เกษตรฯผุดเกณฑ์สหกรณ์ “กรรมการ”ต้องขึ้นทะเบียน

เกษตรฯผุดเกณฑ์สหกรณ์  “กรรมการ”ต้องขึ้นทะเบียน

“กรมส่งเสริมสหกรณ์”เล็งประกาศกฎกระทรวง บังคับกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์- เครดิตยูเนียนต้องผ่านหลักสูตรคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ พร้อมขึ้นทะเบียนหวังกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ ขณะ 86 สหกรณ์เจ้าหนี้หุ้นกู้การบินไทยตั้งคณะกรรมการเจรจาทีมฟื้นฟูแล้ว

นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ (คพช.)มีความเห็นให้กรมฯประสานกับชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทยและสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย จัดโครงการฝึกอบรมคณะกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศ เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสถาบันการเงิน ซึ่งทาง คพช. มีหลักสูตรอยู่แล้ว

ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแต่ละแห่ง ต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อให้กรรมการสหกรณ์ได้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาเพื่อศักยภาพด้านการบริหารจัดการ โดยในอีกไม่นานนี้จะมีประกาศกฎกระทรวง เรื่อง การกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ตามพ.ร.บ. สหกรณ์ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่จะรับตำแหน่งเป็นกรรมการต้องผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวแล้วขึ้นทะเบียนต่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ก่อน  โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ในฐานะ นายทะเบียนสหกรณ์สามารถกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า การกำหนดให้กรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนี่ยน ต้องผ่านการอบรมเรื่องการเงินก่อนนั้น เพราะสหกรณ์ทั้ง 2 ประเภทมีเงินหมุนเวียนในระบบสูงมาก ถึง 2.1-2.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 70% ของเงินหมุนเวียนในระบบสหกรณ์ขณะนี้ 3.3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีเงินหมุนเวียนอยู่ 2.5 ล้านล้านบาท

โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นของทุนเรือนหุ้น มูลค่าสินทรัพย์ อีกทั้งมีการปล่อยกู้มากขึ้นทำให้มีรายได้จากอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากสหกรณ์ทั้ง2 ประเภทที่ทำธุรกรรมทางด้านการเงินเป็นส่วนใหญ่ ได้กรรมการที่มีความรู้ทางด้านการเงินมาบริหารองค์กรจะส่งผลให้ลดความเสี่ยงลงไปได้

“ปัจจุบันไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ในคุณสมบัติของผู้สมัครคัดเลือกเป็นกรรมการ ใช้วิธีคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีเท่านั้น ซึ่งการกำหนดคุณสมบัติอย่างน้อยที่สุดให้ผ่านการอบรมด้านการเงินก่อน ก็จะเป็นผลดีกับการบริหารสหกรณ์”

 สำหรับปัญหา 86 สหกรณ์เจ้าหนี้หุ้นกู้ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขณะนี้ทางชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ และสันนิบาตสหกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อจะเจราจากับคณะกรรมการฟื้นฟูการบินไทยแล้ว ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมให้คำปรึกษาและเป็นพี่เลี้ยงให้ กรมส่งเสริมสหกรณ์สามารถเข้าไปวางแผนดำเนินการได้ เนื่องจากทั้ง86สหกรณ์เป็นนิติบุคคล

แต่ทั้งนีี้คาดว่าสหกรณ์ทั้งหมดจะมีแนวทางแล้ว  โดยต้องนัดไต่สวนและพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทย ใน วันที่ 17 ส.ค. นี้ก่อน จึงจะสามารถเดินหน้าเจรจาได้  ในการนี้หากคำสั่งศาลให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน จะมีกระบวนการในการจัดทำแผนฯ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ เพื่อกำหนดวิธีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แต่ละกลุ่ม 

สำหรับหุ้นกู้ของบริษัทการบินไทยทะยอยครบกำหนด ส.ค.-ก.ย.2563จำนวน 20 สหกรณ์วงเงิน 1,108 ล้านบาทปี 2564จำนวน 24 สหกรณ์ วงเงิน3,224.1ล้านบาทปี 2565 จำนวน 35 สหกรณ์ วงเงิน 4,971 ล้านบาทปี 2566 จำนวน 30 สหกรณ์ วงเงิน 3,349.5 ล้านบาท

ปี 2567 จำนวน 28 สหกรณ์ วงเงิน 3,445.1 ล้านบาทปี 2568 จำนวน32สหกรณ์ วงเงิน 5,201 ล้านบาทปี 2569 จำนวน 26สหกรณ์ วงเงิน2,070.2 ล้านบาทปี 2570 จำนวน27สหกรณ์ วงเงิน 2,518.6ล้านบาทปี 2571 จำนวน 41สหกรณ์ วงเงิน 5,608.8 ล้านบาทปี 2572จำนวน 19สหกรณ์ วงเงิน 3,789.5ล้านบาท

ปี 2573 จำนวน10สหกรณ์ วงเงิน956 ล้านบาทปี2574 ไม่มีกำหนดชำระคืน ปี 2575 จำนวน18สหกรณ์ 1,479.7 วงเงิน ล้านบาทปี 2576จำนวน21 สหกรณ์ วงเงิน1,170.7 ล้านบาทและปี 2577 จำนวน23สหกรณ์ วงเงิน3,292.8 ล้านบาท