นวัตกรรมสุดล้ำจาก 'อิสราเอล'

นวัตกรรมสุดล้ำจาก 'อิสราเอล'

การอ่านหนังสือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างหนึ่ง แต่ถ้าหนังสือเล่มนั้นบอกเล่าเรื่องราวของคนที่พยายามสร้างนวัตกรรมให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้นอย่างเรื่อง “นวัตกรรมสุดล้ำจากอิสราเอล” ผลงานของ อาวี ยัวริช ย่อมถือเป็นโชค 2 ชั้น

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยจัดให้ "กรุงเทพธุรกิจ" มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาวี ยัวริช ผู้เขียนหนังสือ “นวัตกรรมสุดล้ำจากอิสราเอล” เมื่อวันก่อน

ความพิเศษอยู่ตรงที่บทสนทนานี้ไม่ใช่การสัมภาษณ์ระหว่างนักข่าวกับแหล่งข่าว แต่เป็นการพูดคุยจากใจ “นักอ่าน” กับ “นักเขียน”

  • ในฐานะนักอ่านฉันไม่คิดว่าหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องของนวัตกรรม แต่เป็นเรื่องชีวิตของคนอิสราเอล และการสร้างอิสราเอลในฐานะรัฐชาติ คุณคิดว่าไง ?

ก็น่าจะทั้งสองอย่าง นวัตกรรมที่พูดถึงในหนังสือเล่มนี้แสดงถึงวิธีการที่อิสราเอลใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่ดีที่สุด นั่นก็คือเทคโนโลยี (ทั้งไฮเทคและโลว์เทค) เพื่อทำให้โลกน่าอยู่ยิ่งขึ้น นวัตกรรมของประเทศนี้ส่งผลดีต่อหลายพันล้านชีวิตบนโลก รักษาอาการป่วย ช่วยเหลือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ และให้คนหิวโหยได้อิ่มท้อง แต่ก็อย่างที่คุณพูดหนังสือเล่มนี้ยังเป็นเรื่องของการสร้างรัฐที่แสดงบทบาทมหาศาลในการช่วยแก้ไขความท้าทายหนักหน่วงที่โลกได้เผชิญด้วย

  • อิสราเอลมีนวัตกรรมมากมาย คุณใช้เกณฑ์อะไรเลือกมาเขียนถึงเพียง 15 นวัตกรรม

ผมใช้เกณฑ์หลายอย่าง 1.ต้องเป็นนวัตกรรมขั้นสูง 2.ต้องส่งผลต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก และ 3.เผลอๆ อาจจะสำคัญที่สุดคือต้องสร้างแรงบันดาลใจและสะดุดใจผมอย่างแรง

ผมมีเรื่องราวมากมาย ถ้าไม่ใช่หลักหลายพันเรื่องก็หลายร้อยเรื่องเลยทีเดียว บางทีหนึ่งในความท้าทายใหญ่สุดของหนังสือเล่มนี้ก็คือการตัดสินใจว่าจะเลือกนวัตกรรมไหนมาเขียน เพราะผมมีเรื่องราวน่าตื่นตาตื่นใจมากมายให้เลือก

นวัตกรรมเหล่านี้รวมๆ แล้วสร้างอิทธิพลกับหลายพันล้านชีวิต อย่างที่ผมใส่ 50 นวัตกรรมไว้ในภาคผนวก ผมรู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่าอิสราเอลมีส่วนสร้างสังคมโลก

159385287489

  • หนังสือของคุณพูดถึง "นวัตกรชาวอาหรับ" ด้วยใช่มั้ย ลองเล่าให้ฟังหน่อย อะไรคืออุปสรรคใหญ่ของการเป็นนวัตกรอาหรับในอิสราเอล แตกต่างจากนวัตกรชาวยิวหรือไม่

ก็มีหลายบทที่ผมพูดถึงการมีส่วนร่วมสร้างนวัตกรรมของชาวอาหรับอิสราเอล แต่ผมยกพื้นที่ให้ 1 บทเขียนถึงบริษัทหนึ่งที่เริ่มต้นจากชาวปาเลสไตน์อิสราเอล 2 คน คือ อิหมัดและเรอีม ยูนิส ผู้ก่อตั้งอัลฟาโอเมกา (บริษัทพัฒนาอุปกรณ์มาตรฐานอุตสาหกรรมที่ทำงานเหมือนจีพีเอสในสมองสำหรับกระตุ้นสมองส่วนลึก) 

แน่นอนว่าชาวอาหรับอิสราเอลเผชิญความท้าทายชุดหนึ่งที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง ข้อแรกเลยคือเรื่องภาษา ภาษาแม่ของพวกเขาคืออารบิกไม่ใช่ภาษาฮิบรู ข้อที่ 2 พวกเขาส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นทหาร เท่ากับว่าไม่ได้สร้างเครือข่ายวงใน ที่ช่วยให้เข้าถึงระบบนิเวศของนวัตกรรมเทคโนโลยี

ข้อที่ 3 ชาวอาหรับอิสราเอลส่วนใหญ่ใช้ชีวิตห่างไกลจากศูนย์กลางประเทศ ที่มักเป็นจุดกำเนิดเทคโนโลยี และข้อสุดท้ายโดยปกติแล้วรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชากรกลุ่มนี้ด้วยหลายๆ เหตุผล รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า พวกเขาเกี่ยวข้องกับประเทศที่พยายามทำลายรัฐบาล จากทั้งหมดที่กล่าวมาบทบาทของชาวอาหรับอิสราเอลในสังคมอิสราเอลเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีหลัง

รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างหนักด้วยเหตุผลเรื่องการตื่นรู้ด้วยตนเอง รัฐบาลตระหนักดีว่ายิ่งประชาชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมากเท่าใด สังคมก็จะดีขึ้น ร่ำรวยขึ้น มีความสุขขึ้นมากเท่านั้น ด้วยเหตุนี้คนที่ทำอะไรแบบไม่หวังผลกำไรจึงผุดขึ้นมาหลายพันคน รวมทั้งคนที่จบการศึกษาจากหน่วยทหารชั้นนำของประเทศ ที่อุทิศตัวเพื่อให้ชาวอาหรับอิสราเอลหลอมรวมเข้ากับระบบนิเวศนวัตกรรมโดยเฉพาะ มีตัวช่วยบ่มเพาะ เร่งรัด และโครงการอื่นๆ มากมาย

ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมเริ่มย้ายออกจากศูนย์กลางประเทศไปสู่ภาคเหนือและภาคใต้ และจากมุมมองด้านภาษา ตอนนี้เริ่มเมื่อความคิดว่าจะเจาะตลาดคนพูดภาษาอารบิกทั่วโลกที่มากมหาศาลได้อย่างไร

  • คุณชอบนวัตกรรมชิ้นไหนมากที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ทำไมถึงชอบ

ไม่รู้ผมจะตอบคำถามคุณได้หรือเปล่า พูดจริงๆ เลยนะ ทุกชิ้นสร้างแรงบันดาลใจให้ผมมากๆ ถ้าต้องเลือก ส่วนตัวผมรักยูไนเต็ดฮัตซาลาห์ (ยูเอช หรือที่เรียกว่า สหกู้ภัย) ในวิธีการจัดการสู่ความสำเร็จ

ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก รถพยาบาลไปถึงจุดเกิดเหตุในเวลา 22 นาที นั่นนานมากในประเทศอย่างอิสราเอล ที่ต้องเจอกับสงครามและการก่อการร้ายตลอด 72 ปีแห่งการดำรงอยู่

“เอลิ เบียร์” เพื่อนร่วมงานและเพื่อนที่แสนดีของผม ผู้ก่อตั้งยูเอช ทำ 3 สิ่งมหัศจรรย์

1. เขารวบรวมเจ้าหน้าที่กู้ภัย 6,000 คน ทั้งชาวมุสลิม คริสเตียน และยิวมาไว้ด้วยกัน

2. ทุกคนมีแอพตัวหนึ่งบนโทรศัพท์มือถือทำหน้าที่เหมือนอูเบอร์ แต่แทนที่จะเรียกแท็กซี่ที่อยู่ใกล้สุด แอพนี้เรียกเจ้าหน้าที่กู้ภัย 5 คนที่อยู่ใกล้ที่สุด

3. เจ้าหน้าที่เหล่านี้หลายคนได้รับมอบมอเตอร์ไซค์พยาบาลลูกผสมระหว่างจักรยานยนต์กับรถพยาบาลใช้เวลาไปถึงที่เกิดเหตุได้เพียง 3 นาที ส่วนเมืองใหญ่ๆ ใช้เวลาแค่ 90 วินาที

159385288622

ผมต้องบอกคุณด้วยว่าทุกคนในองค์กรนี้เป็นอาสาสมัคร การทำงานของยูเอชทำให้คนจำนวนมากยังมีชีวิตอยู่ในทุกวันนี้ ถ้ายูเอชจะทำงานแค่เฉพาะในอิสราเอลก็น่าจะพอ แต่พวกเขาเริ่มขยายไปถึงประเทศอื่นๆ ที่เริ่มรับโมเดลนี้ไปใช้

ไม่มีเหตุผลอะไรที่เมืองใหญ่ๆ ในโลกจะไม่นำโมเดลนี้ไปใช้ กรุงเทพฯ ก็ด้วย เรามีเจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายล้านคน ทุกคนมีสมาร์ทโฟนกันทั้งนั้น แถมเรายังมีมอเตอร์ไซค์ราคาถูกสามารถนำไปดัดแปลงได้อีกหลายล้านคัน

  • ฉันชอบบทที่ 17 “ปลุกให้คืนชีพ” มากเลย การปลุกเมล็ดอินทผลัมยูดาห์ที่อยู่ในโถเก่ามา 2,000 ปีให้คืนชีพ ช่างน่าอัศจรรย์มาก

ครับ เป็นบริษัทที่เยี่ยมยอดมาก ประวัติศาสตร์โลกไม่เคยมีใครนำพืชที่สูญพันธุ์ไปแล้วกลับคืนมาได้แบบนี้ นี่เป็นครั้งแรก วิทยาศาสตร์และสุขภาพแตกสาขาออกไปเกินกว่าจะจินตนาการได้จริงๆ

  • แล้วตอนที่โควิด-19 กำลังระบาดอยู่ขณะนี้คุณคิดว่าอิสราเอลจะพัฒนาวัคซีนได้บ้างมั้ย

ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าอิสราเอลจะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จหรือเปล่า ที่ผมบอกได้คืออิสราเอลตั้งใจทำอย่างแน่วแน่ และที่น่าสนใจคือผู้คนมากมายทั่วโลกคาดหวังว่า อิสราเอลทำได้

ไม่เคยมีใครคาดการณ์แบบนี้เมื่อ 72 ปีก่อน ตอนที่ประเทศเต็มไปด้วยผู้ลี้ภัย ไม่มีเงินสักชิเกิล ตอนที่ เดวิด เบน-กูริออน นายกรัฐมนตรีคนแรก ยืนอยู่ที่แท่นบรรยายในเทลอาวีฟเมื่อ 72 ปีก่อน เขาพูด 2 สิ่ง 1.หลังจากสองพันปีแห่งการพลัดถิ่น ประตูแห่งอิสราเอลได้เปิดอย่างเป็นทางการรับชาวยิวผู้ศรัทธากลับบ้าน คำพูดนี้ถูกจดจารไว้ในเพลงชาติอิสราเอล และ 2.อิสราเอลได้รับสิทธิพิเศษและความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ ให้แก้ไขความท้าทายบางอย่างอันหนักหน่วงที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20

ดูเหมือนเขากำลังพูดถึงเหตุผลหนึ่งในการมีอยู่ของอิสราเอล ที่ไม่ใช่แค่ปกป้องและทำให้พลเมืองมั่งคั่ง แต่ยังก้าวข้ามพรมแดนแห่งรัฐอิสราเอลไปทำให้โลกน่าอยู่ขึ้นด้วย ซึ่งคุณก็เห็นแล้วในหลายๆ รูปแบบ เช่น เทคโนโลยี และผมเองก็ได้แรงบันดาลใจหลายอย่าง แนวคิดที่เราแต่ละคนได้สิทธิพิเศษและความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ ให้แก้ไขความท้าทายยากที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21

159385290384

 

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเทลอาวีฟ นิวยอร์ก หรือกรุงเทพฯ เราทำให้โลกดีขึ้นได้ และนั่นไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเริ่มตั้งบริษัทเพื่อให้สิ่งดีๆ เกิดขึ้น แค่คุณทำเรื่องง่ายๆ อย่างช่วยเหลือคนรอบตัวให้มากขึ้น ไปเยี่ยมคนป่วย ช่วยคนข้ามถนน แค่นี้ก็ได้

  • ประเทศไทยกับอิสราเอลมีภูมิหลังแตกต่างกันมากมาย คนไทยจะปรับใช้ความรู้ของคนอิสราเอลได้ยังไง

เคล็ดลับความสำเร็จของอิสราเอลมีอยู่ 3 อย่าง 1.ความหลากหลาย อิสราเอลเป็นประเทศที่มีความหลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีทั้งชาวคริสต์ มุสลิม และยิว 2.มีวัฒนธรรมนับถือค่านิยมและสถาบันที่สร้างขึ้นมาเองอย่างมาก รวมทั้งมหาวิทยาลัยและกองทัพ และ 3.วัฒนธรรมการพยากรณ์อนาคต 

ผมขอพูดในแง่วัฒนธรรม หลายพันปีมาแล้วที่เหล่าศาสดาเรียกร้องให้เราทำโลกให้ดียิ่งขึ้น นำแสงสว่างมาสู่โลกให้มากขึ้น คุณไม่สามารถพูดซ้ำๆ เรื่องการรักษาผู้ป่วย ช่วยเหลือคนขาดแคลน ให้อาหารคนอดอยาก และทำโลกให้ดีขึ้นได้ทุกๆ วัน ถ้ามันไม่ได้ฝังรากลงในดีเอ็นเอของคน และอิสราเอลทุกวันนี้เป็นแบบนี้

159385292445

ผมบอกได้เลยว่าประเทศไทยมีส่วนผสมทุกอย่างแบบเดียวกันหลอมรวมกันในสังคม เป็นความหลากหลายสุดพิเศษ มีสถาบันทางโลกและวัฒนธรรมเก่าแก่เรียกร้องให้เราสร้างแสงสว่างแก่โลกให้มากขึ้น เมื่อเราคิดถึงโลกในแง่นี้ก็ไม่มีอะไรมาหยุดยั้งเราได้

เราต้องเริ่มคิดถึงสถานการณ์วิน/วิน คุณชนะ ผมชนะ โลกก็ชนะ ความเปลี่ยนแปลงและท้าทายใหญ่หลวงรอเราอยู่ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ทั้งในด้านพลังงาน น้ำ อาหาร ความมั่นคง เอไอ อวกาศ การศึกษา ฯลฯ

มนุษยชาติอาจสร้างนวัตกรรมมาแก้ไขความท้าทายเหล่านี้ ไม่เช่นนั้นแล้วมนุษยชาติก็อาจสูญพันธุ์ไปเลยก็ได้ แต่ผมเชื่อจริงๆ ว่าวันเวลาดีๆ รอเราอยู่ข้างหน้า และทุกๆ ประเทศรวมทั้งไทย ล้วนมีบทบาทสำคัญ

ไทยมีส่วนผสมทุกอย่างที่จะเป็นชาตินวัตกรรมแก้ไขความท้าทายยากสุดของโลกเป็นประเทศต่อไป ผมดีใจมากที่หนังสือของผมแปลเป็นภาษาไทย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยกล้าฝันใหญ่กว่าที่เคยทำมา ทำโลกให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น

ชิมอน เปเรส ประธานาธิบดีผู้ล่วงลับและบุคคลสำคัญผู้ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่งของประเทศ เคยกล่าวว่า ความผิดพลาดครั้งใหญ่สุดครั้งหนึ่งของเขาคือ ฝันไม่ใหญ่พอ

ไม่มีปัญหาใดที่เราแก้ไม่ได้ถ้าเราใช้สติปัญญาและความกล้าหาญมากพอ

  • แล้วถ้าคุณต้องไปอยู่ดาวดวงอื่น คุณจะนำนวัตกรรมไหนไปกับคุณด้วย

ตอบยากจังเลย ต้องขึ้นอยู่กับว่าผมไปอยู่ดาวดวงไหนด้วย ขอคิดก่อนนะ เป็นคำถามที่วิเศษมาก ไม่เคยมีใครถามผมแบบนี้มาก่อน พระเจ้า...ตอบไงดีล่ะ ใจผมคิดไว้หลายอย่างเลย

เอางี้ สิ่งที่ผมจะเอาไปด้วยก็คือความคิดที่ว่า ไม่มีปัญหาใดที่เราแก้ไม่ได้ถ้าเราใช้สติปัญญาและความกล้าหาญมากพอ และแนวคิดที่ว่าเรามีพันธะกับคนรุ่นต่อๆ ไปในการสร้างหลักประกันว่าเผ่าพันธุ์เราต้องอยู่รอดอย่างสอดประสานกันได้ดี และผมหวังว่าหนังสือของผมจะมีบทบาทเล็กๆ ในการผนึกความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้นนะครับ