'สทท.' หวั่นธุรกิจท่องเที่ยวปิดตัวถาวร ขาดรายได้ต่างชาติจุนเจือครึ่งปีหลัง

'สทท.' หวั่นธุรกิจท่องเที่ยวปิดตัวถาวร ขาดรายได้ต่างชาติจุนเจือครึ่งปีหลัง

“สทท.” หวั่นครึ่งปีหลังธุรกิจท่องเที่ยวปิดกิจการถาวรมากขึ้น หากพ้นโปรโมชั่นพักจ่ายต้นลดดอกเบี้ย หลังขาดรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาจุนเจือจนไปต่อไม่ไหว

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งครองสัดส่วนรายได้เกือบ 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันยังไม่ได้รับการเยียวยาด้านการเงินอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีพยายามขอกู้มาสู้ต่อ ใช้หมุนเวียนในธุรกิจ แต่ในสถานการณ์ที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ขาดรายได้มาจุนเจือ มองว่าสุดท้ายแล้วอาจจะไปต่อไม่ไหว

“กังวลว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะมีการปิดกิจการถาวรเพิ่มขึ้น หากหมดโปรโมชั่นพักต้นลดดอกเบี้ย เพราะธุรกิจหลายรายยังไม่มีรายได้เข้ามา จึงไม่มีปัญญาเอาเงินไปผ่อนแบงก์ อย่างตอนนี้ก็เริ่มมีการติดตามหนี้แล้ว ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงมาก”

ทั้งนี้จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวจำนวน 770 ราย ระหว่างวันที่ 10-25 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าในไตรมาส 3 นี้ ผู้ประกอบการ 8% คาดว่าจะลดพนักงาน จึงคาดการณ์ว่าจะมีแรงงานถูกให้ออก 2.4% หรือคิดเป็นประมาณ 1 แสนคนจากแรงงานภาคท่องเที่ยวทั้งระบบ และที่น่าติดตามคือผู้ประกอบการ 30% ยังไม่ตัดสินใจว่าจะปลดพนักงานหรือไม่ ยังรอดูนโยบายจากทางภาครัฐและความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อน

นอกจากนี้หากผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดกิจการได้อีกครั้งในไตรมาส 3 หรือกลไกทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า คาดว่าจะมีสัดส่วนของการลดพนักงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น จากไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีแรงงานภาคท่องเที่ยวที่ไม่มีงานทำชั่วคราวประมาณ 2.6 ล้านคนและกำลังรอการตัดสินใจจากนายจ้างว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ เนื่องจากระยะเวลาในการชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมเหตุเนื่องจากถูกสั่งให้ปิดกิจการเพราะโควิด-19 ครบกำหนด 3 เดือนในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา

“ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าจ้างพนักงาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดต้นทุนต่างๆ ในการดำเนินกิจการ รวมทั้งการลดจำนวนพนักงานด้วยนั่นเอง”

ส่วนใหญ่สถานประกอบการจะจ้างแรงงานภาคท่องเที่ยวเป็นรายวันหรือรายชั่วโมง เมื่อถามถึงผู้ประกอบการถึงแนวโน้มที่จะลดค่าจ้างหรือเงินเดือนหลังจากวิกฤติโควิด-19 ผ่านพ้นไป พบว่าผู้ประกอบการ 7% มีแผนที่จะลดค่าจ้างหรือเงินเดือน โดยธุรกิจสวนสนุกและธีมพาร์คมีสัดส่วนการลดค่าจ้างของพนักงานมากที่สุด 17% รองลงมาคือธุรกิจนำเที่ยว 12% และธุรกิจขนส่ง 7% ขณะที่ผู้ประกอบการเกือบครึ่งตอบว่ายังไม่แน่ใจ ยังรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และรอฟังนโยบายจากภาครัฐก่อน

นายชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการประเมินผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่าทุกประเภทธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ลดลงในระดับสูงมากที่ 81-100% เมื่อเทียบกับผลประกอบการในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว โดยธุรกิจสถานบันเทิง ธุรกิจนวดและสปา ลดลง 100% ธุรกิจนำเที่ยวลดลง 96% ธุรกิจขนส่งลดลง 85% ธุรกิจสวนสนุกและธีมพาร์คลดลง 81% ธุรกิจร้านอาหารลดลง 69% ธุรกิจที่พักแรมลดลง 61% และธุรกิจสินค้าที่ระลึกลดลง 50%

นอกจากนี้การสำรวจยังพบว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การลดลงของลูกค้าและการลดลงด้านรายได้ของผู้ประกอบการอยู่ในระดับสูงมากที่ 5.6 คะแนนจากเต็ม 6 คะแนน และขาดสภาพคล่องทางการเงินในระดับค่อนข้างสูงที่ 5.3 คะแนน ส่วนผลกระทบต่อการลดค่าจ้างและการลดจำนวนพนักงานในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการประเมินอยู่ในระดับค่อนข้างน้อยที่ 2 คะแนน เนื่องจากเป็นไตรมาสที่มีการหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ และลดกิจกรรมที่อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อ