปัญหา เนื่องจากบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส.สามารถดำรงตำแหน่งกรรมาธิการวิสามัญได้ แม้ธนาธรจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลาถึง 10 ปีก็ตาม โดยจุดที่น่าสนใจครั้งนี้ อยู่ที่นัยทางการเมืองของการกลับเข้ามาสภาอีกครั้ง ของอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ต่างหาก

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘ธนาธร’ เคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายงบประมาณประจำปี พ.ศ.2563 มาแล้วครั้งหนึ่ง หลังจากต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ด้วยเหตุถือหุ้นบริษัท วีลักซ์ มีเดีย 

เวลานั้น ‘ธนาธร’ แสดงบทบาทนำ ในการไล่ตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ทว่าได้ขอลาออกก่อนที่กฎหมายงบประมาณจะเข้าสู่สภา เพื่อพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 พร้อมกับการประกาศว่า “เมื่อเขาไม่ต้องการให้ผมอยู่ในสภา ผมขอกลับไปอยู่กับประชาชน”

หลังจากธนาธรประกาศหันหลังให้กับสภา ปรากฏว่าได้เบนเข็มเข้าสู่การเมืองภาคประชาชน และพามวลชนอุ่นเครื่องลงถนนมาแล้วครั้งหนึ่ง บริเวณลานสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน และพยายามนัดมวลชนอีกครั้ง แต่ทุกอย่างต้องสะดุดลงด้วยโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ‘ธนาธร’ ได้ปลุกปั้น ‘คณะก้าวหน้า ขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่างสำหรับการทำกิจกรรมกับภาคประชาสังคม

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ที่เป็นจุดสู่การกำเนิดของ พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า’ จะเห็นได้ว่า ทั้งสองกลุ่มการเมือง พยายามทำการเมืองแยกขาดจากกันชัดเจนในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สถานที่ ซึ่งเดิมพรรคก้าวไกลมีความคิดจะใช้อาคารไทยซัมมิทเป็นที่ทำการพรรค แต่ต้องล้มเลิกไป จึงย้ายมาใช้ศูนย์ประสานงาน ส.ส.ฝั่งธนบุรี เป็นที่ทำการพรรคแทน 

หรือ การแสดงความคิดเห็นของทั้งแกนนำพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า ที่พยายามสื่อให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีความตั้งใจเพื่อสานต่ออุดมการณ์พรรคอนาคตใหม่ร่วมกัน แต่ทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้าต่างมีอิสระต่อกัน

การวางตัวที่ผ่านมาของทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า พยายามป้องกันการถูกกล่าวหาว่า พรรคก้าวไกลปล่อยให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคครอบงำ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งมีผลให้เกิดการยุบพรรคได้ เนื่องจากพรรคก้าวไกลทราบดีว่า ตัวเองตกเป็นเป้าทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ทำให้ในระยะที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจึงวางบทบาทของตัวเอง ที่เน้นการทำงานในสภาเป็นหลักเท่านั้น ปล่อยให้การเมืองนอกสภาเป็นเรื่องของคณะก้าวหน้าแทน

แต่มาระยะนี้ หากใครติดตามการดำเนินกิจกรรมของ ‘ก้าวไกล-ก้าวหน้า’ จะเริ่มเห็นว่า มีการเปิดตัวทำกิจกรรมร่วมกันอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะการเปิดตัวกิจกรรม “Common School” สถาบันศึกษาอบรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมของคณะก้าวหน้า ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ‘ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกลฝ่ายนโยบาย เข้าร่วมเวทีด้วย

หรือการลงพื้นที่ทำกิจกรรมพบประชาชนร่วมกันของ ‘ธนาธร’ และ เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เพื่อตรวจสอบผลกระทบของประชาชนที่ได้รับจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

ทั้งสองกิจกรรม เริ่มแสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ทั้งคู่เริ่มขยับเข้ามาทำงานใกล้กันมากขึ้น จากเดิมที่พยายามแยกเดินห่างกันเพื่อป้องกันพวก ‘นักร้อง’ และยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นน้ำเดียวกัน ด้วยกันส่ง ‘ธนาธร’ เข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายประมาณในสัดส่วนของพรรคก้าวไกล

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘ธนาธร’ ถูกเสนอชื่อขึ้นมาเพื่อเข้ามาไล่ตรวจสอบงบประมาณกระทรวงกลาโหมอีกครั้ง 

ด้านหนึ่งอาจจะมองว่า เป็นการเอาคืน เพราะการเป็นกรรมาธิการงบประมาณ สามารถเรียกเอกสารจากหน่วยงานที่ขอรับงบประมาณมาตรวจสอบได้ แต่อีกด้านหนึ่งย่อมมองได้เช่นกันว่า เป็นการเข้ามาสะสางงานเก่าให้จบ 

เนื่องจากครั้งก่อน ‘ธนาธร’ พยายามตรวจสอบการทำกิจกรรมเชิงพาณิชย์ของกองทัพ ทั้ง สนามม้า และสนามมวย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนมากนัก ทำให้การมาในครั้งนี้ เพื่อต้องการกดดันให้กองทัพเปิดเผยข้อมูลอีกครั้ง

ดังนั้น หากจะเรียกว่ากองทัพตกที่นั่งลำบากก็คงไม่ผิดนัก เนื่องจากตลอดการอภิปรายร่างกฎหมายงบประมาณวาระที่ 1 ที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยงานที่ถูกพาดพิงมากที่สุด ภายหลังพบการใช้งบประมาณเพื่อซื้ออาวุธอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อธนาธรเข้ามารื้องบประมาณของกองทัพอีกครั้ง หากกองทัพยังวางตัวแบบทองไม่รู้ร้อนเหมือนที่ผ่านมา ยิ่งจะสร้างกระแสในแง่ลบมากขึ้น

เหนืออื่นใด การปรากฏตัวของ ‘ธนาธร’ ในสภา ย่อมเป็นโอกาสที่จะช่วงชิงพื้นที่สื่อให้กับคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกลได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย เพื่อประโยชน์ต่อการก้าวเข้าสู่สนามเลือกตั้งท้องถิ่นของคณะก้าวหน้า

ด้วยเหตุนี้เอง การเลิกเหนียมของทั้งพรรคก้าวไกล และคณะก้าวหน้า จึงมีแต่ได้กับได้ เพราะการจะหาช่องยุบพรรคด้วยเหตุผลการทำงานร่วมกันนั้น ดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่เบาพอสมควร

ดังนั้น เหลือแต่เพียงว่าจะสามารถเก็บเกี่ยวแต้มทางการเมืองจากความผิดพลาดที่ผ่านมาของรัฐบาลและกองทัพได้มากหรือน้อยแค่ไหนเท่านั้น