นักการเมืองอย่าประมาท 'ประยุทธ์-ประวิตร' มีวิธีกำราบมากกว่ายุบสภา?

นักการเมืองอย่าประมาท 'ประยุทธ์-ประวิตร' มีวิธีกำราบมากกว่ายุบสภา?

ถึงแม้ว่า “4 กุมาร” ทั้ง อุตตม สาวนายน รมว.คลัง สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 

และกอบศักดิ์ ภูตระกูล ที่ล้วนเป็น "ศิษย์เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะหลุดวงโคจรภายใน พรรคพลังประชารัฐ แล้วก็ตาม ก็ยังไม่วายที่ “สมคิด” จะโดนฟาดฟันอย่างต่อเนื่องจากคนในบ้าน “พปชร.”

ล่าสุด เมื่อ "สมคิด" หยิบยกสถานการณ์การเมืองในสิงคโปร์ ที่เกิดการยุบสภา เนื่องจากผลพวงของการระบาดจากไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า ที่สิงคโปร์เขาถึงขนาดยุบสภา เพราะคาดคะเนว่าเศรษฐกิจต้องย่ำแย่ลงมาก ยุบสภาก่อนเลือกตั้งซะเลย จะได้มีโอกาสเป็นรัฐบาล ก่อนที่มันจะดิ่งลงไป

เท่านั้นก็เพียงพอให้คนใน พปชร. ต้องเต้น ดัน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหมู่ออกมาทะลวงฟัน "สมคิด" ด้วยเหตุผลไม่กี่อย่าง โดยเฉพาะความที่เป็นคนละขั้วกับคนในสายที่ใกล้ชิด หัวหน้าพรรค พปชร. อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และแน่นอนคนใน พปชร. จำนวนไม่น้อย ก็แอบกลัวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเคลิ้มตามสิ่งที่สมคิดยก สิงคโปร์โมเดล ขึ้นมา

ในทางการเมือง สิ่งที่ “นักการเมือง" กลัวก็มีอยู่ไม่กี่อย่าง 1.ยุบสภา 2.รัฐประหาร หลายคนถือคติว่า กินน้ำบ่อนี้ ดีกว่าหวังน้ำบ่อหน้า เพราะไม่รู้ว่า ถ้าต้องเลือกตั้งใหม่ จะต้องทุ่มสรรพกำลัง หรือยิงกระสุนอีกตั้งเท่าไหร่ ยิงแล้วจะได้กลับมาหรือไม่ บางคนถ้าคิดจะตีหัวเข้าบ้าน เก็บกระสุนกองกลางเข้าคลังส่วนตัว แม้จะแพ้เลือกตั้งก็ถือว่าคุ้ม หรือบางคนอาจชอบที่มีการเลือกตั้ง เพราะมีจังหวะอมกระสุนของลูกทีมที่ลงส.ส. ส่วนหากมีการยึดอำนาจรัฐประหาร บรรดานักการเมืองก็ถึงคราวตกงาน ไม่มีเวทีให้เล่น แถมยังถูกคนกุมอำนาจประกบติดไม่คลาดสายตา

 

ไอเดียให้ นายกฯ ยุบสภาไม่ใช่ครั้งแรกที่ถูกพูดถึง ก่อนหน้านี้ที่ศึกใน พปชร.ร้อนระอุ แต่ละก๊วนชิงดีชิงเด่นกันจนวุ่นวายไปหมด ก็มีบางคนเสนอวิธีดัดหลังนักการเมืองด้วยวิธีนี้มาแล้ว แต่เอาเข้าจริง การยุบสภา มันได้ความสะใจสำหรับบางคน แต่ไม่ตอบโจทย์สถานการณ์ที่แท้จริง

“บิ๊กตู่” เองก็คงไม่บ้าจี้ ทำอะไรแบบนั้น ในเวลานี้ ด้วยรู้ดีว่า กว่าจะได้เข้ามาบริหาร เหนื่อยยากแค่ไหน ทำไมถึงจะกลับไปเหนื่อยอีกหน ในเมื่อยังมีเวลา 2-3 ปี กว่าจะครบวาระ

ขณะที่ “บิ๊กป้อม” เมื่อคุมบังเหียน พปชร.เต็มตัว ภารกิจหลักคือเรียกศรัทธาจากประชาชนกลับคืน การประเดิมสั่งการให้พรรคทำนโยบายเศรษฐกิจในช่วง “โควิด-19” นับว่ามาถูกทาง แต่ต้องไม่ลืมว่า นโยบายของผู้บริหารพรรคชุดก่อน ยังเป็นฝันร้ายของใครหลายคน เมื่อชูนโยบายหาเสียงจนได้เป็นรัฐบาล แต่กลับไม่สามารถทำได้จริง เช่น ค่าแรง 425 บาท เป็นต้น

ส่วนการเข้ามาของ “บิ๊กป้อม” ที่ใครต่อใครต่างพูดว่า ความขัดแย้งทุกอย่างจะสงบ เอาเข้าจริง ก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แกนนำหลายคนก็ยังแบ่งขั้วแบ่งข้างกันอยู่ ส่วนระดับรองๆ ลงมาก็ยังแย่งงานดูแลตรงนั้นตรงนี้เหมือนเคยในเมื่อมีทรัพยากรก้อนโตเป็นเดิมพัน

บทพิสูจน์ของ พปชร.ภายใต้บารมี “บิ๊กป้อม” จะได้เห็นกันจริงๆ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป และไม่รู้ว่า ส.ส.บางคนใน พปชร.ที่แข็งข้อ เดินแตกแถว หัวหน้าบางก๊กจะถูกหมายหัว มีสิทธิถูกดัดหลังไม่ส่งลงสนาม

ไม่ว่า ยุบสภา-รัฐประหาร-ตัดสิทธิ์ลงเลือกตั้ง ทุกสถานการณ์ นักการเมืองประมาท บิ๊กตู่-บิ๊กป้อมไม่ได้