'อาทิตย์ ประสาทกุล' เล่าเรื่องแอฟริกาผ่านงานศิลปะ

'อาทิตย์ ประสาทกุล' เล่าเรื่องแอฟริกาผ่านงานศิลปะ

ภาพเขียนเริ่มต้นที่ผืนผ้าใบว่างเปล่า งานสะสมของ "อาทิตย์ ประสาทกุล" ก็เริ่มต้นที่ผนังที่ว่างเปล่า ผลงานศิลปะร่วมสมัยของจิตรกรแอฟริกัน ไม่เพียงแต่งแต้มสีสันให้กับชีวิต หากยังเต็มเติมมิตรภาพจนไม่เหลือพื้นที่ว่างเปล่า

'ศิลปะ'ทำให้เราเป็นเพื่อนกัน คำกล่าวนี้ไม่เกินจริงเลย

อาทิตย์ เป็นข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศที่เคยไปประจำการที่ประเทศเคนย่าและโมซัมบิก เป็นนักเดินทาง เป็นนักเขียนที่มีมุมมองและถ้อยคำอ่านแล้วอบอุ่น และยังเป็นนักสะสมศิลปะร่วมสมัยของแอฟริกาตัวยง ฤกษ์งามยามสุริยคราสเขาเปิดโอกาสให้เราได้เข้าชมผลงานสะสมในบ้านพักที่กรุงเทพฯหลังจากติดตั้งผลงานลงตัวเสร็จหมาดๆ

เรื่องเริ่มต้นที่ผนังว่างเปล่านี่ล่ะครับ เขาบอกกับเราถึงที่มาของการสะสมผลงานศิลปะพร้อมชี้ไปยังภาพเขียนสีน้ำมันรูปใบหน้าบุคคลจำนวนมากมายท่ามกลางสีแดงที่ระคนไปด้วยสีเขียวและดำที่สะท้อนอารมณ์เหนือจริง ผลงานของศิลปินหญิงชาวเคนย่า Tabitha wa Thuku 

159397114934

อาทิตย์ ประสาทกุล กับผลงานของ Tabitha wa Thuku  งานศิลปะชิ้นแรกที่สะสม (รูปบนสุด)

 “ผมรู้สึกว่าบ้านต้องมีรูป ซึ่งไม่ใช่รูปอะไรก็ได้แต่ควรจะเป็นรูปที่มีคุณค่าทางใจ ตอนแรกไม่รู้จะเริ่มต้นที่ไหนเลยไปที่สมบัติเพิ่มพูนแกลลอรี่ ไปเห็นงานของอ.ชลูด นิ่มเสมอ เป็นรูปผู้หญิงผมบ๊อบผมชอบมากแต่ราคาก็สูงมากเลยคิดว่าเอาไว้ก่อน พอไปที่เคนย่าได้เจอกับผลงานชิ้นนี้จัดแสดงในแกลลอรี่แห่งหนึ่ง ชอบโทนสีของภาพตั้งใจว่าจะมีรูปนี้รูปเดียวสำหรับติดไว้ในบ้านตอนอยู่เคนย่า ไม่คิดว่าจะมีรูปที่สอง สาม สี่ ห้า ตามมาอีก”

ที่เคนย่าใครๆก็พูดถึง Tingatinga ด้วยความสนใจใคร่รู้นำไปสู่คอลเลคชั่นสะสมที่นำมาติดตั้งบนผนังทางขึ้นบันไดบ้านสามชั้นก็ยังเหลืออยู่อีกมาก เจ้าตัวยิ้มตาเป็นประกายขณะเล่าถึง Tingtinga   ว่าเป็นผลงานของศิลปินหลายๆรุ่นที่เริ่มต้นมาจาก Edward Saidi Tingatinga ชาวแทนซาเนียที่นำเอาเศษไม้ที่เคยใช้เป็นฝ้าเพดานเก่า บางทีก็เป็นเศษชิ้นส่วนของยางรถยนต์ นำมาเป็นพื้นผิวในการวาดภาพแทนผ้าใบ วาดรูปด้วยลายเส้นง่ายๆเล่าเรื่องสัตว์ป่าในซาฟารี รวมไปถึงความเชื่อและพิธีกรรมของชนเผ่า เพื่อขายนักท่องเที่ยว

159397133795

ภาพเขียนของ Tingatinga วาดรูปลงบนเศษไม้เก่าที่เคยเป็นฝ้าเพดานมาก่อน

159397146986

ลายเส้นที่เรียบง่ายแต่มีเสน่ห์ของ Tingatinga สะท้อนภาพชีวิตและความเชื่อของชาวแอฟริกัน

“ Tingatinga ไม่ได้มีคนเดียว หลังจากภาพของเขาได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็มีคนมาช่วยเขียนแล้วเซ็นชื่อ Tingatinga  ทำกันมาเป็นรุ่นๆ แต่ผมสนใจงานในยุคแรกๆมากกว่า พอมีเวลาว่างก็ไปดูตามแกลลอรี่ จนมาเจอที่แกลลอรี่ท้องถิ่นแห่งหนึ่งลองคุยเล่นๆว่ามีงานของ Tingatinga ยุคแรกหรือเปล่า เขาเลยพาเข้าไปห้องเก็บของมีงานอยู่กองหนึ่ง  เริ่มมาจากตอนนั้นเหมามาในราคา 2,500 เหรียญ รวม 20 รูป

ถามว่าชอบ Tingatinga  ตรงไหนตอนซื้อก็ไม่รู้นะว่าทำไม พอสิบปีผ่านไปถึงรู้ว่าเป็นเพราะเราชอบศิลปินที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ชอบงานที่วาดออกมาจากใจ เป็นศิลปินที่เรียกว่า Outsider หรือ ศิลปินคนนอกที่ไม่ได้เรียนตามทฤษฎี  anatomy perspective  Tingatinga  เป็นแบบนั้น” 

แต่ถ้าถามถึงศิลปินคนโปรดที่สุด คำตอบหยุดที่ Charles Sekano ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากระบบ Apartheid คนขาวพยายามแยกคนดำให้อยู่คนละสังคม มีสองชนชั้น จนต้องย้ายมาอยู่ที่เคนย่า

159397175840

159397177578

ผลงานของ Charles Sekano เจ้าของฉายาปีกัสโซ่แห่งทวีปแอฟริกา

“ผมอยากได้งานของเขามากภาพที่ชอบมีราคา 5,000 เหรียญรู้สึกไม่ไหว ภายหลังลูกสาวของเจ้าของแกลลอรี่มีปัญหากับหุ้นส่วน ติดต่อมาหาผมว่าอยากจะขายรูปให้ ในที่สุดจ่ายไป 3,000 เหรียญ ได้รูปที่ชอบมากพร้อมรูปอื่นหลายรูป ศิลปินคนนี้มีฉายาว่าเป็น

ปีกัสโซ่แห่งทวีปแอฟริกา เขาใช้ชีวิตแบบโบฮีเมี่ยน เล่นดนตรีแจ๊ส วาดรูปและเป็นกวี เขาชอบวาดรูปผู้หญิงผิวต่างสีอยู่ด้วยกัน”

คราวนี้มาถึงผลงานที่ทำให้หวั่นไหวในขณะนี้ จะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก Frederic Bruly Bouabre ศิลปินโกตดิวัวร์ (Côte d'Ivoire) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไอวอรีโคสต์

“เขาเป็นศิลปินที่ได้รับการศึกษาจากอาณานิคมฝรั่งเศส เขาทำงานเป็นเสมียน อยู่ดีๆเหมือนเกิดนิมิตว่าเขาเป็นคนที่พระเจ้าส่งมาเพื่อให้มาปลดปล่อยคนในเผ่า เขาจึงคิดสร้าง alphabet ให้ภาษาพูดของเผ่า วาดรูปและเขียนความคิดลงในกระดาษแผ่นขนาดโปสการ์ด"

159397193993

159397197863

sketchbook ของ Frederic Bruly Bouabre

"ชอบในความเป็นปราชญ์ที่เขาพูดความเป็นสากล เช่น ภาพในคอลเลคชั่นรูปธงของทุกประเทศ เขาจะเขียนบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นคนประเทศไหนเวลาก้มมองในน้ำก็เห็นเงาตัวเองทั้งนั้น  หรือ ภาพผู้หญิงอุ้มลูก เขาจะเขียนว่า ในหัวใจของคนเป็นแม่มีความสุขเมื่อได้อุ้มลูก คือเขาจะพูดว่าโลกนี้มันไม่มีอะไรแตกต่างหรอกคนผิวสีดำ สีม่วง หรือสีขาว ล้วนมีความสุขเมื่อได้อุ้มลูกเหมือนกัน  ผมอินกับเขามาก ล่าสุดกัดฟันซื้อsketchbook เล่มสุดท้ายก่อนเขาเสียชีวิตเอาไว้ด้วย”

นอกจากผลงานจิตรกรรมแล้ว อาทิตย์ยังสะสมงานแกะสลักจากไม้ขาวที่ชาวโมซัมบิกเรียกว่า ชิเคเลเกดานา ผลงานของ Dino Jetha ที่ถ่ายทอดชีวิตประจำวันของชาวโมซัมบิกได้อย่างมีสีสันและแฝงไปด้วยอารมณ์ขัน

159397204657

ชิเคเลเกดานา ผลงานของ Dino Jetha

159397213137

บ้านในฝันขอคนไม่หยุดฝัน

ประติมากรรมบ้านในฝันที่ทำจากเศษไม้ของอับดุลที่แบกมาขายในวันที่ไปรับลูกที่โรงเรียน ผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงจินตนาการของมนุษย์ที่ไม่ยอมหยุดฝัน ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานสะสมของอาทิตย์ที่เขาตั้งใจนำกลับมาบ้านที่เมืองไทย เพื่อให้ศิลปะทำหน้าที่บอกเล่าถึงแอฟริกาในมุมที่เขาได้สัมผัส

“คนไทยรู้จักประเทศในยุโรป เอเชียเป็นอย่างดีเพราะเราติดต่อค้าขายกันมานาน แม้กระทั่งอเมริกาใต้ก็มีแหล่งท่องเที่ยว กาแฟ และนักฟุตบอลที่คนไทยรู้จัก แต่พอพูดถึงแอฟริกาหลายคนรู้สึกว่างเปล่า ผมรู้สึกว่าเมื่อมีโอกาสก็อยากจะให้ทุกคนรู้จักแอฟริกาโดยผ่านงานศิลปะ

ผมคิดว่างานศิลปะเป็นสื่อที่ทำให้คนเห็นภาพแอฟริกาได้ชัดขึ้น ควบคู่ไปกับงานเขียนซึ่งผมพยายามเล่าผ่านตัวหนังสือทั้งในเฟซบุ๊คและจัดพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค (Out in Africa , แอมะซอนบำบัด และการเดินทางครั้งนี้ไม่ธรรมดา)

ในเมื่อมาทางนี้แล้วก็อยากจะเปิดให้ผู้สนใจเข้าชมผลงานศิลปะเพื่อให้ทำความรู้จักกับแอฟริกามากขึ้น โดยมีศิลปะเป็นตัวเชื่อม”

ทั้งนี้ผู้สนใจเข้าชมผลงานศิลปะสามารถนัดหมายเข้าชมได้ทางไลน์ ไอดี : tihtra

จากจุดเริ่มต้นที่อยากแต้มสีสันให้กับผนังที่ว่างเปล่า นำไปสู่เรื่องราวของความรักในงานศิลปะแอฟริกา มาถึงวันนี้ ผลงานศิลปะได้ครบครองพื้นที่ผนังทุกแห่งในบ้านไปเรียบร้อยแล้ว 

โปรดอย่าถามถึงพื้นที่ว่างเปล่า