ความหน่ายแหนง "การงาน" แก้อย่างไรได้บ้าง?

ความหน่ายแหนง "การงาน" แก้อย่างไรได้บ้าง?

ถอดตำราจิตวิทยาประยุกต์ในอดีต มาส่องทางแก้เบื่อ "งาน" ในปัจจุบัน ที่หลายคนมักบอกว่ามองไม่เห็นแสงสว่างของวันหน้า การงานหมดความท้าทายไปหมด การงานที่ทำจึงดูน่าเบื่ออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทางเลือกอื่นก็ไม่มี

ยามนี้การงานหายากเย็นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ยกเว้นบางอาชีพที่ยังพอมีหนทางกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะการงานด้านดิจิทัล แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่ได้ทำงานด้านนี้อยู่จะมีสุขในการงาน รวมถึงคนในอาชีพอื่นๆ ที่ยังโชคดีมีการงานทำกัน อยู่ด้วยทำงานกันในระหว่างที่มองไม่เห็นแสงสว่างของวันหน้า มีแต่คนมาบอกว่าวันหน้ามืดมนหนักหนา การงานหมดความท้าทายไปหมด การงานที่ทำจึงดูน่าเบื่ออย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทางเลือกอื่นก็ไม่มี เบื่องานนี้จะกระโดดไปงานโน้น กระโดดออกจากเก้าอี้วันไหนวันนั้นมีคนเสียบมาแทนแทบจะทันที ทำงานอย่างไม่เห็นอนาคตและหมดทางเลือก จึงน่าเบื่ออย่างมหาศาล

ตำราจิตวิทยาประยุกต์ตั้งแต่ 80-90 ปีมาแล้ว เสนอแนวทางแก้เบื่องานไว้ที่พอจะนำมาดัดแปลงให้เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันได้ ตำราบอกว่าให้ดูตัวเองก่อนว่า มีอาการเช่นนี้บ้างหรือไม่

เริ่มจากรู้สึกหมดความสนใจสาระเกี่ยวกับงาน แม้แต่เรื่องที่เคยใส่ใจมาโดยตลอดวันนี้ก็เฉยๆ กับเรื่องนั้น งานที่ทำในแต่ละวันเหมือนทำด้วยระบบประสาทอัตโนมัติ มือทำไป ใจไปไหนก็ไม่รู้ งานแต่ละวันดูซ้ำซาก พรุ่งนี้ดูเหมือนเมื่อวานดูแถลงข่าวสถานการณ์ฉุกเฉิน วันนี้ก็รู้สึกเหมือนดูมาแล้วเมื่อวานนี้ ดูกี่ครั้งก็เห็นแต่ภัยรอบ 2 รอบ 3 แต่ที่น่าแปลกคืองานจำเจจนแทบไม่ต้องคิด แต่ทำแล้วรู้สึกเหนื่อยกว่าปกติจนไม่อยากคุยกับใครเรื่องอนาคตอีกต่อไป

ตำราเรียกอาการนี้ว่า Ennui อ่านว่า ออนวีร์ กูเกิลแปลแบบได้ใจความที่ตรงกันว่า ความหน่ายแหนง ซึ่งหมายถึงเบื่อเรื่องนั้นอย่างแรงจนทุกอย่างปราศจากความน่าสนใจอีกต่อไป ใครแต่งงานกันแล้วมีอาการหน่ายแหนง ถ้าแก้ไม่ได้ ปลายทางคือแยกกันเท่านั้น

หน่ายแหนงเกิดทุกครั้งหลังวิกฤติที่ไม่เห็นทางออกและไม่เห็นว่าอนาคตที่จะกลับมาสดใสจะมาได้อย่างไร และเมื่อไรทางแก้ มีแค่ 2 ทางคือ ทนจนกว่าจะผ่านช่วงเวลาที่ต้นเหตุของอาการหน่ายแหนงหมดไป หรือปรับวิถีชีวิตตัวเองให้จิตใจยอมหลุดออกจากอาการนี้ ซึ่งหนทางแรกนั้นไม่ต้องเปลี่ยนอะไรท่องไว้อย่างเดียวว่าทนจนกว่าจะพ้นไปได้แต่มีไม่มากนักที่ทนได้มักเสียการงานเสียครอบครัวเสียเพื่อนฝูงไปก่อนที่จะพ้นช่วงเวลาวิกฤติ

หน่ายแหนงเป็นเรื่องของจิตใจ ดังนั้นจะหลุดออกไปได้ก็ต้องปลดปล่อยใจของเราออกจากพันธนาการของตัวกระตุ้นให้เกิดอาการให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าใจติดอยู่กับอนาคตที่มืดมน ก็ลดเวลาฟังคนนั้นคนนี้กล่าวถึงอนาคตไปเสียบ้าง ลดการเสพสาระจากเครือข่ายสังคมเกี่ยวกับอนาคตที่ไร้แสงสว่างไปบ้าง นึกไว้ด้วยว่าหนังผีสร้างง่ายกว่าหนังสารคดีเยอะแยะ คนจึงชอบเล่าเรื่องน่ากลัวมากกว่าเรื่องที่มีสาระเชิงตรรกะ ใครมาบอกว่าอนาคตจะย่ำแย่แค่ไหนก็ฟังไว้พอไม่ประมาท แต่ถ้าตอกย้ำทุกวันก็ให้บอกตัวเองว่ากำลังดูหนังผีอยู่จะได้ไม่ปรุงแต่งสาระเกี่ยวกับอนาคตไร้แสงสว่างนั้น จนจิตใจถูกจองจำอยู่กับความดำมืดแห่งอนาคต

มีสติจดจ่ออยู่กับงานปัจจุบันมากขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อป้องกันไม่ให้รู้สึกว่าทำงานโดยอัตโนมัติ ยอมเสียเวลามีสติ ตรึกตรองดูสักนิดว่า ตอนนี้กำลังทำขั้นตอนใดอยู่ งานเดิมจะดูเหมือนงานใหม่แทบทุกครั้งที่ทำอย่างมีสติเราจะมองเห็นความท้าทายใหม่ๆ จากงานเดิมที่ทำโดยมีสติอยู่กับปัจจุบันกาล 

แต่อย่าเผลอไปนึกคิดอะไรใหม่ๆ ที่มาจากคารมของคนใหญ่คนโตบางคนที่พร่ำบอกว่า ต้องปรับเปลี่ยนอย่างนั้นอย่างนี้ โดยที่กฎกติกาการทำงานยังเป็นแบบเดิมๆ ปากบอกให้เปลี่ยนแต่มือไม่ยอมแก้กฎกติกา ถ้าไปคิดเรื่องพวกนี้จะเลยไปคิดเรื่องอนาคตแล้วจะจบลงที่ความมืดมนอีกครั้ง ความหน่ายแหนงก็จะตามมาอีก

ถามตัวเองเสมอว่าเราพอจะทำอะไรใหม่ๆ ได้บ้างในยามนี้อย่ากักตัวเองไว้กับการงานดั่งเดิมแต่อย่างเดียวลองดูว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีอยู่เต็มไปหมดจะทำให้เราทำอะไรใหม่ได้บ้างจะทำแล้วได้เงินทองก็ยิ่งดีหรือทำแล้วแค่สนุกกับเรื่องใหม่นั้นก็ได้

แม้มหภาคจะไม่มีอนาคต แต่จุลภาคมีอนาคตที่ดีกว่าให้เราเสมอ