'อสมท' ทางตัน บอร์ดล่มซ้ำ ผวาติดร่างแหเยียวยา2600

'อสมท' ทางตัน บอร์ดล่มซ้ำ ผวาติดร่างแหเยียวยา2600

“อสมท” เจอทางตัน ประชุมบอร์ดล่ม 2 ครั้งซ้อน บอร์ดเมินเป็นตรายาง หวั่นติดร่างแหทำผิดกฏหมายกรณีเวนคืนคลื่น 2600

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่กรรมการบริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) หรือ MCOT ไม่สามารถจัดประชุมกรรมการได้เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2563 เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม ปรากฏว่ามีความพยายามให้มีการประชุมกรรมการฉุกเฉินอีกครั้งเมื่อวันที่ 3. ก.ค.ที่ผ่านมา
แต่ปรากฎว่า การประชุมคณะกรรมการ MCOT เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ ต้องล่มลงอีกครั้ง ด้วยเหตุผลเดิมคือ องค์ประชุมไม่ครบ ที่ข้อบังคับระบุว่าต้องมีกรรมการร่วมประชุมอย่างน้อย 7 คนขึ้นไป เนื่องจากกรรมการบางรายไม่เข้าประชุม


ทั้งนี้ภายหลังกรรมการ MCOT 4 รายยื่นลาออกจากกรรมการ ทำให้บอร์ด MCOT เหลือปฏิบัติหน้าที่เพียง 8 คน ได้แก่ 1.พล.ต.ท. จตุพล ปานรักษาประธานกรรมการ 2.นายเขมทัตต์ พลเดชกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 3.นายบุญสน เจนชัยมหกุล 4.นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ 5.นางภัทรพร วรทรัพย์กรรมการ 6.นายสุวิทย์ นาคพีระยุทธ 7.นางรัชดาภรณ์ ราชเทวินทร์ และ 8.นายมารุต บูรณะเศรษฐกุลกรรมการอิสระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา กรรมการที่ไม่เข้าร่วมประชุม เพราะเกรงว่า อาจจะมีวาระสำคัญคือ การรับรองหนังสือขอรับเงินเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ กสทช. มีมติเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ให้ กสทช. ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500- 2690 เมกะเฮิรตซ์ ของ MCOT จำนวน 3,235 ล้านบาท สอดแทรกเข้ามาให้กรรมการร่วมลงสัตยาบัน


โดยในการนี้ มติกสทช. รับทราบและให้ MCOT ปฏิบัติตามหนังสือของ อสมท ที่ นร 6100/1250 ลงวันที่ 4 มิ.ย.2563 ซึ่งรายละเอียดระบุให้ นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ MCOT เป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายของ MCOT ในการพิจารณากำหนดสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มิใช่อำนาจของคณะกรรมการบริหาร MCOT

แหล่งข่าวจาก MCOT กล่าวว่า กรรมการบางท่านที่ไม่มาประชุม เกรงว่าจะเป็นการรับรองการกระทำที่ส่อไปในทางผิดกฏหมาย โดยเฉพาะประเด็นการเวนคืนคลื่นความถี่ 2600 ที่ส่อไปทางขัดต่อกฏหมาย อย่างน้อย 2 ประเด็น ได้แก่ 1.การทำหนังสือของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ถึง กสทช.ที่อ้างว่าได้รับมอบอำนาจจากประธานกรรมกรรมการให้เป็นผู้เจรจา กับกสทช. ทั้งๆที่คณะกรรมการไม่เคยมีมติมอบอำนาจให้ จึงเกรงว่าหากเข้าประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมาจะมีวาระ การให้สัตยาบัน รับรองการกระทำที่อาจจะขัดต่อกฏหมาย


2. การที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ขอให้ กสทช. แบ่งค่าเวนคืนคลื่นความถี่ 2600 ในอัตรา 50:50 ให้กับ MCOTและเอกชนคือบริษัท เพลย์เวิร์ค จำกัด ซึ่งเป็นการแบ่งโดยมิชอบ เพราะการชดเชยความเสียหายต่อผู้เช่าหรือไม่ เป็นเรื่องภายในของ MCOT และที่ผ่านมา เอกชนที่เช่าคลื่นนี้ ไม่เคยให้ผลตอบแทนกับ MCOT จึงถือได้ว่าไม่ได้เกิดความเสียหาย และหากคิดว่ามีความเสียหายจะต้องมีการพิสูจน์ ในกระบวนการยุติธรรม


รายงานข่าวแจ้งว่า เป็นที่น่าจับตาว่า คณะกรรมการ MCOT ที่เหลืออยู่จะสามารถเรียกประชุมคณะกรรมการได้อีกหรือไม่ เนื่องจากจะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 13 ก.ค. นี้ ซึ่งจะเป็นวันสิ้นสุดวาระของประธานกรรมการและกรรมการอีก 3 คน