'ไวรัสร้าย' ยืดเยื้อ-คลี่คลาย ตัวแปร 'เศรษฐกิจโลก' ครึ่งปีหลัง

'ไวรัสร้าย' ยืดเยื้อ-คลี่คลาย ตัวแปร 'เศรษฐกิจโลก' ครึ่งปีหลัง

ผ่านไปแล้วครึ่งทางสำหรับปี 2563 ที่เศรษฐกิจโลกบอบช้ำหนัก พิษจากโรคโควิด-19 บรรดาสถาบันชั้นนำของโลกปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้กันเป็นแถว โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังมีปัจจัยทั้งแรงหนุน เช่น การปลดล็อกประเทศ และแรงต้านอย่างการระบาดระลอก 2

เริ่มต้นจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ระบุว่า การระบาดของโควิด-19 จะฉุดให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรงสุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัวลง 5.2% และหากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อ เศรษฐกิจโลกมีโอกาสจะหดลึกถึง 8% โดยคาดจะฟื้นตัวราว 1% ในปีหน้า

ขณะเดียวกันธนาคารโลกประเมินว่า ประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ สหรัฐจะหดตัว 6.1% ในปีนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัว 9.1% ญี่ปุ่นหดตัวลง 6.1% โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นถือเป็นการปรับตัวย่ำแย่กว่าในช่วงที่เผชิญวิกฤติการเงินโลกในปี 2551-2552 ก่อนที่จะฟื้นตัว 2.5% ในปีหน้า และเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังถูกกระทบจากการเลื่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปีนี้เป็นปีหน้า

ส่วนเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% ในปีนี้ ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบกว่า 40 ปี ก่อนที่จะขยายตัว 6.9% ในปีหน้า

159405764880

ถัดมา 1 วัน องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เผยแพร่รายงานชื่อ “เศรษฐกิจโลกที่แขวนบนเส้นด้าย” ว่าเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวอย่างน้อย 6% ในปีนี้ผลจากประชาชนสูญเสียรายได้เป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และภาวะความไม่แน่นอนขั้นรุนแรง ที่เกิดจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19ในประเทศต่าง ๆ

โออีซีดีเตือนว่าในกรณีที่เกิดการระบาดระลอกสองช่วงปลายปีนี้ ผลผลิตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะหดตัวมากถึง 7.6% แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน การฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและผันผวน

รายงานระบุว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) น่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปีหน้า โดยจะเติบโต 5.2% หากทั่วโลกควบคุมไวรัสได้ และโต 2.8% หากมีการระบาดระลอกใหม่

โออีซีดีเตือนอีกว่าภายในสิ้นปีหน้า การสูญเสียรายได้ทั่วโลกจะมากกว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งไหนๆ ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมาหลังหมดยุคสงครามโลก เนื่องจากประชาชน บริษัท และรัฐบาลต่างได้รับผลกระทบหนักเป็นเวลานานจากการระบาดครั้งนี้

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับปรับปรุงคาดว่า จีดีพีทั่วโลกจะติดลบ 4.9% ในปีนี้และจะฟื้นตัวเพียง 5.4% ในปี 2564 แต่ต้องอยู่ “ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น”

กิตา โกพินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไอเอ็มเอฟ บอกว่า จากการคาดการณ์ ณ ปัจจุบันวิกฤติโควิดจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลก 12 ล้านล้านดอลลาร์ (ราว 370.4 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลา 2 ปี

“เรายังไม่หลุดพ้นจากช่วงเวลายากลำบาก แม้ว่ารัฐบาลและธนาคารกลางประเทศต่างๆ ออกนโยบายทางการคลังและการเงินมากมายเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไปแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องทำมากกว่านี้อีก” โกพินาถ กล่าว

159405796150

ไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่าภาวะขาลงของเศรษฐกิจโลกสร้างความเสียหายเลวร้ายโดยเฉพาะกับประเทศต่างๆ ที่มีรายได้ต่ำและภาคครัวเรือน และทำให้ความคืบหน้าในความพยายามลดความยากจนขั้นรุนแรงตกอยู่ในอันตราย

ด้าน ฟิทช์ เรทติ้งส์ เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. โดยยังคงคาดการณ์ว่า จีดีพีโลกปีนี้ลดลง 4.6% เนื่องจากช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีหลักฐานชัดขึ้นว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

กระนั้น ไบรอัน คุลตัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฟิทช์ เรทติ้งส์ เตือนว่า ความเสี่ยงที่ไวรัสจะกลับมาอีกทำให้ต้องล็อกดาวน์ทั้งประเทศกันอีกรอบ ที่อาจขัดขวางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างที่คาดไว้ ยังคงมีอยู่สูง

ฟิทช์ระบุว่า สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจปรากฏขึ้นตั้งแต่รายงานฉบับก่อน ในรูปของยอดค้าปลีกรายเดือนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในสหรัฐ สหราชอาณาจักร และสเปนในเดือน พ.ค. การจ้างงานสหรัฐเพิ่มในเดือน พ.ค. และดัชนีพีเอ็มไอสมดุลขึ้นทั้งในเดือน พ.ค.และมิ.ย.

ข้อมูลการเดินทางรายวันยืนยันว่า การฟื้นตัวต่อเนื่องแข็งแกร่ง ผู้คนไปร้านค้าปลีกและสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเนื่องจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แล้ว กิจกรรมการก่อสร้างฟื้นตัวค่อนข้างเร็วเช่นกัน หลังจากหดตัวลงค่อนข้างรุนแรงในช่วงล็อกดาวน์

เศรษฐกิจจีนเดือน พ.ค.ฟื้นตัวต่อเนื่องเช่นกันในอัตราแข็งแกร่ง ฟิทช์ปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีจีน ประจำปี 2563 จาก 0.7% ในรายงานครั้งก่อน มาอยู่ที่ 1.2% เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกหลังไม่ได้ปรับมานานแล้ว เช่นเดียวกับออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ปรับจาก -5.0% เป็น -2.7% และ -1.2% เป็น -0.9% ตามลำดับ

เศรษฐกิจเยอรมนี ปีนี้หดตัว 6.3% จากอัตราหดตัว 6.7% ในการประเมินครั้งก่อน เนื่องจากนโยบายผ่อนคลายทางการคลังเพิ่มเติม ยูโรโซนก็เช่นเดียวกันจากหดตัว 8.2% ปรับเพิ่มเป็นหดตัว 8%

สำหรับคาดการณ์จีดีพีสหรัฐ ประจำปี 2563 ฟิทช์ยืนยันที่การหดตัว 5.6% หลังจากเมื่อเร็วๆ นี้ข้อมูลดีขึ้น แต่ฟิทช์ยังคาดว่า ไตรมาส 2 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 9.9% (34% เมื่อเทียบเป็นรายปี) ยิ่งช่วงนี้จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันเพิ่มขึ้นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลง

สำหรับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ฟิทช์คาดว่า ปีนี้ลดลง 9% เนื่องจากล็อกดาวน์นานเกินกว่าคาด

ในปี 2564 ฟิทช์คาดว่า จีดีพีโลกจะเพิ่มขึ้น 4.9% ส่วนหนึ่งเป็นการฟื้นตัวในเชิงเทคนิค เนื่องจากการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ในปีนี้ผ่อนคลายแล้ว ส่วนปี 2565 คาดว่าจะเติบโต 3.4%

จากตัวเลขของสถาบันชั้นนำระดับโลกเห็นได้ว่า เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นแรงหนุนและแรงต้าน แรงหนุนคือ การที่ประเทศต่างๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับคืนมาอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลต่อจีดีพีครึ่งปีหลัง

แรงต้านคือ แนวโน้มโควิด-19 กลับมาระบาดอีกระลอก ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายๆ ประเทศ ตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ที่ดูเหมือนบางประเทศควบคุมได้แล้วอาจกลับมาได้ทุกเมื่อ โดยรัฐบาลอาจใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวดสลับกับผ่อนคลายตามสถานการณ์