เอกชนห่วงตกขบวน CPTPP ทำ 'ทุนเทค' หันลุยเวียดนาม

เอกชนห่วงตกขบวน CPTPP ทำ 'ทุนเทค' หันลุยเวียดนาม

สอท.ห่วงไทยพลาดร่วม CPTPP ปีนี้ ทำความน่าสนใจลงทุนเปลี่ยน ผวาทุนเทคโนโลยีใหม่หันตั้งฐานในเวียดนามเหตุมีข้อตกลงการค้ามากกว่าเพิ่มโอกาสซับพลายเชนและการตลาด ด้านหอการค้า ระบุยิ่งช้ายิ่งเจรจายาก

ความเห็นต่างต่อการที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)นั้น ยังต้องถกเถียงต่อไป อย่างน้อยหากรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญซีพีทีพีพี ที่ได้รับการแต่งตัั้งเมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา และกำลังจะขออนุมัติขยายเวลาการทำงานออกไปอีก 60 วันจากกำหนดเดิม 30 ซึ่งจะครบกำหนดต้นเดือนก.ค.นี้ 

หากเป็นกำหนดเวลาเดิม เมื่อข้อสรุปได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ก็จะทันกำหนดการประชุมคณะกรรมาธิการซีพีทีพีพีที่จะมีขึ้น 5 ส.ค.นี้ ซึ่งเป็นกำหนดเวลาเปิดรับสมัครสมาชิกใหม่ อย่างไรก็ตาม หากไม่ทันกำหนดส่งใบสมัครปีนี้ แต่สามารถดำเนินการได้ในปีหน้า นั้นช่วงเวลาหนึี่งปีหลังจากนี้ ถ้าไม่นับรวมผลดีจากการพิจารณาที่รอบด้านมากขึ้น และผลเสียที่นอกจาก“เวลา”แล้วยังมีปัจจัยอื่นต้องพิจารณาอีก

นายสุพันธุ์ มงคลสธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ซีพีทีพีพี เป็นเรื่องที่สำคัญกับไทยมาก หากไทยไม่เข้าร่วม ซีพีทีพีพี ในครั้งนี้จะทำให้ศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนลดลงไปมาก และไม่สามารถสู้กับคู่แข่งอื่นๆในอาเซียนโดยเฉพาะเวียดนามได้

เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แนวคิดในการลงทุนของโลกได้เปลี่ยนไป จากเดิมที่บริษัทขนาดใหญ่จะไปซื้อชิ้นส่วนที่มีราคาต่ำสุดจากประเทศต่างๆ แล้วนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่จีนหรือประเทศอื่นๆ ไปเป็นการเน้นซื้อชิ้นส่วนภายในประเทศแล้วผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปในที่เดียว เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขนส่งระหว่างประเทศติดขัด เนื่องจากการปิดท่าเรือ ปิดเส้นทางการบิน ปิดเมือง ทำให้การผลิตหยุดชะงัก

ดังนั้น เพื่อความมั่นคงในการผลิต บริษัทจากประเทศลงทุนรายใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ และยุโรป บางส่วนต่างเตรียมที่จะย้ายฐานการผลิตเพื่อ เปลี่ยนระบบซัพพลายเชนจากประเทศจีนไปลงทุนไว้ในประเทศอื่น เพื่อลดความเสี่ยงจากโลจิสติกส์ระหว่างประเทศติดขัด และลดผลกระทบจากสงครามการค้า ที่จะรุนแรงมากขึ้น 

โดยจะเลือกลงทุนประเทศที่ได้รับผลตอบแทนสูงสุด ซึ่งหนึ่งในประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ คือ ข้อตกลงการค้าเสรี ประเทศใดมีข้อตกลงการค้าเสรีมากกว่าก็มีความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนสูงกว่า เพราะนักลงทุนจะมีช่องทางส่งออกสูงขึ้น โดยเฉพาะข้อตกลง ซีพีทีพีพี ที่ประเทศนักลงทุนรายใหญ่ของไทยอย่างญี่ปุ่น ก็พยายามผลักดันให้ไทยเข้าสู่ข้อตกลงนี้

ห่วงอุตฯไฮเทควางฐานเวียดนาม

ทั้งนี้ หากไทยพลาดในการเข้าสู่ข้อตกลง ซีพีทีพีพี ก็จะทำให้ศักยภาพดึงดูดการลงทุนสู้กับประเทศเวียดนามได้ยาก ซึ่งจะทำให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หากมี 1 โรงงานย้ายเข้าไปตั้งฐานการผลิต ผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่นๆก็จะย้ายตามเข้าไปด้วย ส่วนฐานการผลิตเดิมของไทยอาจจะยังคงอยู่ แต่อุตสาหกรรมใหม่ๆจะไม่เข้ามา ซึ่งจะทำให้ศักยภาพของไทยลดลงเรื่อยๆ

“หากไทยไม่เข้าร่วม ซีพีทีพีพี เวียดนามจะไปได้เร็วกว่าไทยมากขึ้น และทิ้งห่างด้านการลงทุนออกไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เวียดนามจะทิ้งห่าง ประเทศมาเลเซีย ที่เข้าร่วม ซีพีทีพีพี ก็จะยิ่งได้เปรียบไทย รวมทั้งยังทำให้ไทยผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้ยากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม หากไทยเข้าร่วม ซีพีทีพีพี ก็จะทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น และก่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระดับอุตสาหกรรมในภาพรวมให้สูงตามขึ้นไปด้วย เห็นได้จากในอดีตที่ไทยดึงดูดบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายรายเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยได้ ก็ทำให้เกิดการร่วมลงทุนในการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ และขยายไปสู่ผู้ผลิตชาวไทยที่เป็นเอสเอ็มอีให้มีเทคโนโลยีฝีและฝีมือผลิตชิ้นส่วนป้อนบริษัทผลิตรถยนต์ระดับโลกเหล่านี้ได้ จนทำให้รถยนต์ที่ผลิตในไทยใช้ชิ้นส่วนส่วนใหญ่ที่ผลิตภายในประเทศ

“การที่ไทยเข้าร่วม ซีพีทีพีพี จะยิ่งทำให้ได้เปรียบประเทศอื่นมาก เพราะไทยเป็นฐานการลงทุนมายาวนาน มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่หลากหลาย มีผู้ผลิตในซัพพลายเชนต่างๆเป็นจำนวนมาก นักลงทุนเข้ามาในไทยสามารถตั้งฐานการผลิตได้เลย" 

ส่วนบางชิ้นส่วนที่ไทยผลิตไม่ได้คาดว่าจะมีการย้ายฐานการลงทุนเข้ามา หากไทยเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีก็จะยิ่งทำให้ซัพพลายเชนของไทยแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งหากนักลงทุนต้องไปตั้งโรงงานในประเทศอื่น จะลำบากมากกว่า และใช้เงินลงทุนที่มากกว่า

หอการค้าชี้ยิ่งช้ายิ่งเจรจายาก

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าไทยพลาดการเข้าร่วมเจรจาในปีนี้ก็ทำให้ช้าไปอีก 1 ปี และทำให้ไทยเสียโอกาสในการเข้าเป็นสมาชิก อีกทั้งหากในการประชุมสมาชิกซีพีทีพีพีในวันที่ 5 ส.ค.ปรากฏว่ามีประเทศอื่นยื่นเข้าร่วมเจรจาซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะมีหรือไม่ หรือมีกี่ประเทศ การที่ไทยจะเข้าร่วมเจรจาก็ต้องใช้ระยะเวลามากขึ้นเพราะต้องไปเจรจากับประเทศที่เข้าร่วมอื่นๆเพิ่มอีก 

างสาวกัญญภัคตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า หากไทยไม่ได้แสดงความจำนงเข้าร่วมเจรจาทันในรอบนี้ ก็คงไม่ส่งผลกระทบด้านการส่งออกของไทย เพียงแต่การหากเข้าร่วมเจราจาได้ทันในปีนี้เป็นแสดงให้เห็นว่าไทยพร้อมเข้าร่วมเจรจาเพื่อขอเป็นสมาชิก แต่หากพลาดปีนี้ไปก็เท่ากับว่าเสียเวลาไปอีก 1 ปี ซึ่งขั้นตอนไม่ใช่แค่การยื่นใบสมัครแต่ต้องรอการพิจารณาของที่ประชุมสมาชิกซีพีทีพีพีว่าจะเห็นชอบหรืออนุมัติให้ไทยเข้าร่วมเจรจาหรือไม่

จับตาเลือกตั้งสหรัฐ 

การที่เอกชนสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมการเจรจาซีพีทีพีพีเนื่องจากเป็นการมองไปในอนาคตเกี่ยวกับการค้าของไทย อีกทั้งสมาชิกซีพีทีพีพีในปัจจุบันไม่มีสหรัฐเป็นสมาชิกแล้ว แต่หากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ตัวแทนพรรคเดโมเครตได้รับเลือกมาเป็นประธานาธิบดี ก็อาจมีนโยบายกลับมาเข้าร่วมซีพีทีพีพีอีก เพราะก่อนหน้าที่นี้พรรคดังกล่าวมีต้องการเป็นสมาชิกซีพีทีพีพีอยู่แล้ว ประกอบกับขณะนี้สหรัฐก็มีปัญหาด้านการค้ากับหลายประเทศ จึงต้องการที่จะทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรและอาจต้องการกลับเข้าร่วมซีพีพีทีพีพีอีกครั้ง ซึ่งหากเป็นจริงก็เป็นเรื่องยากที่ไทยจะเข้าร่วมเจรจา หากเราเข้าไปตอนนี้ก็มีไม่มีกี่ประเทศที่เราต้องเจรจา

“แม้ไทยพลาดโอกาสในรอบนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการส่งออก แต่มองว่าเป็นการเสียโอกาสมากกว่า แม้แต่บริษัทใหญ่ก็แสวงหาโอกาสและความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ซึ่งหากไทยไม่หาความร่วมมือใหม่ๆ ในสถานการณ์การค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงเราก็จะเสียเปรียบ”

นางสาวกัญญภัค กล่าวว่า การที่ซีพีพีทีพีพีขณะนี้ไม่มีสหรัฐ การเติบโตของตลาดการค้าหรือการเจรจาอาจจะดีกว่าที่มีสหรัฐ ถ้ายิ่งไทยเข้าช้า โอกาสการต่อรอง การเจรจา เงื่อนไขต่างๆก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก

ส่วนสาเหตุที่ทำให้การตัดสินใจเข้าร่วมซีพีพีทีพีพีของไทยล่าช้า เป็นเพราะมีเรื่องการเมืองเข้าเกี่ยวข้องนั้นไม่ทราบแต่ในช่วงที่ผ่านมาการพูดคุยเรื่องเศรษฐกิจของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลก็มีความขัดแย้งกันรวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าความขัดแย้งด้านนโยบายเศรษฐกิจจะบานปลายไปมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องกลับมาบริหารจัดการด้านซัพพลายเชนใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยจะขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศที่มีความพร้อมด้านซัพพลายเชน

ดังนั้น การที่ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องซัพพลายเชนสูงมาก จึงทำให้มีความได้เปรียบมากกว่าประเทศอื่น เพราะบริษัทญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนในไทยมายาวนาน

 รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับสาเหตุที่กรรมาธิการวิสามัญขอเลือกกำหนดเวลาพิจารณาเนื่องจาก มีข้อมูลต้องพิจารณาจำนวนมาก จึงแบ่งตั้งอนุกรรมการออกเป็น 3 ชุดได้แก่1. คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข2. คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการเกษตรและพันธุ์พืช3. คณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน