'ภูสระดอกบัว' เที่ยว 'อุทยานแห่งชาติ' แบบ New Normal

 'ภูสระดอกบัว' เที่ยว 'อุทยานแห่งชาติ' แบบ New Normal

"อุทยานแห่งชาติ" ได้เปิดให้ท่องเที่ยวได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 ที่ผ่านมา ในช่วงหน้าฝนอย่างนี้ ขณะที่คนยังไม่มากนัก อุทยานแห่งชาติ "ภูสระดอกบัว" อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร จึงเป็นสถานที่น่าสนใจ

เป็นอันว่าขณะนี้ ตาม อุทยานแห่งชาติ ทั้งหลายคงเปิดให้เข้าไปท่องเที่ยวกันแล้ว เพื่อเป็นการผ่อนคลาย และที่สำคัญ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างซบเซาไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหลาย ที่ปิดมายาวนาน แม้จะเปิดให้เที่ยวกันแล้ว แต่ชาวต่างชาตินักท่องเที่ยวที่เคยมาทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวเฟื่องฟูนั้น ประเทศของเขายังเป็นประเทศสังคมอุดมไวรัสกันอยู่เลย ไวรัสกำลังเฟื่องฟูระบาดกันเต็มที่ ขณะที่บ้านเรายับยั้งการแพร่ระบาดได้ค่อนข้างดี โอกาสที่จะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามา จึงเป็นเรื่องที่คนในประเทศก็ไม่ค่อยเห็นด้วย

ดังนั้นเราคนไทยก็คงต้องเที่ยวกันเองในนี้ก่อน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในบ้านเรานั้น 90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ในการดูแลของ กรมอุทยานแห่งชาติ ทั้งสิ้น ที่เหลืออยู่ในการจัดการดูแลของ อบต.ของจังหวัดไป ซึ่งการเปิดให้เที่ยวอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ จะไม่ใช่การท่องเที่ยวอุทยานฯที่เราคุ้นชินอีกต่อไป บางเรื่องอาจจะขัดใจ มีขั้นตอนอะไรเพิ่มขึ้นมามากมาย เป็นอะไรที่จะต้องเรียนรู้ ทั้งนี้ก็เพื่อเหตุผลเดียวคือไม่เปิดโอกาสให้ ไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดอีก มาตรการทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้นก็เพื่อการนี้ทั้งนั้น

159383237937

เพิงภูผาแต้ม

เริ่มจากมาตรการแรกเลย คือการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น QueQ เป็นแอพจองคิวการเข้าพื้นที่ เลือกอุทยานฯที่จะไปและช่วงเวลาที่จะเข้า ส่วนเข้าแล้วจะอยู่นานขนาดไหนเขาไม่ว่า อันนี้เพื่อจำกัดจำนวนคนที่เข้าไปใช้พื้นที่ให้พอเหมาะพอควรกับความสามารถรองรับได้ของแต่ละแห่ง ซึ่งเขาศึกษาและมีข้อมูลไว้นานแล้ว อันที่สองคือการลงทะเบียนเข้าพื้นที่โดยผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ เป็นการจดบันทึกข้อมูลของคนไปใช้บริการ ตามตัวแจ้งข่าวเราได้ทุกอย่าง บางคนก็ไม่รู้ว่าเกิดความหวาดระแวงหรือปิดบังซ่อนเร้นอะไร มาตั้งแง่ว่าการลงทะเบียนไทยชนะนี้ทำให้ทางราชการล้วงความลับส่วนตัวได้

โถๆ...ช่างหวาดระแวง ไม่เข้าท่า การไปทำบัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก มันก็เชื่อมโยงไปไหนต่อไหนได้หมดแล้ว ไม่ได้อยู่แค่ข้อมูลครัวเรือนหรอก ดังนั้นอย่าหวาดระแวงเกินเหตุ นอกนั้นในแต่ละอุทยานฯก็อาจจะมีรายละเอียดข้อจำกัดของแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน

จุดชมวิวที่ภูผาด่าง 159383242679

ส่วนการไปแบบ walk in ที่ไปถึงค่อยไปขอเข้าได้ไหม ก็น่าจะได้ถ้าคนเขาไม่เต็ม หรือไม่เกินจำนวน แต่อุทยานฯที่คนน้อยอยู่แล้ว เช่น อุทยานฯ ภูสระดอกบัว อช.ภูผาเทิบ อช.ผาแดง อช.ทะเลบัน ฯลฯ อะไรพวกนี้ คงไม่น่ามีปัญหาอะไร ส่วนการต้องให้ใส่หน้ากาก การมีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การพยายามเว้นระยะห่าง ลดการสัมผัสกัน ก็คงยังต้องเคร่งครัดตัวเอง ซึ่งคิดว่าเราคนไทยคงไม่อยากให้เชื้อร้ายนี้กลับมาระบาดรอบสองจนต้องปิดเมืองกันอีก หวังว่าความยากลำบากนั้นจะสอนพวกเรากันด้วย

159383262262

บ่อบัวหินในภูสระดอกบัว

คราวนี้ผมจะพาไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติที่คนยังไม่มาก ไม่หนาแน่น เหมาะกับการไปท่องเที่ยวในหน้าฝนอย่างนี้มาก อุทยานฯ ภูสระดอกบัว ครับ

อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ หลายคนอาจไม่คุ้นเคย ให้ท่านผู้อ่านเริ่มที่ อ.เลิงนกทา ของยโสธร แล้วใช้ถนน 2277 มุ่งหน้าไปทาง ดอนตาล มุกดาหาร (ถนนสายนี้จะไปบรรจบกับถนนเลียบโขงสาย 2034 ไปชานุมาน ไปมุกดาหารได้หมด) ที่ทำการอุทยานฯเขาจะอยู่ทางซ้ายมือ

159383280339

ภาพวาดโบราณ

อุทยานฯแห่งนี้มีพื้นที่ไม่ต่อเนื่องกัน เป็นเกาะๆ หย่อมๆ โดยหย่อมใหญ่ๆ ก็คือทางด้านที่ทำการอุทยานฯ ฝั่งภูผาแต้ม กับอีกด้านก็คือเกาะของภูสระดอกบัว พื้นที่ย่านนี้เป็นพื้นที่รบกวนของ ผกค.สมัยคอมมิวนิสต์รุ่งเรืองมาก่อน ร่องรอยการสู้รบจึงมีอยู่ทั่วไป ย่านภูสระดอกบัวเองก็เป็นที่ที่ ผกค.เคยใช้เป็นที่พักพิงบนป่าเขามาก่อน หน่วยงานแรกๆ ที่เข้ามาจัดการพื้นที่ก็คือหน่วยงานทางทหาร อุทยานฯเพิ่งเข้ามาดูแลทีหลัง แต่พอเข้ามาแล้วก็เป็นอุทยานฯที่น่ามากางเต็นท์พักแรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะสงบเงียบ ร่มรื่นโดยมีอ่างเก็บน้ำห้วยหินข้ออยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯ ร่มรื่นไปด้วยป่าเต็งรังที่สมบูรณ์ ยิ่งหน้าฝนแบบนี้ยิ่งชุ่มฉ่ำ

แหล่งท่องเที่ยวของที่นี่ ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาและจุดชมวิวต่างๆ ที่ไปง่ายก็เช่น 'ภูหมู' นอกนั้นก็จะต้องเดินเท้า อย่าง 'ภูผาหอม' นี่เดินเท้าไปตามลานหินราว 2-3 กม. ซึ่งที่ภูผาหอมนี้เป็นจุดพักแรม จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่ดีที่สุด เพียงแต่ที่กางเต็นท์มันเป็นลานหินโล่งๆ ริมหน้าผา หาที่หลบแดดอะไรไม่ค่อยมี น้ำก็ไม่มีด้วย จะไปนอนก็ขนน้ำไปเอง

ส่วน ภูสระดอกบัว นั้นก็ต้องเดินเท้าเหมือนกัน เดินไม่ไกลมากราว 4 กม. เป็นลานหินที่แทรกตัวในป่าเต็งรัง มีย่านที่เป็นลานหินหัก แตก เป็นหน้าผาเล็กๆ มีเป็นบ่อน้ำหิน หรือที่เรียกว่ากุมภลักษณ์ 4-5 บ่อแต่มีน้ำขังแล้วดันมีบัวเล็กๆ ขึ้นในแอ่งน้ำนั้นด้วย นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ 

159383291155

ภูหมู

แต่ที่อยู่ติดกับที่ทำการอุทยานฯก็คือภูผาแต้ม ซึ่งจะมีทางเดินศึกษาธรรมชาติ เดินเลาะเลียบไปในป่าเต็งรัง ค่อยขึ้นเนินเล็กๆ ไปเรื่อยๆ จนไปถึงหน้าผาหินทรายที่หักตกจนเป็นแนวหน้าผา ที่มีเวิ้งผาคลุมเป็นหลังคายาวร่วมร้อยเมตร และที่สำคัญ จะมีภาพวาดโบราณอายุราว 3000 ปี วาดบนผนังหิน เป็นกลุ่มๆ ไปตามแนวยาวของหน้าผา ซึ่งทางอุทยานฯเขาก็ทำทางเดินดูเป็นสะพานให้เรียบร้อยเลย

เสร็จแล้วเดินขึ้นด้านบนหน้าผาไปอีกราว 300 เมตร จะเป็นลานหินภูวัด ราวปลายเดือนกันยายน จะมีดอกไม้ดิน พวกกระดุมเงิน ดุสิตา เริ่มออกดอกกันแล้ว

ยังมีลานหินที่ 'ภูผาด่าง' ที่มีดงดอกไม้ดินออกดอกบานสะพรั่งบนลานหินและเดินเที่ยวเดินชมได้เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่ลานหินจะชุ่มฉ่ำไปด้วยดอกไม้ดอกไร่ทั้งหลาย ร่องหินลานหินก็ชุ่มชื้นด้วยสายน้ำ อากาศเย็นสบาย

159383297130

ดอกไม้ดินที่ภูวัด

ที่ต้องมาแนะนำอุทยานฯภูสระดอกบัว ก็เพื่อจะบอกว่า ยังคงมีอีกหลายอุทยานฯ ที่ไม่ได้มีนักท่องเที่ยวไปมาก ไม่ได้มีกฎระเบียบเคร่งครัดเหมือนอุทยานฯเขาใหญ่ เอราวัณ ถ้านักท่องเที่ยวเรากระจายกันเที่ยว กระจายความแออัดออกไป ก็จะเป็นการดีทั้งตัวเราเอง และทั้งของพื้นที่ด้วย

อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นการออกไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ แต่เราก็ยังคงต้องปฏิบัติตัวแบบ New Normal อยู่นั่นเอง ฝึกให้เคยชินไว้ครับ