นักลงทุนเมิน ‘หุ้นแบงก์’ ห่วง ‘หนี้เสีย’ ปีหน้าแตะ 5%

นักลงทุนเมิน ‘หุ้นแบงก์’  ห่วง ‘หนี้เสีย’ ปีหน้าแตะ 5%

ณ ปัจจุบันที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยเริ่มฟื้นตัวกลับมา และลดช่วงติดลบมาเหลือราว 13% จากปีก่อน เมื่อมองลึกลงไป จะเห็นว่าหุ้นในหมวดธนาคารพาณิชย์ (BANK) คือกลุ่มที่ติดลบมากที่สุดราว 34% ซึ่งการติดลบนี้สอดคล้องกับผลสำรวจมุมมองนักลงทุนในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงรายละเอียดของการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนว่า นักลงทุนเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการลงทุน แต่โดยรวมยังมองเป็นกลางเท่านั้น และหากพิจารณาเป็นรายกลุ่ม นักลงทุนรายบุคคลยังมองในเชิงลบ ขณะที่กลุ่มบัญชีหลักทรัพย์ จากเดิมที่มองแย่ กลับมามองทรงตัว เช่นเดียวกับนักลงทุนสถาบันที่มองทรงตัว ส่วนนักลงทุนต่างชาติกลับมามองเป็นบวก

“ค่อนข้างจะน่าสนใจว่ามุมมองของนักลงทุนแต่ละกลุ่มปัจจุบันไม่สอดคล้องกัน ไม่เหมือน 1-2 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งวิเคราะห์ได้ง่ายกว่า เพราะดัชนีปรับตัวลดลงมาเยอะ ทำให้ทุกคนค่อนข้างจะมีภาพเดียวกัน คือ ดัชนีน่าจะฟื้นตัวได้ในระยะสั้น แต่พอดัชนีแตะ 1,300 – 1,400 จุด ทำให้มีแรงเทขายออกมาบ้าง จนทุกคนมีภาพที่แตกต่างกันไป ส่วนตัวมองว่าดัชนีคงไม่สามารถเคลื่อนไหวในกรอบสูงๆ ได้ จนกว่าจะมีภาพที่ชัดเจนกว่านี้”

ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มแบงก์เป็นหมวดที่นักลงทุนลงความเห็นว่าไม่น่าสนใจมากที่สุด แม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงมาโดยเฉลี่ยกว่า 40% สวนทางกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่นักลงทุนสนใจมากที่สุด

เจฟ สุธีโสภณ ผู้จัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง มองว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ NPL มีแนวโน้มสูงขึ้นและดอกเบี้ยยังอยู่ในแนวโน้มขาลง กดดันกำไรของแบงก์ต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่แบงก์ทำได้ดีกว่าคาดคือการปล่อยสินเชื่อ (Loan Growth) ในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4% เทียบกับปีก่อนที่กว่า 2% เป็นผลจากการที่ธุรกิจต้องการสภาพคล่องมากขึ้น

“โดยปกติแล้วคุณภาพสินทรัพย์จะแย่ลงในภาวะเช่นนี้ แต่การที่ธปท.ให้พักชำระหนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากเราไม่มีโปรแกรมพักชำระหนี้ NPL ที่ไหลเข้าสู่ระบบในไตรมาส 2 จะใหญ่มาก ซึ่งระบบของแบงก์อาจจะรับไม่ได้ และจากตัวเลขพักชำระหนี้ล่าสุด อยู่ที่ 6.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 37% ของหนี้ในระบบ หากคาดการณ์ว่า 40% จะต้องปรับโครงสร้างหนี้หลังจากนี้ เท่ากับว่า NPL ในระบบน่าจะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 4.5% และจะแตะ 5% ในปีหน้า อย่างไรก็ตาม โอกาสในการเพิ่มทุนของกลุ่มแบงก์ค่อนข้างต่ำ แม้ตัวเลข NPL สูงขึ้น เนื่องจากเงินสำรองยังค่อนข้างสูง”

159412902034

ทั้งนี้ ความน่ากลัวของมาตรการพักชำระหนี้ คือ แบงก์ไม่ได้รับกระแสเงินสดเข้ามาในช่วงนี้ แต่ในทางบัญชีแบงก์ยังรับรู้รายได้ดอกเบี้ยอยู่ หากการพักชำระหนี้จบลง และลูกหนี้บางส่วนไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยคืน แบงก์จะต้องนำตัวเลขรายได้ตรงนี้ออกไปด้วย

ขณะที่กำไรของกลุ่มแบงก์จะลดลงถึง 45% ในปีนี้ จาก 2 แสนล้านบาท เหลือราว 1.2 แสนล้านบาท โดยหลักกดดันจากการตั้งสำรองสูงขึ้นมากถึง 2.5 แสนล้านบาท จากราว 1.6 แสนล้านบาท ขณะที่ ROE ของกลุ่มแบงก์น่าจะลดจากเกือบ 10% มาเหลือราว 5%

อย่างไรก็ตาม ในเชิงมูลค่าหุ้นหลังจากที่ราคาปรับตัวลงต่อเนื่อง ทำให้ความเสี่ยงขาลงเหลือไม่มากนัก และเมื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนกับความเสี่ยงระหว่างบอนด์กับหุ้น จะเห็นว่าหุ้นยังมีความน่าสนใจกว่า แต่อัพไซด์ก็ไม่ได้สูงนักสำหรับกลุ่มแบงก์ เพราะปัจจัยพื้นฐานยังไม่ดีนักในระยะสั้น แต่สำหรับระยะยาว 2-3 ปี มองว่ายังลงทุนได้

ด้าน วรวัฒน์ สายสุพัฒน์ผล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูบีเอส (ประเทศไทย) มองว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังกลุ่มแบงก์ ในแง่ Sentiment น่าจะดีขึ้น จากการเริ่มเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเข้ามาต่อเนื่อง แต่ในเชิงกำไรของกลุ่มแบงก์น่าจะยังไม่ฟื้นเร็ว เพราะการฟื้นตัวยังไม่ได้กลับมาสู่จุดเดิม โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และหนี้เสียยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

“โดยรวมกำไรน่าจะอ่อนแอกว่าครึ่งปีแรก เพราะการตั้งสำรองสูง ความสามารถทำกำไรลดลง เพราะต้องช่วยเหลือลูกหนี้ โดยภาวะเช่นนี้จะต่อเนื่องไปถึงปีหน้า แต่ในแง่การลงทุนผ่านการศึกษาของยูบีเอส ใน 10 – 15 ปีที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารจะเริ่มปรับขึ้นก่อน 3 – 4 ไตรมาส ก่อนที่หนี้เสียจะวิ่งไปถึงจุดสูงสุด แปลว่าหุ้นกลุ่มธนาคารอาจจะปรับขึ้นได้ก่อนที่กำไรจะดีขึ้นก็ได้”