ครม.เศรษฐกิจ ลุยฝ่าวิกฤติ

ครม.เศรษฐกิจ ลุยฝ่าวิกฤติ

เมื่อประเทศเดินทางมาถึงยุคนี้ ครม.เศรษฐกิจ จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จากพิษโควิดที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าไทยเศรษฐกิจจะหดตัวแรงสุดรอบ 150 ปี ดังนั้นรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับ ครม.เศรษฐกิจ มากขึ้น เพื่อฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้

ต้องบอกว่า ครม.ชุดใหญ่ที่ประชุมทุกวันอังคารนั้นถือว่ามีความสำคัญยิ่งในการบริหารประเทศ เพราะต้องหารือผ่านความเห็นชอบในสาระสำคัญๆ โดยเฉพาะบางเรื่องต้องใช้มติความเห็นชอบจากฝ่ายบริหาร คือ คณะรัฐมนตรี เพื่อร่างเป็นกฎหมายบังคับใช้เรื่องต่างๆ ที่จำเป็นในการบริหารประเทศ

แต่เมื่อประเทศเดินทางมาถึงยุคนี้ ครม.เศรษฐกิจ จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น เพราะพิษจากโควิด ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกมีปัญหา ประเทศไทยโครงสร้างที่อิงกับภาคบริการ ท่องเที่ยว และส่งออกเป็นหลักย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง เห็นได้จากการประมาณการเศรษฐกิจขององค์กรชั้นนำที่มองไทยจะทรุดตัวหนักในปีนี้ ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในไทยเพียงแค่ 3 พันคนเท่านั้น แต่ทำไมผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงหนักหนากว่าอีกหลายประเทศ คำตอบคือเรามีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยปรับมาก่อนเลย เมื่อโลกมีปัญหา ผลกระทบจึงรุนแรงกว่าประเทศอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เราทราบดีและมีการพูดกันหลายครั้ง แต่ปฏิบัติยังไม่เกิดขึ้นจริง

โครงสร้างเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ ทั้งๆ ที่ตัวแปร สิ่งแวดล้อมของโลก ตัวแปรเศรษฐกิจได้เปลี่ยนไปอย่างมากแล้ว อย่างที่บุรินทร์ อดุลวัฒนะ ประธานหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารกรุงเทพกล่าวในการสัมมนาจัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่าวิกฤติในปีนี้น่าจะทำให้เศรษฐกิจหดตัวแรงสุดในรอบ 150 ปี สำหรับวิกฤติในอดีตที่ผ่านมา เช่นวิกฤติปี 2540 เศรษฐกิจหดตัวเร็ว แต่ก็ฟื้นตัวขึ้นได้แรง ส่วนในรอบนี้เศรษฐกิจหดตัวเร็ว แต่อาจจะฟื้นตัวได้ช้า เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า และประชาชนในระดับล่างได้รับผลกระทบค่อนข้างจะหนักกว่าที่ผ่านๆ มา 

นอกจากผลกระทบต่อทุกภาคส่วนในประเทศแล้ว จะเห็นว่ายังมีปัจจัยอื่นกดดันอีก เช่น เงินบาทแข็ง กระทบต่อการส่งออก ขณะที่เศรษฐกิจของต่างประเทศก็อ่อนแอไม่ต่างกัน และอุตสาหกรรมหลักของไทยอย่างท่องเที่ยวและยานยนต์ก็หดตัวอย่างมาก ศักยภาพในการเติบโต ทั้งประชาชนในภาคแรงงานที่ลดลง จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

สิ่งแวดล้อมๆ ใหม่ทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงควรประชุมเพื่อวางกรอบทั้งแก้ปัญหาระยะสั้น เยียวยาและจัดการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในอนาคต ซึ่งเราเห็นว่าโครงสร้าง ครม.เศรษฐกิจ มีความจำเป็น โดยเฉพาะยิ่งปัจจุบันในระบบพรรคร่วมรัฐบาล ที่แบ่งโควตารัฐมนตรีตามพรรคร่วม กระทรวงด้านเศรษฐกิจกระจัดกระจายแบ่งกันกำกับดูแล

ซึ่งในภาวะปัจจุบันกระทรวงเศรษฐกิจต้องทำงานเป็นทีม เล่นเพลงบรรเลงแก้ปัญหาแนวเดียวกัน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับ ครม.เศรษฐกิจ น้อยไป ตั้งแต่ตั้งมา น่าจะประชุม 4-5 ครั้ง ก่อนที่จะกลับมาประชุมอีกครั้ง 10 ก.ค.นี้  เราหวังว่าจะเป็นเวทีของฝ่ายบริหารที่จะนำประเทศฝ่าวิกฤติครั้งนี้ผ่านไปได้

ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ใช้หลักการบริหาร มีคณะกรรมการชุดโควิดตัดสินใจ ถกแก้ปัญหา จนทำให้เราติดเชื้ออัตราต่ำ ดังนั้นตัวอย่างความสำเร็จนี้ สามารถมาใช้กับการรับมือวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ได้เช่นกัน แต่ละครั้ง นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ควรเชิญผู้มีความรู้ในบางเรื่องมาให้มุมมองในการจัดการปัญหาได้ อย่างที่ดึงอาจารย์หมอมาร่วมรับมือโควิด