'ผู้ส่งออก' ผวาถูกเบี้ยวหนี้ สรท.แนะเปิด L/C ซื้อประกันความเสี่ยง

'ผู้ส่งออก' ผวาถูกเบี้ยวหนี้ สรท.แนะเปิด L/C ซื้อประกันความเสี่ยง

สรท.หั่นส่งออกปีนี้ ติดลบ 10% ชี้ ครึ่งปีหลังติดลบทุกเดือน หวั่นปัญหาผู้นำเข้าเบี้ยวหนี้ แนะทำสัญญาให้ผู้นำเข้าเปิดแอล/ซี ชำระค่าสินค้าก่อนส่งมอบ ซื้อประกันส่งออก พร้อมหนังสือถึงนายกฯ แก้เงินบาทแข็งค่า

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ปรับลดประมาณการณ์การส่งออกปี 2563 จากติดลบ 8% เป็นติดลบ 10% หลังจากการส่งออกเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ติดลบถึง 22.5% ในขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่จะติดลบทุกเดือน

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธาน สรท.เปิดเผยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ สรท.คาดว่าการส่งออกปี 2563 จะติดลบ 10% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะความกังวลที่จะมีการระบาดในรอบ 2 ในสหรัฐที่มีผู้ติดเชื้อสูงมากเฉลี่ยวันละ 50,000 คน 

รวมถึงความกังวลปัญหาการจัดการโลจิสติกส์ในประเทศปลาย ซึ่งยังมีอุปสรรคจากมาตรการการล็อคดาวน์ของแต่ละประเทศ และส่งผลต่อการใช้จ่ายที่สูงขึ้นทำให้ผู้นำเข้าชะลอการสั่งซื้อสินค้า รวมถึงราคาน้ำมันที่ในตลาดโลกที่ต่ำว่าปี 2562 และปัญหาภัยแล้งเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกมีความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการส่งออก จากการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้า เนื่องด้วยผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 บางประเทศมีการออกกฎเพื่อช่วยผู้ประกอบการในประเทศตน ซึ่งปัญหานี้ส่งผลซ้ำเติมต่อผู้ส่งออกไทยทำให้อาจมีปัญหาขาดสภาพคล่อง

159413771320

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท. กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ปัญหาความเสี่ยงการได้รับชำระเงินสินค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการส่งออกเกิดขึ้นแล้วประปราย โดยมีปัญหา คือ

1.จัดซื้อแล้วขอให้ชะลอการส่งสินค้า

2.ส่งสินค้าไปแล้วโอกาสได้รับเงินค่าสินค่าช้าลง

3.มีความเสี่ยงในการรับเงินค่าสินค้าหรือถูกเบี้ยว เพราะธุรกิจบางประเภทอยู่ในจังหวะที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปหรือไม่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่จะกลับมารอบ 2 และรอบ 3

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาที่ผู้ส่งออกควรต้องวางแผนป้องกัน คือ

1.ขอรับเงินค่าสินค้าก่อนส่งมอบ

2.ขอให้ผู้นำเข้าเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต หรือ L/C เนื่องจากช่วงหลังผู้ซื้อไม่ต้องการเปิด L/C เพราะมีต้นทุนสูงกับธนาคาร ต้องมีหลักทรัพย์ไปค้ำประกัน หรือขอรับเงินค่าสินค้าเป็นจำนวนครึ่งหนึ่งก่อนที่จะส่งสินค้าลงเรือ

3.ทำประกันการส่งออกกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซ์ซิมแบงค์)

“ปัญหานี้ก็มีมาเรื่อยๆ ในกลุ่มผู้ส่งออกอาหาร โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริการ ร้านอาหารที่บริการนักท่องเที่ยว ส่วนกลุ่มอื่นที่มีความเสี่ยงจะเป็นกลุ่มที่มียอดการส่งออกที่ลดลง เช่น กลุ่มสินค้าคงทน สินค้าที่ไม่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่งออกเริ่มปรับตัวเพื่อรับกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นอัตราความสูญเสียอาจมีไม่มากนัก”

นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มปัญหาด้านการส่งออกจะมีมากหรือน้อยคาดเดาได้ยาก โดยขึ้นอยู่ที่ว่าจะมีวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 มาเร็วแค่ไหน เพราะหากมีระบาดรอบ 2 และรอบ 3 จะส่งผลให้กำลังซื้อลดลง และทำให้ความเชื่อมั่นไม่กลับมา

“การผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ส่งผลต่อการนำเข้าสินค้า แม้ว่าจะส่งออกได้มาก แต่กำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดส่งออกของไทยยังมีความไม่มั่นใจและระวังการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งความกังวลต่อการระบาดโควิด-19 รอบสอง ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในครึ่งปีหลัง”

ชงนายกฯ เร่งแก้บาทแข็งค่า

นางสาวกัณญภัค กล่าวว่า นอกจากนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง ผู้ส่งออกกังวลปัญหาค่าเงินบาทแข็งยังเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในแข่งขันทำให้ไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ ซึ่ง สรท.ได้เสนอปัญหานี้ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ช่วยแก้ปัญหาเงินบาทแข็งแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งทำให้ สรท.ส่งหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ช่วยเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาเรื่องเงินบาทแข็งค่า

ทั้งนี้ เพื่อช่วยผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเสนออัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันที่ 31.12 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากที่ผ่านมาเงินบาทปรับตัวแข็งค่าอย่างรวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านจนส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงและกระทบต่อการส่งออกไทยด้วย

“ก่อนหน้านี้ สรท.ประเมินการส่งออกไทยจะติดลบเพียง 8% แต่เมื่อผ่านครึ่งปีได้มีการประเมินปัจจจัยต่างแล้วพบว่าปัจจัยที่มีผลบวกต่อการส่งออกมีเพียง 1 ข้อ คือ การส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง อาหารกระป๋อง แปรรูป เท่านั้น ทำให้ต้องลดเป้าส่งออกเป็นติดลบ 10%”

คากครึ่งปีหลังติดลบทุกเดือน

สำหรับการส่งออกเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา มีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์ เทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วติดลบ 22.50 % แต่เมื่อหักทองคำ น้ำมันและอาวุธยุทธปัจจัยทำให้การส่งออกติดลบ 27.19% ในขณะที่ภาพรวม 5 เดือนแรกปี 2563 การส่งออกมีมูลค่า 97,898 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 3.71% 

ทั้งนี้ สรท.มองว่าการส่งออกช่วงที่เหลือของปี 2563 ในแต่ละเดือนจะติดลบ ซึ่งการส่งออกในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ติดลบรุนแรงมากที่สุดในรอบ 130 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ค.2532