‘กำลังซื้อ’ วูบหนัก โจทย์หินที่ต้องเร่งแก้

‘กำลังซื้อ’ วูบหนัก โจทย์หินที่ต้องเร่งแก้

ภาพกำลังซื้อที่กำลังวูบหนักในขณะนี้ สะท้อนจากการหดตัวของเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และเป็นสัญญาณของภาวะเงินฝืด นับว่าเป็น "โจทย์ใหญ่" ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข เพราะหากปล่อยให้เป็นไปแบบนี้ เศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้นภาวะ "ซึมยาว" เป็นรูปตัวแอล

แม้รัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์สถานที่เสี่ยงสำคัญๆ จนเรียกได้ว่าทุกอย่างเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ แม้จะเป็นความปกติใหม่ที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่ได้ดีขึ้นมากนัก ที่กล่าวมานี้ไม่ได้มาจากความรู้สึก แต่มาจาก “ตัวเลข” ที่หลายๆ หน่วยงานประกาศออกมา เริ่มตั้งแต่ตัวเลขผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงานและผู้ถูกเลิกจ้างในระบบประกันสังคมที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดแตะระดับ 3.3 แสนคน หรือเกือบ 3% ของจำนวนผู้มีสิทธิรับสวัสดิการ

ในจำนวน 3.3 แสนคนนี้ มีราวๆ 1.1 แสนคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน ถูกเลิกจ้างในเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกที่รัฐบาลเริ่มทยอยคลายล็อกดาวน์ ที่สำคัญตัวเลขนี้นับเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้น จึงเชื่อได้ว่ายังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่เผชิญปัญหาการว่างงาน แต่ไม่ได้ถูกนับรวม

นอกจากนี้หากดูชั่วโมงการทำงานที่หายไปจากการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 จะเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า แม้ภาครัฐเริ่มทยอยคลายล็อกดาวน์ แต่จำนวนบริษัทที่ขอปิดกิจการชั่วคราวยังคงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานที่ลดลงต่อเนื่อง ตัวเลขเหล่านี้ยังต้องตามดูกันต่อในเดือน มิ.ย. เพราะเป็นเดือนที่รัฐบาลเริ่มคลายล็อกดาวน์ชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากดูตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. พบว่ายังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย. "หดตัว" ติดกันเป็นเดือนที่ 4 ที่ 1.57% แม้จะเริ่มดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 3.44% และตัวเลขที่สำคัญอีกตัว คือ "เงินเฟ้อพื้นฐาน" ซึ่งในเดือน มิ.ย. "หดตัว" 0.05% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 128 เดือน หรือเกือบๆ 11 ปี ตัวเลขนี้สะท้อนชัดเจนว่า "กำลังซื้อ" ของคนในประเทศยังอ่อนแอหนัก

ตัวเลข "เงินเฟ้อพื้นฐาน" ที่หดตัวครั้งแรกในรอบเกือบ 11 ปี เป็นผลจากสถานการณ์โควิด ซึ่งทำให้การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนทั่วไปยังเต็มไปด้วยความระแวดระวัง ยังไม่กล้าใช้สอยอย่างเต็มที่ เพราะไม่มั่นใจว่าการระบาดจะกลับมาอีกหรือไม่ ส่วนใหญ่จึงเน้นเก็บออมไว้ก่อน ส่วน "เงินเฟ้อทั่วไป" เดือน มิ.ย.ที่หดตัวน้อยลงเหลือ 1.57% เป็นผลจากราคาพลังงานที่ติดลบน้อยลงเช่นกันที่ 11.89% เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งติดลบหนักราว 27.38% โดยราคาพลังงานที่หดตัวลงนี้ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดหดตัวชะลอลงด้วย

การหดตัวของเงินเฟ้อพื้นฐานในมุมของนักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ถือว่าดูไม่ดีนัก เพราะนอกจากจะสะท้อนภาพกำลังซื้อของคนที่อ่อนแอ ยังเป็นสัญญาณของ "ภาวะเงินฝืด" ด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็น "โจทย์ใหญ่" ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข หากปล่อยให้เงินเฟ้อไม่ว่าจะทั่วไปหรือพื้นฐานติดลบเช่นนี้ คนส่วนใหญ่ก็คงไม่รีบซื้อสินค้า เพราะเชื่อว่าราคาในอนาคตจะถูกลงอีก ผู้ประกอบการเองก็ไม่มีแรงจูงใจในการผลิตสินค้าออกขาย เพราะผลิตออกมาก็ต้องขายในราคาที่ถูกลง ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจไทยคงหนีไม่พ้นภาวะ "ซึมยาว" เป็นรูปตัวแอล เรื่องนี้จึงเป็นโจทย์หินที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ