แพทย์พบผู้ป่วยโควิดไทยไม่เกิดภูมิคุ้มกัน รับบริจาคพลาสมาแล้ว 250 ถุง

แพทย์พบผู้ป่วยโควิดไทยไม่เกิดภูมิคุ้มกัน รับบริจาคพลาสมาแล้ว 250 ถุง

"นพ.ยง ภู่วรวรรณ" เผยแพทย์พบผู้ป่วยโควิดไทยไม่เกิดภูมิคุ้มกัน รับบริจาคพลาสมาแล้ว 250 ถุง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 กรณีความคืบหน้าการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้วสร้างแอนติบอดี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า การตรวจวัดภูมิต้านทานของผู้ที่หายจากโควิด-19 ประมาณ 300 คน พบว่า 10-12% ตรวจไม่พบภูมิต้านทาน

“ข้อมูลนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกเหมือนกับการศึกษาในประเทศจีนหรือทางตะวันตก ที่พบผู้ไม่ตอบสนองต่อภูมิต้านทาน หรือตรวจไม่พบภูมิต้านทาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอาการน้อย คล้ายไข้หวัด ไอ ไม่รุนแรง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีภูมิต้านทานสูง คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการปอดบวมหรือลงปอด ภูมิต้านทานจะขึ้นสูง ซึ่งจะมีโครงการต่อเนื่องในการติดตามภูมิต้านทานธรรมชาติที่เกิดขึ้น หลังหายแล้ว 6-12 เดือน เพื่อหาว่าการติดเชื้อและเกิดภูมิต้านทานธรรมชาติแล้วจะลดลงเป็นอย่างไร”

ขณะนี้ยังไม่สามารถการันตีได้ว่าคนที่เคยติดเชื้อแล้วจะไม่ติดเชื้ออีก อาจเป็นซ้ำอีก เพียงแต่เชื่อว่าในกลุ่มผู้ที่มีอาการรุนแรง และมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงนั้น ใน 2-3 ปีจะไม่เป็นซ้ำอีก แต่ไม่มีใครรู้ จึงต้องติดตามภูมิต้านทานของผู้หายป่วยไปอย่างน้อย 1 ปี อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคนป่วยที่หายยังตรวจพบเชื้อในคอ 7% พบในช่วง 4 สัปดาห์และนานสุดที่ 81 วัน แต่ปริมาณเชื้อน้อยอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โอกาสที่จะแพร่เชื้อน้อยมากๆ

ศ.นพ.ยง กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันมีอาสาสมัครหรือฮีโร่ที่มาบริจาคให้กับศูนย์บริจาคบริการโลหิตแห่งชาติแล้วมากกว่า 150 คน ได้พลาสมาที่มีภูมิต้านทานสูงมากกว่า 250 ถุง ซึ่งในการใช้รักษาคนป่วย 1 คนจะใช้ประมาณ 1 - 2 ถุง ในจำนวนนี้สามารถใช้รักษาได้ราว 100 คน แต่ยังไม่ได้มีการนำไปใช้กับผู้ป่วยในประเทศไทย เพราะสถานการณ์การระบาดในประเทศไทยดีขึ้น จึงมีการเก็บรักษาไว้ในคลังสำรองสามารถเก็บไว้ได้นาน 1 ปี

“ถ้ามีผู้มาบริจาคเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะ เมื่อสามารถบริจาคได้ 600-1,000 ถุง ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติมีความสามารถที่จะเอาพลาสมาทำเป็นเซรุ่ม โดยเอามาทำให้ปริมาณพลาสมาเข้มข้น ก็จะสามารถบรรจุขวดและมีปริมาณแอนติบอดี้ต่อ 1 ขวดค่อนข้างสูง สำหรับฉีดใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19เหมือนเซรุ่มที่ใช้ในการรักษาไวรัสตับอักเสบบี หรือเซรุ่มรักษาพิษสุนัขบ้า และการเก็บในรูปแบบนี้จะอยู่ได้นานขึ้น จึงยังยินดีที่จะให้ผู้ป่วยที่หายแล้วและสนใจมาบริจาคพลาสมาให้กับศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ” ศ.นพ.ยงกล่าว