'5L' กลยุทธ์ปรับองค์กร รับยุค New Normal

'5L' กลยุทธ์ปรับองค์กร รับยุค New Normal

ส่องโมเดล "5L" กลยุทธ์การปรับองค์กรในยุค New Normal จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ พร้อมท้าชนโควิด-19

แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อจะทำให้วางใจอันร้อนรุ่มลงได้บ้าง แต่ก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้เลยว่าตัวเลขด้านเศรษฐกิจจะดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยคงต้องใช้เวลาในการเยียวยาผ่าตัดกันอีกสักพักใหญ่ กว่าจะกลับมาอยู่ที่ระดับเดิมได้

เพราะผลกระทบจากปรากฏการณ์ New Normal ทั้งหลายแหล่ ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างปฏิเสธไม่ได้ วิธีการในการปรับตัวจึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ เพราะต่อให้คิดจะปรับตัว แต่ถ้า “ปรับผิดวิธี” ก็คงเท่านั้น หรืออาจจะยิ่งฉุดรั้งให้ธุรกิจโดนโควิด-19 กลืนกินเร็วขึ้นไปอีก

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงออก "โมเดล 5L" ซึ่งเป็น "กลยุทธ์การปรับองค์กรในยุค New Normal" นี้ที่จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ พร้อมท้าชนโควิดให้พ่ายแพ้ไปในการต่อสู้ครั้งนี้

ประการที่หนึ่ง คือ Lean ทุกส่วนงานต้องมีฟังก์ชั่นการทำงานชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ส่วนไหนไม่จำเป็นอีกต่อไปในสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องตัดทิ้งไปเสียให้หมด เสมือนกับการตัดไขมันส่วนเกินที่คอยแต่จะถ่วงให้องค์กรอ่อนแอ หายใจลำบาก และวิ่งต่อไปข้างหน้าได้ช้าลง

จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรมีการลดพนักงานในส่วนที่ไม่จำเป็นออก ในมุมของพนักงานเองก็ต้องหมั่นสำรวจว่าตนเองเป็นเพียง Fat ที่รอวันโดนเฉือนทิ้ง หรือกล้ามเนื้อที่องค์กรต้องการมาช่วยเติมพลังขับเคลื่อนองค์กรกันแน่

พลัง L ประการที่สอง ได้แก่ Learn ผู้นำต้องสามารถเรียนรู้จากสภาวะรอบตัวและปรับกลยุทธ์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆเข้ามาปรับใช้ ทั้งที่เกิดขึ้นในโลกออฟไลน์และออนไลน์ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้แบบ Lifeline Learning ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารองค์กรให้รอดพ้นสถานการณ์ในครั้งนี้ไปได้

นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องมี Linkage เพราะในโลกธุรกิจไม่มีใครสามารถจะอยู่รอดหรือเติบโตได้เพียงคนเดียว ผู้นำที่ดีจึงต้องมีความสามารถในการสร้าง Connection ที่แข็งแรงทั้งในแนว Horizontal ซึ่งเป็นการสร้างความสัมพันธ์ในแนวราบระหว่างองค์กรระดับเดียวกัน

ซึ่งเรื่องพวกนี้ธุรกิจขนาดเล็กเองก็สามารถทำได้ เช่น การร่วมมือระหว่างร้านอาหารตามสั่งในซอยกับวินมอเตอร์ไซด์ในละแวกนั้น เพื่อรับออเดอร์เดลิเวอรี่จากคนในซอย เป็นต้น รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ในแนว Vertical ที่เป็นการผนึกกำลังตลอดห่วงโซ่ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ หากองค์กรสร้าง Linkage ได้ดีทั้ง 2 รูปแบบ ก็จะสามารถดึงศักยภาพจากพันธมิตรแต่ละรายมาใช้เพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้กับองค์กรของตนต่อไปได้

ประการถัดมา คือ Liquidity หรือการรักษาสภาพคล่องให้กับธุรกิจ การบริหารเงินทุนหมุนเวียนและกระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน การลงทุนที่ใช้เม็ดเงินมหาศาลจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้น เพราะเงินสดในมือกลายเป็นสิ่งที่มีค่าชี้เป็นชี้ตายธุรกิจได้ “พูดง่ายๆก็คือ ณ เวลานี้ Cash is King”

ส่วน L ตัวสุดท้ายที่อยากให้ทุกธุรกิจให้ความสำคัญ คือ Long Term การตัดสินใจอะไรในช่วงเวลานี้ต้องคิดเผื่ออนาคตด้วย อย่าตัดสินใจอะไรผลีผลาม องค์กรควรมีการวางแผนระยะยาว มองข้ามช็อตออกไปให้ได้หลาย ๆScenario ทั้งในกรณีที่สถานการณ์ออกมาดีและไม่ดี ว่าจะมีแผนงานอย่างไรต่อ

เพราะฉะนั้น อยากให้องค์กรหยิบแนวคิด 5L ดังกล่าวข้างต้นไปใช้ในการปรับตัว เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในครั้งนี้ให้ได้มากที่สุด อย่ารอให้สูญเสียไปมากกว่านี้แล้วจึงจะตระหนักได้ว่าควรปรับเสียแต่แรกก็คงดี 

หากถึงจุดนั้น 5L ก็คงช่วยอะไรไม่ได้แล้ว จะมีแต่เพียง Loss Loss และก็ Loss ตัวสีแดงๆ ให้เห็นอย่างเดียวเท่านั้น