เร่งกู้ร่างเหยื่อ 'เหมืองหยก' เมียนมา

เร่งกู้ร่างเหยื่อ 'เหมืองหยก' เมียนมา

เจ้าหน้าที่เร่งกู้ร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุเหมืองหยกถล่มในเมืองผากั้น รัฐกะฉิ่นของเมียนมากว่า 160 รายขึ้นจากทะเลโคลน หลังเกิดเหตุดินถล่มทางภาคเหนือของเมียนมาเมื่อวันพฤหัสบดี (2 ก.ค.)  ถือเป็นอุบัติเหตุครั้งเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในอุตสาหกรรมทำเหมือง 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกสำหรับโศกนาฏกรรม มีรายงานว่าแต่ละปีคนงานเหมืองถูกเหมืองถล่มเสียชีวิตนับไม่ถ้วน ในอุตสาหกรรมเหมืองหยกเมียนมาที่ทำรายได้มหาศาล แต่ไร้การกำกับดูแลเป็น จึงใช้วิธีจ้างแรงงานย้ายถิ่นราคาถูกมาขุดหาหยกที่เป็นที่ต้องการมากในตลาดจีน เชื่อกันว่า แต่ละปีหยกมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ถูกขุดและสกัดไปจากทิวเขาแถบนี้

หายนะภัยล่าสุดเกิดขึ้นเพราะฝนกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ใส่เหมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับพรมแดนจีน 

ตั่น วิน อ่อง ผู้บังคับการตำรวจกล่าวว่า การทำงานภายใต้ฝนกระหน่ำเป็นความยากลำบากและท้าทายอย่างมาก อาจทำให้เกิดโคลนถล่มขึ้นมาอีกรอบ เพราะผิวดินของเทือกเขาแถบนั้นไม่มั่นคงแล้ว

“เราไม่สามารถขุดหาร่างของผู้เสียชีวิตใต้กองโคลนที่ถล่มทับได้ ได้แต่เก็บกู้ร่างที่ลอยอยู่ในแอ่งน้ำ” นายตำรวจกล่าวและว่า ความพยายามในการกู้ภัยยังเจออุปสรรคจากความมืดในยามค่ำคืนอีกด้วย

159379997216

ด้านโฆษกสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แถลงว่า อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการยูเอ็นเสียใจอย่างสุดซึ้งกับมรณกรรมที่เกิดขึ้น และยูเอ็นพร้อมช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ เมียนมาเป็นแหล่งหยกใหญ่ที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง อุตสาหกรรมถูกขับเคลื่อนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเพราะความต้องการหยกของประเทศจีน

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า การทำเหมืองยังลักลอบทำกันลับๆ แต่องค์กรติดตามสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่าง “โกลบอลวิตเนส” กล่าวหาว่า คนทำเหมืองมักเกี่ยวข้องกับอดีตคนสำคัญในคณะรัฐประหาร นายทหารชั้นแนวหน้า และพวกพ้อง การเกิดดินถล่มครั้งนี้ถือเป็นสัญญาเตือนถึงรัฐบาลพม่านำโดยอองซาน ซูจี ที่พรรคของเธอเคยประกาศว่าจะปฏิรูปและขจัดการทุจริตให้หมดสิ้นไป

โกลบอลวิตเนสประเมินว่า การทำเหมืองสร้างรายได้มากถึง 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2557 แต่เงินเข้ารัฐเพียงน้อยนิด ข้อมูลจากเว็บไซต์ทหารระบุว่า เหมืองที่ถล่มเมื่อวันพฤหัสบดีเป็นของบริษัท ยาดานา เจย์ ตำรวจเผยว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจสูงมากกว่านี้ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เตือนให้ออกห่างจากเหมือง 1 วันก่อนถล่ม

พื้นที่แถบนี้เกิดดินถล่มเสมอในฤดูมรสุม เดือน พ.ย.2558 เคยเกิดเหตุดินถล่มครั้งใหญ่ มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน ปีก่อนก็ถล่มอีกครั้ง คนงานเสียชีวิตกว่า 50 คน

คนงานที่เข้าไปขุดหาหยกมักเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยที่ยากจน เข้าไปหาเศษหยกหลังจากบริษัทใหญ่ขุดไปแล้ว

หยกคุณภาพต่ำสามารถแลกเป็นอาหารได้ หรือไม่ก็ขายให้พ่อค้าคนกลางในราคา 20 ดอลลาร์ แต่พวกเขาก็ยอมเสี่ยงชีวิตในทุกๆ วันด้วยหวังว่าจะเจอหยกคุณภาพดีราคาหลายหมื่นดอลลาร์ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตได้เลย

เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ตอนเหนือของเมียนมาอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีมูลค่า ไม่ว่าจะเป็นหยก ทอง อำพัน หรือไม้ ทำเงินให้กับทั้งฝ่ายกองกำลังกะฉิ่นและกองทัพเมียนมา ที่ทำสงครามกลางเมืองสู้รบยืดเยื้อกันมาหลายสิบปี

การต่อสู้ของทั้งสองฝ่ายเพื่อได้ครอบครองและมีรายได้จากเหมือง ทำให้ชาวบ้านต้องติดหล่มในสงครามไปด้วย