ปตท.เล็งรื้อโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า

ปตท.เล็งรื้อโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า

กลุ่ม ปตท.ศึกษาปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า สร้างความชัดเจนเชื้อเพลิง ได้ข้อสรุปปลายปีนี้ พร้อมลุยโรงไฟฟ้าชุมชน 4-5 พื้นที่ตามแนวท่อก๊าซ

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้า เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบริหารจัดการและสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้สอดคล้องทิศทางของพลังงานโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะสรุปปลายปี 2563

ทั้งนี้ เบื้องต้นการปรับโครงสร้างธุรกิจไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างการผลิตไฟฟ้าประเภทเชื้อเพลิง Conventional หรือ ฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน กับเชื้อเพลิงประเภท New Energy ซึ่งจะรวมพลังงานหมุนเวียนและพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า ระบบกักเก็บพลังงาน

รวมทั้งในอนาคตการเติบโตทางพลังงานของโลกแม้จะมุ่งไปสู่พลังงานรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น แต่เชื้อเพลิงฟอสซิลยังสำคัญในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเพราะเป็นพลังงานสะอาดและเป็นพลังงานหลักที่จะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานระยะยาวควบคู่กับพลังงานรูปแบบใหม่

“บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ยังเป็นแกนหลักของกลุ่ม ปตท.ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจไฟฟ้า แต่บริษัทลูกในเครือ ปตท.ทั้ง TOP, PTTGC และ IRPC ได้มอบหมายให้ร่วมกันศึกษาโอกาส New Energy”

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ของกระทรวงพลังงาน ที่มีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ 700 เมกะวัตต์ ในช่วงปี 2563-2565 ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 - 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1)นั้น ปตท.พร้อมที่จะสนับสนุนนโยบายภาครัฐ เพื่อร่วมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน

ทั้งนี้ กำลังศึกษารายละเอียดโครงการและศักยภาพความพร้อมการลงทุนของกลุ่ม ปตท. โดยร่วมกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ศึกษาพื้นที่เหมาะสม เช่น ตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติ และพื้นที่โครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียงของ ปตท. และคาดว่าจะพร้อมลงทุน 4-5 ชุมชน โดยหากภาครัฐต้องการให้มีโครงการนำร่องก็ยินดีเข้าไปลงทุนเป็นต้นแบบ

นอกจากนี้ ปตท.สนใจทั้งเชื้อเพลิงประเภท ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล และพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งต้องรอดูผลการศึกษาว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และชุมชนใดที่มีความพร้อมบ้าง ซึ่ง ปตท.ก็พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุนทั้งเรื่องเงินลงทุน และเทคโนโลยี ภายใต้ดำเนินการในรูปแบบลงทุนร่วมกันกับชุมชน