8 เรื่องน่ารู้ของ 'มาร์มอต' พาหะ 'กาฬโรค' ในจีน

8 เรื่องน่ารู้ของ 'มาร์มอต' พาหะ 'กาฬโรค' ในจีน

ทำความรู้จัก “มาร์มอต” สัตว์ฟันแทะหน้าตาน่ารักที่คนไทยไม่คุ้นตา แต่ตอนนี้กำลังตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นพาหะ “กาฬโรค” ที่ระบาดครั้งล่าสุดในจีน ไปดูกันว่า สิ่งมีชีวิตคล้ายกระรอกนี้มีเรื่องราวอะไรที่คุณอาจยังไม่รู้บ้าง

ชื่อของ มาร์มอต กำลังเป็นที่สนใจ หลังคณะกรรมการสุขภาพนครปาเยี่ยนน่าวเอ่อร์ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางภาคเหนือของจีน เตือนประชาชนให้รายงานต่อทางการทันที หากพบ มาร์มอต หรือสัตว์ชนิดอื่นที่มีอาการป่วยหรือตาย เพราะต้องสงสัยว่าอาจเป็นพาหะเชื้อกาฬโรคที่มีผู้ป่วยในพื้นที่แล้ว 1 คนช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และนับเป็นผู้ป่วยกาฬโรครายแรกในปีนี้ของจีน

นอกจากนี้ ทางการท้องถิ่นยังขอให้ประชาชนยุติการล่าและรับประทานสัตว์ที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อกาฬโรคด้วย ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เชื้อต้นตอกาฬโรคคือ แบคทีเรีย “บาซิลลัส เปสติส” (Bacillus pestis) โดยเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) ที่เกี่ยวข้องกับ “สัตว์ฟันแทะ” และหมัด ซึ่งมาร์มอตก็เป็นสัตว์ฟันแทะชนิดหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม: ย้อนรอย ‘กาฬโรค’ ในจีน จากยุค ‘เหมา’ ถึงปัจจุบัน

แม้กรณีล่าสุดในจีนยังไม่ชัดเจนว่าผู้ป่วยติดเชื้อกาฬโรคจากอะไร แต่โดยทั่วไปแล้ว การติดต่อมาสู่คนเกิดขึ้นได้ 3 ทาง ได้แก่ การถูกหมัดที่มีเชื้อกัด การสัมผัสเนื้อเยื่อของสัตว์ที่ติดเชื้อ และการสูดดมสัมผัสสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจของสัตว์ที่ติดเชื้อ

 

  • 1. ปัจจุบันเหลือ 15 สายพันธุ์

มาร์มอตเป็นกระรอกขนาดใหญ่ อยู่ในสกุล Marmota โดยมีสมาชิกอยู่ทั้งหมดราว 15 สายพันธุ์ หรือ สปีชีส์ ซึ่งรวมถึงตัวกราวนด์ฮ็อก (groundhog) หรือวูดชัก (woodchuck) ด้วย บางชนิดอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เป็นภูเขา เช่น เทือกเขาแอลป์ เทือกเขาคาร์เพเทียน และเทือกเขาพิเรนีสในยุโรป รวมถึงพื้นที่แถบเอเชียตะวันตกเฉียงเหนือ และอเมริกาเหนือ

159413358870

เนื่องจากเป็นสัตว์กินพืช อาหารหลักของมาร์มอตจึงมีทั้ง หญ้า ลูกไม้ เห็ด รา สาหร่าย ผลไม้ มอส รากไม้ และดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ส่วนลักษณะการใช้ชีวิตของสัตว์หน้าตาคล้ายกระรอกหุ่นน่ากอดนี้ มักจะอาศัยอยู่ในโพรงและจำศีลในฤดูหนาว

 

  • 2. มีภาษาเป็นของตัวเอง

มาร์มอต ขึ้นชื่อเรื่องการใช้เสียงที่แหลมสูงในการเรียกพวกพ้องเมื่อเกิดอันตรายหรือเกิดเหตุการณ์ตื่นตระหนก โดยมาร์มอต อัลไพน์ ที่อาศัยแถบเทือกเขาแอลป์ เทือกเขาคาร์เพเทียน และเทือกเขาพิเรนีส ใช้การเรียกพวกพ้องด้วยเสียงที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับประเภทของภัยอันตราย


- เสียงร้องจริง ๆ ของมาร์มอต -

เสียงแหลมครั้งเดียวเป็นการเตือนว่ามีผู้ล่าบนท้องฟ้า ซึ่งมักเป็น “อินทรี” ส่วนเสียงแหลมหลายครั้งเป็นการเตือนว่ามีอันตรายบนพื้นดิน

ขณะที่ผลการศึกษาเกี่ยวกับสายพันธุ์มาร์มอตในอเมริกาเหนือ “ไม่พบ” ความเชื่อมโยงแบบเดียวกันระหว่างประเภทภัยคุกคามกับการส่งเสียงเตือน

 

  • 3. รักเดียวและอยู่เป็นครอบครัว

มาร์มอตอาศัยเป็นกลุ่มครอบครัวที่มีการแยกลำดับชั้นกันอย่างชัดเจน แต่ละครอบครัวจะมีผู้นำเป็นมาร์มอตตัวผู้และตัวเมีย และมีเพียงคู่หัวหน้าครอบครัวเท่านั้นที่มีสิทธิ์ผสมพันธุ์กันในแต่ละปี ซึ่งตัวเมียที่เป็นหัวหน้าครอบครัวจะทำหน้าที่รักษากฎนี้

ครอบครัวมาร์มอตจะมีโพรงเป็นของตัวเอง ซึ่งอาจขยายใหญ่ขึ้นตามจำนวนสมาชิกรุ่นใหม่จนกว่าโพรงนั้นจะแออัดจนอาศัยไม่ได้ นอกจากนี้ มาร์มอตทุกตัวในครอบครัวยังนอนหลับด้วยกันในช่วงจำศีลฤดูหนาว

 

  • 4. แต่ก็มีนอกใจบ้าง

ผลการศึกษาดีเอ็นเอมาร์มอตสายพันธุ์ต่าง ๆ พบว่า ระหว่าง 2.2-13% ของลูกหลานมาร์มอต มีพ่อที่ไม่ใช่ตัวผู้ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว ลูกมาร์มอตจากครอกเดียวกันบางครั้งก็มีพ่อคนละตัว

 

  • 5. อาณานิคมมาร์มอตอยู่กันหลายครอบครัว

ครอบครัวมาร์มอตอาศัยอยู่ด้วยกันในอาณานิคมเดียว ภายในอาณานิคมนี้ แต่ละครอบครัวจะมีเขตแดนของตัวเอง การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวต่าง ๆ เป็นไปอย่างจำกัดและมักทะเลาะกันมากกว่า

มาร์มอตสร้างเขตแดนตัวเอง ด้วยการใช้กลิ่นอุจจาระในการกำหนดเส้นพื้นที่ของมัน

 

  • 6. นอนมากกว่าตื่น

มาร์มอตใช้เวลาในการจำศีลราว 200 วันต่อปี ซึ่งทำให้มันสูญเสียโปรตีนในร่างกายไปประมาณ 1 ใน 3 และในช่วงนี้เอง พวกมันจะดำรงชีพด้วยไขมันที่กักตุนเอาไว้

สัตว์ชนิดนี้ไม่ได้นอนยาวอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีช่วงตื่นเป็นพัก ๆ ซึ่งช่วยในการรักษาอุณหภูมิร่างกายของมัน ขณะที่ลูกมาร์มอตเกิดใหม่จะใช้เวลาช่วงหลายเดือนแรกหลังลืมตาดูโลก ในการแย่งกินอาหารให้มากพอเพื่ออยู่รอดในการจำศีลครั้งแรกของพวกมัน

 

  • 7. กำเนิดในอเมริกาเหนือ 15 ล้านปีก่อน

หลังจากทวีปอเมริกาแยกตัวจากยูเรเซียเมื่อประมาณ 40 ล้านปีที่แล้ว สัตว์สายพันธุ์ฟันแทะได้วิวัฒนาการแยกจากกันในทั้ง 2 ทวีป มาร์มอตปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อราว 15 ล้านปีก่อนในอเมริกาเหนือ ส่วนมาร์มอตพันธุ์ยูเรเซียในปัจจุบัน วิวัฒนาการจากมาร์มอตที่ข้ามช่องแคบเบริงเมื่อประมาณ 1 ล้านปีที่แล้ว

 

  • 8. ถูกใช้ขุดทองในยุคโบราณ

เมื่อ 2,500 ปีก่อน “เฮอโรโดทัส” นักประวัติศาสตร์ชาวกรีกได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “มด” สีทองที่ตัวใหญ่กว่าจิ้งจอก ถูกใช้ในการหาทองคำในอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ และมีผลวิจัยจากยุคกลางทศวรรษ 1990 บ่งชี้ว่า มดที่เฮอโรโดทัสอ้างถึงนั้น คือ มาร์มอตพันธุ์ขนทองหางยาวในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือปากีสถาน นอกจากนี้ คำว่ามาร์มอตในภาษาเปอร์เซียโบราณยังหมายถึง “มดภูเขา”

มาร์มอตพันธุ์ดังกล่าวมักสร้างโพรงในดินทรายที่เป็นแหล่งแร่ทองคำ และคนชนเผ่าพื้นเมืองสมัยนั้นจะสกัดทองคำจากดินทรายที่ติดมากับขนของมาร์มอตนั่นเอง

------------------------

อ้างอิง: Whitemarmotte, CraigromanoMarmot evolution and global change in the last 10 million years, Madrascourier