'นโยบาย' ต้องปรับให้เข้ากับ 'ปัญหา'

'นโยบาย' ต้องปรับให้เข้ากับ 'ปัญหา'

ความท้าทายหลังจากนี้ คือการใช้มาตรการการคลังที่ประเทศมี ทั้งเงินกู้สี่แสนล้านบาทและงบประมาณปี 64 ให้ตรงกับการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างสิ่งที่รัฐบาลทำกับปัญหาที่ต้องแก้ไข และเป็นฐานให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้

อาทิตย์ที่แล้วเป็นช่วงการอภิปรายงบประมาณปี 64 ซึ่งก็คือ นโยบายการคลัง ตรงกับวันสิ้นเดือนที่แบงก์ชาติแถลงตัวเลขเศรษฐกิจประจำเดือน จากตัวเลขเดือนพฤษภาคมที่แบงก์ชาติแถลง สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศล่าสุด สรุปได้ดังนี้

1.เดือน พ.ค. เป็นเดือนที่ภาวะเศรษฐกิจแย่สุด ตัวเลขทุกตัวในทุกสาขาเศรษฐกิจติดลบ ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้จ่ายหรือด้านการผลิต การบริโภคหดตัว 12.5% การลงทุนเอกชนหดตัว 12.5% การส่งออกติดลบ 23.6% การท่องเที่ยวลบ 100% การผลิตภาคเกษตรลบ 1.3% การผลิตภาคอุตสาหกรรมลบ 23.2% อัตราการใช้กำลังผลิตมีเพียง 52.8% การหดตัวเกิดขึ้นทั้งที่ทางการเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์และเริ่มจ่ายเงินตามมาตรการเยียวยา ทำให้เกิดความหวังลางๆ ว่าการหดตัวของเศรษฐกิจในเดือน พ.ค. อาจเป็นจุดต่ำสุด ซึ่งคงต้องตามดูกันต่อไป

2.ผลกระทบของการหดตัวมีมากสุดในภาคบริการที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว ที่มีการจ้างงานมาก ทำให้ฐานะการเงินของธุรกิจเหล่านี้จำนวนมากมีปัญหา บ้างต้องปิดกิจการและคนตกงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาแน่นอนในแง่นโยบายคือ ความอยู่รอดของธุรกิจ และการว่างงาน

3.การหดตัวของเศรษฐกิจและการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นมีผลอย่างสำคัญต่อสังคม คือความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ในช่วงครึ่งหลังของปี ธนาคารโลกประเมินว่า จำนวนแรงงานที่มีความเสี่ยงต่อการตกงานอาจมีมากถึง 8.3 ล้านคน โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ขณะที่จำนวนผู้ที่ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ วัดจากอำนาจซื้อของรายได้ที่ต่ำกว่า 170 บาทต่อวัน เพิ่มเป็น 9.7 ล้านคนในไตรมาสสอง ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังตามการหดตัวของเศรษฐกิจ

นี่คือสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุด ซึ่งชัดเจนว่าปัญหารุนแรงและสิ่งสำคัญที่นโยบายต้องให้ความสำคัญขณะนี้คือ การว่างงานและการอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจขนาดจิ๋ว ในภาคการท่องเที่ยวและบริการ

เหตุที่ผลกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีและการจ้างงานมีมาก ทั้งที่สถานการณ์การระบาดในประเทศสามารถควบคุมได้ดี ก็เพราะ  1.โควิดนำมาสู่การหยุดชะงักของธุรกิจส่งออกและท่องเที่ยว ซึ่งตัวหลังเป็นหัวใจของธุรกิจบริการ เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ลดเป็นศูนย์ในเดือนเมษายนและพฤษภาคม  2.การปรับลงของราคาสินค้าส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรจากการลดลงของความต้องการในต่างประเทศ กระทบรายได้ของแรงงานในภาคเกษตร 3.ข้อจำกัดด้านการผลิตจากภาวะภัยแล้งและผลของมาตรการล็อคดาวน์ ที่กระทบบริษัทและผู้ใช้แรงงานในธุรกิจบริการมาก

ผลกระทบเหล่านี้เกิดขึ้นบนความอ่อนแอของเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ที่เศรษฐกิจขยายตัวในอัตราต่ำมาตลอดและพึ่งภาคต่างประเทศมาก ขณะที่ธุรกิจบริการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจนอกระบบ (informal sector) มีการจ้างงานมาก แต่มีความเปราะบางในแง่ความสามารถที่จะต้านแรงกระทบจากวิกฤติที่เกิดขึ้น ผลคือธุรกิจขนาดกลางและเล็กในภาคบริการและการจ้างงานถูกกระทบมาก

เมื่อโจทย์เศรษฐกิจชัดเจนอย่างนี้ การทำนโยบายเพื่อแก้เศรษฐกิจก็ต้องมุ่งไปที่ปัญหาที่เศรษฐกิจมี ที่คนจำนวนมากจะตกงาน ธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กและจิ๋วจำนวนมากจะมีปัญหาเรื่องความอยู่รอด พร้อมกับรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจทั้งระบบสามารถเดินต่อได้ และแข่งขันได้ในโลกเศรษฐกิจหลังโควิด นี่คือโจทย์

ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจได้ปรับเข้าสู่โหมดการแก้ปัญหาที่ประเทศมีได้อย่างน่าพอใจ เช่น การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อคดาวน์ การให้สภาพคล่องกับธุรกิจและช่วยภาระชำระหนี้ของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี รวมถึงดูแลเสถียรภาพของตลาดการเงิน

ความท้าทายจากนี้ไป ก็คือ ใช้มาตรการการคลังที่ประเทศมีคือ เงินกู้สี่แสนล้านบาทและงบประมาณปี 64 ให้ตรงกับการแก้ไขปัญหาที่ประเทศมีอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างระหว่างสิ่งที่รัฐบาลทำกับปัญหาที่ต้องแก้ไข เพื่อเป็นฐานให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้

เรื่องนี้สำคัญมากและผมมีข้อคิดสามข้อที่อยากฝากไว้กับการทำนโยบาย

1.นโยบายการคลังจากนี้ไปเป็นความหวังเดียวของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่ถ้ารัฐใช้เงินไม่ตรงจุด เศรษฐกิจก็จะไม่ฟื้น และความเสียหายต่อประเทศก็จะมีมากขึ้นตามมา และจากที่โจทย์เศรษฐกิจคราวนี้ไม่เหมือนก่อน คือเศรษฐกิจมีปัญหาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน จำเป็นที่ผู้ทำนโยบายต้องคิดถึงเครื่องมือใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา โดยเรียนทั้งจากประสบการณ์ในอดีตและประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ 

2.การจัดลำดับก่อนหลัง (Sequencing) ของมาตรการสำคัญมาก คือไม่ควรทำอะไรอย่างเดียวเหมือนๆ กัน เช่น การกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายเงินภาครัฐอย่างเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จ ถ้าภาคการผลิตยังอ่อนแอ ธุรกิจจำนวนมากเจอปัญหาการเงินที่อาจทำให้ล้มละลาย และคนจำนวนมากตกงาน ทำให้ภาคการผลิตจะไม่สามารถตอบสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ การแก้ไขจึงควรเริ่มจากการทำให้ธุรกิจเข้มแข็งขึ้น คนตกงานมีงานทำ ตามด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจ

3.อาจจำเป็นที่ภาครัฐต้องใช้เงินช่วยธุรกิจบางส่วนที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้สามารถเดินต่อได้ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ไม่ควรทำ ในอดีตเราเคยช่วยธุรกิจการเงินเมื่อภาคการเงินเกิดปัญหา ประเด็นจึงอยู่ที่เหตุผลและวิธีการช่วยเหลือ ที่ต้องโปร่งใส อธิบายได้ และเป็นธรรม (fair) ในสายตาของสังคม

นี่คือ ข้อคิดที่อยากฝากไว้