ส่งออกพึ่งตลาดจีน-อาเซียน 'สรท.' ห่วง 3 ปัจจัยกดดันครึ่งปีหลัง

ส่งออกพึ่งตลาดจีน-อาเซียน 'สรท.' ห่วง 3 ปัจจัยกดดันครึ่งปีหลัง

สรท.ประเมินแนวโน้มส่งออกไทยครึ่งปีหลังทรงตัว เผชิญผลกระทบโควิดต่อเนื่อง หวังพึ่งตลาดจีน-อาเซียนเริ่มฟื้นตัว หลังการระบาดคลี่คลาย

การส่งออก 5 เดือน แรกของปี 2563 มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.71% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว ในขณะที่หลายฝ่ายประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องดูปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากการส่งออกเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งสถิติที่ออกมาค่อนข้างชัดเจนถึงผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดหลักส่งออกของไทยที่ติดลบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดจีนที่ยังขยายตัวได้

รวมทั้งทำให้สินค้าส่งออกติดลบเกือบทุกรายการจะมีเพียงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและกลุ่มอาหาร ผัก ผลไม้ ที่เป็นบวก ซึ่งการส่งออกที่ติดลบมาจากสถานการณ์โควิดส่งผลต่อความมั่นใจของรายได้กระทบต่อกำลังซื้อ เพราะผู้บริโภคตกงานหรือบางคนได้รับเงินช่วยเหลือแต่ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด

ส่งออกไตรมาส 3 ทรงตัว

การล็อกดาวน์ที่ต่างกันในแต่ละประเทศทำให้ในไตรมาส 3 คาดว่าการส่งออกยังอยู่ในภาวะทรงตัว โดยในไตรมาส 3 แม้จะมีคำสั่งซื้อมาแต่ก็ไม่ได้มาก เช่น กลุ่มเกษตรอาหาร สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนและส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ น่าจะส่งออกเพิ่มได้ในช่วงครึ่งหลังของปีเพราะธุรกิจเริ่มกลับมาบ้างแล้ว

รวมทั้งหากสถานการณ์การติดเชื้อลดลงจะส่งผลดีในไตรมาส 4 ฟื้นตัวขึ้นมาในบางกลุ่มฟื้นขึ้นมาบ้าง แต่คงไปชดเชยสินค้าส่งออกในกลุ่มสำคัญไม่ได้

ทั้งนี้ หากพิจารณารายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา คือ ยางพารา แม้จะใช้ยางพาราไปผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือทางการแพทย์ สายยางรัด แต่ไม่มีปริมาณมากเมื่อเทียบกับการนำไปผลิตยางล้อรถยนต์ ซึ่งการส่งออกยานยนต์ยังคงเป็นส่วนที่ได้รับกระทบมากและมีสัดส่วนการส่งออกมาก

ครึ่งปีหลังพึ่งตลาดเอเชีย

นายวิศิษฐ์  กล่าวว่า สรท.ประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง เมื่อพิจารณารายตลาดคาดว่าตลาดในกลุ่มเอเชียมีโอกาสกลับมาพลิกฟื้นได้เพราะเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่ม นำโดยตลาดจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อาเซียนที่ในช่วง 5 เดือน แรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ 0.2% รวมถึงตลาดสหรัฐด้วยที่มีโอกาสขยายตัว หลังจากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ยังขยายตัวได้ 0.3%

สำหรับด้านตลาดจีนมีแนวโน้มเติบโตได้ดี โดยเห็นได้จากการส่งออกไปจีนมีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา และเดือน พ.ค.การส่งออกไปจีนขยายถึง 15.3% รวม 5 เดือน แรกของปีนี้ ขยายตัว 4.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็ง และแห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และรถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นผลจากที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ 

ส่วนตลาดที่น่ากังวลในช่วงครึ่งปีหลัง คือ ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ติดลบไปแล้วถึง 16.3%

3ปัจจัยกดดันส่งออกครึ่งปีหลัง

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่จะกดดันการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบด้วย 

1.การระบาดของโควิด-19 ที่อาจกลับมารอบสอง ซึ่งประเทศไหนที่มีการระบาดรอบ2ก็ถือเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงทันทีเพราะจะเป็นการซ้ำเติม จากที่ครั้งแรกที่ทำให้เศรษฐกิจทรุด กำลังซื้อหดหายก็ยิ่งจะทำให้กำลังซื้อหายไปอีก

แต่หากว่าในช่วงปลายปีมีข่าวดีเรื่องวัคซีนก็จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคส่งผลให้กำลังซื้อเพิ่มได้ และธุรกิจเริ่มมั่นใจที่จะดำเนินธุรกิจต่อ อีกด้านคือการเดินทางระหว่างประเทศมีมากขึ้นทั้งนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว งานแสดงสินค้า การเจรจาธุรกิจ การลงทุนในประเทศไทย

2.ค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง และส่งผลให้ไม่สามารถสู้ได้ในเรื่องของราคาสินค้าซึ่งไม่สามารถประเมินได้ว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไหน เนื่องจากต้องดูการหมุนเวียนของตลาดเงินโลกจะไปในทิศทางใด นโยบายการเงินของแต่ละประเทศ จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน หากว่าอัดฉีดเงินสู่ระบบมากแต่เงินไม่ไปไหนก็จะเข้ามาในประเทศที่ควบคุมโควิด-19ได้ดี ซึ่งก็คือประเทศไทยก็เป็นจุดหมายปลายของนักลงทุน

3.สงครามการค้าที่ต้องจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐช่วงปลายปี เพราะหากเลือกตั้งสหรัฐเสร็จสิ้น ปัญหาสงครามการค้าอาจคลี่คลายลงไม่ว่านายโดนัล ทรัมป์หรือใครจะชนะเลือกตั้ง

“สรท.ยังไม่ได้ปรับประมาณการณ์เป้าการส่งออกปี 2563 โดยอยู่ที่ติดลบ 8% แต่โอกาสที่ตัวเลขจะติดลบ 2 หลักก็มี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดที่จะกลับมาระลอก2หรือไม่และจะสามารถควบคุมได้มากน้อยแค่ไหน”