'สกาลา' ในความทรงจำกลางสยาม ในนามก่อนเปลี่ยน 'ยุคสมัย'

'สกาลา' ในความทรงจำกลางสยาม ในนามก่อนเปลี่ยน 'ยุคสมัย'

หวนย้อนความทรงจำชาวสยามที่มีต่อ “สกาลา” โรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้าย ใจกลางย่านช้อปปิ้งของวัยรุ่นตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 5 ก.ค. นี้

หากจะพูดถึงสถานที่เดินเล่นหรือช้อปปิ้งกลางเมืองยอดฮิตที่สุด ร้อยทั้งร้อยของคำตอบน่าจะเป็นย่าน สยามแสควร์ 

สถานที่ที่ครองตำแหน่งจุดนัดพบ นัดสังสรรค์ของวัยรุ่นมาตั้งแต่อดีต  การพัฒนาพื้นที่หรือคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นตามทำเลทองใจกลางเมือง ก็ปรับเปลี่ยนหน้าตาของย่านสยามไปอย่างสิ้นเชิง จนอาจทำให้คนที่เคยเห็น “สยามแบบเก่า” อธิบายให้คนที่คุ้นชินกับ “สยามแบบใหม่” ฟังแล้วนึกภาพไม่ออก

แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น กลับไม่ได้หมายรวมเอาโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนใจกลางสยามอย่าง “สกาลา” เข้าไปด้วย

สกาลายังคงดำรงอยู่ด้วยวิถีแบบเดิมๆ ท่ามกลางการเข้ามาของโรงหนังแบบ “มัลติเพล็กซ์” ที่ค่อยๆ ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิตของคอหนัง (หรือแม้กระทั่งวัยรุ่นสยาม) เปลี่ยนไป ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางฝ่าการจราจรหนาแน่นมาสยามเพื่อดูหนังเรื่องโปรด เพราะเหล่าโรงภาพยนตร์แบบใหม่ขยายตัวเข้าถึงผู้คนในทุกๆ พื้นที่ 

แต่สิ่งที่โรงหนังรูปแบบใหม่เหล่านั้นอาจไม่สามารถมอบให้ได้ก็คือ ความคลาสสิกในแบบที่โรงหนังแสตนด์อโลนอย่างสกาลามี ทั้งสถาปัตยกรรมโอ่อ่าสวยงาม ที่ยิ่งดูสวยเข้าไปอีกเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้วแต่ทุกอย่างยังคงสภาพไม่ต่างจากยุคเก่า ราคาตั๋วหนัง การซื้อขายตั๋วแบบเขียนด้วยลายมือ ยังไม่นับการจัดลิสต์หนังเข้าฉายที่ “ไม่อิง box office” ทำให้คอหนังที่กำลังตามหาหนังนอกกระแสหรือหนังเฉพาะกลุ่มต่างก็ยกให้สกาลาเป็นโรงฉายภาพยนตร์โรงโปรด

159378747594

โดยจากข่าวคราวที่สกาลากำลังจะปิดตัวลงในวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ อาจทำให้ผู้ที่มีความผูกพันกับโรงภาพยนตร์แห่งนี้ได้นึกถึงความทรงจำเก่าๆ ตั้งแต่ที่สกาลายังมีชีวิตรุ่งเรืองจนกระทั่งกำลังจะโรยรา เพราะระยะเวลากว่า 50 ปีของโรงหนังแห่งนี้ ได้ถูกผู้คนมากมายมอบพื้นที่ให้ และทำให้สกาลากลายเป็น “ส่วนประกอบ” ในสื่อหรือผลงานชิ้นอื่นๆ มากมาย 

หรืออาจนับได้ว่า สกาลานั้นเป็นหลักเขตบ่งบอกยุคสมัยของ “สยาม” ผ่านการก้าวเข้ามาเยือนหรือหยิบยกขึ้นมากล่าวถึง 

แลนด์มาร์ก

นอกจากสกาลาจะมีหน้าที่หลักคือการเป็นโรงภาพยนตร์แล้ว ยังเป็นอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเปรียบเสมือนหมุดปักตรึงเอาความ “เดิมๆ” ให้คงอยู่ไว้ด้วย เพราะถ้าไม่นับเลนถนนหรือชื่อซอยบริเวณย่านสยาม สกาลาก็เป็นเพียงไม่กี่ที่ที่แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยน ชนิดที่หากโลกมีกัปตัน อเมริกาอยู่จริงๆ แล้วเขากลับมาจากแช่แข็ง 50 ปี ก็จะยังจำพื้นที่บริเวณสกาลาได้ 

ฟิลลิป แจบลอน หนุ่มนักวิจัยอิสระชาวอเมริกันผู้รักในเสน่ห์ของโรงภาพยนตร์แบบสแตนด์อโลน เขาได้ทำโปรเจคเกี่ยวกับโรงหนังแสนคลาสสิกเหล่านี้ด้วยการออกเดินทางถ่ายภาพ ความงดงามที่โรงหนังแสตนด์อโลนแต่ละแห่งมีไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟิลลิปสร้างเพจ The Southeast Asia Movie Theater Project ขึ้นมาในเฟซบุ้ก และยังเขียนหนังสือ Thailand's Movie Theatres รวมถึงอัพเดตเรื่องราวของโรงหนังทุกแห่งที่เขารู้จักอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน 

ฟิลลิปหลงเสน่ห์สกาลา และยกให้สกาลาเป็นโรงหนังแห่งโปรดหลังจากออกเดินทางไป “เก็บ” โรงหลังสแตนด์อโลนมาแล้วไม่ต่ำกว่า 300 แห่ง คำตอบในคำถามเกี่ยวกับโรงหนังโรงโปรดของเขา ยังคงเป็น “สกาลา” ไม่ว่าจะคุยกับใครในครั้งไหนๆ ซึ่งยืนยันได้อย่างดีว่าความสวยงามและคลาสสิกเหล่านี้ทำให้สกาลากลายเป็น “แลนด์มาร์ก” อีกหนึ่งแห่งที่นักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในสถาปัตยกรรมศิลปะใฝ่ฝันที่จะมาเห็น

นอกจากนี้ ห้องโถงอันโออ่าสวยงามอันเป็นจุดเด่นที่สุดยามก้าวเข้ามาถึง  ยังทำให้โรงภาพยนตร์สุดคลาสสิกแห่งนี้ ถูกใช้เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำหรับจัดงานคอนเสิร์ตและงานประกาศผลรางวัล ซึ่งสกาลาเคยเป็นสถานที่จัดงานประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ รางวัลใหญ่ที่สุดแห่งวงการภาพยนตร์ไทยด้วยกันทั้งหมด 3 ปีซ้อน คือ พิธีมอบรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 12-14 หรือตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2547 

159378774695

ฉากหลัง

ภาพยนตร์ปี 2550 เรื่อง “รักแห่งสยาม” ซึ่งมีสถานที่ถ่ายทำหลักอยู่ที่สยามสแควร์เกือบทั้งเรื่อง ก็เลือกใช้บริเวณโถงบันไดของสกาลาประกอบอยู่หลายฉากในหนัง ฉากที่โดดเด่นฉากหนึ่งคือฉากที่ตัวละคร “มิว” คุยกับ “โต้ง” ถึงความไม่สบายใจและความสับสนในสิ่งที่ตนเองเป็น จึงได้ลองถามคำถามกับโต้งก่อนจะได้รับคำตอบที่ทำให้ตัวละครมิวได้ปลดล็อกความรู้สึก และเรื่องที่ค้างคาใจ 

แม้จะเป็นบทสนทนาแบบสั้นๆ บนม้านั่งตัวเดียวกัน แต่การถูกห้อมล้อมด้วยบรรยากาศของพื้นที่บริเวณโถงชั้นสองของสกาลา มีพื้นหลังเป็นแชนเดอเลียโคมใหญ่ เสาทรงโค้ง และเพดานประดับดวงดาวสีทอง ก็กลายเป็นว่าบทสนทนาธรรมดาๆ ของมิวและโต้ง กลับดูโรแมนติกมากขึ้นหลายเท่า

หรือจะเป็นสกาลาในฉากของหนังเรื่อง “เพื่อน..ที่ระลึก” หนังสยองขวัญปี 2560 เล่าเรื่องราวการกลับมาทวงสัญญาที่เคยมีให้กันของสองสาวเพื่อนรักที่ชีวิตพลิกผันจากวิกฤติต้มยำกุ้ง และมั่นหมายว่าจะ “ตายด้วยกัน” แต่คนหนึ่งกลับไม่รักษาสัญญา มีฉากในช่วงแรกของหนัง พาเราย้อนกลับไปในกรุงเทพฯ ปี 2539 ที่ “สกาลา” ได้ถูกใช้บอกเล่าฉากสำคัญฉากหนึ่งของตัวละคร

ผู้สร้างดึงเอาเสน่ห์ของสกาลา หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของยุคนั้นมาประกอบฉาก พร้อมห่อหุ้มเอาไว้ด้วยความหดหู่ตึงเครียดจากปัญหาที่เกิดขึ้นตามลำดับเรื่อง โดย แม้ในหนังอาจไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความสวยงามทางสถาปัตยกรรมมากนัก  แต่สกาลาที่ปรากฎออกมาในฉาก กลับบ่งบอกถึงสถานะที่โรงภาพยนตร์แห่งนี้ ได้แทรกอยู่ในช่วงเวลาชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร

 

ดั่งตัวแทนของ “ความหลงใหล”

ต้องนับว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่งจะถูกนำมาแต่งขึ้นเป็นเพลงหรือกลายเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาในหนังสือ อาจจะเป็นความต้องการสะท้อนเสน่ห์อันไม่มีใครเหมือนบนพื้นที่แห่งนั้น เพื่อขับให้ผลงานบอกเล่าอะไรบางอย่าง หรืออาจแต่งขึ้นจากความหลงใหล ไม่ว่าจะทั้งหลงใหลในสถานที่ หรือหลงใหลในช่วงเวลาที่มีสถานที่นั้นเป็นส่วนประกอบก็ตาม 

ในสื่อเพลงอย่างเพลงที่ชื่อว่า “สกาล่า” ของวง “โมเดิร์นด็อก” (Moderndog) ก็มีเรื่องราวเบื้องหลังการตั้งชื่อด้วยด้วยชื่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้เช่นกัน 3 สมาชิกของโมเดิร์นด็อกเล่าว่า การใช้ชื่อเพลงดังกล่าว เป็นเพราะอยากให้เพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการ “ชวนไปดูหนัง” ได้มีกลิ่นอายของความเท่ ความเปรี้ยว และดู “เก๋า” เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์สกาลา ที่ตั้งตระหง่านอยู่ที่สยามสแควร์มามากกว่า 40 ปี (อายุสกาลาขณะนั้น) โดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากมายเลยนับจากในอดีต

หนังสืออย่าง “SCALA Zine” แม็กกาซีนทำมือของ ฐิตินันท์ พงษ์จารุวัฒน์ ก็หยิบเอาสกาลาและความทรงจำในสมัยที่ผู้เขียนยังเด็ก มาบอกเล่าผ่านภาพวาดและข้อความบันทึกในหลากหลายความรู้สึก แม้กระทั่งข้อมูลเกี่ยวกับโรงหนัง บทสัมภาษณ์ผู้คนที่มีความผูกพันธ์ รวมถึงเกร็ดความรู้เชิงสถาปัตยกรรมของโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนมากมาย ที่หลายแห่งก็มีเรื่องราวรวมถึงความสวยงามไม่ต่างจากสกาลา 

อีกเล่มก็คือสกาลาในหนังสือภาพ Thailand's Movie Theatres โดยฟิลลิป แจบลอน ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องราวของสกาลาแบบเฉพาะเจาะจงทั้งเล่ม แต่ก็เต็มไปด้วยชุดภาพและข้อมูลที่เขาทำการเก็บมาด้วยตัวเองจากการออกเดินทางท่องไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้ค้นพบว่า ไม่ว่าอย่างไร “สกาลา” ก็คือที่สุดอยู่ดี


159378795284

แม้โรงหนังสกาลา จะเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความทรงจำของผู้คนที่แวะเวียนมาสยาม แต่ว่ากันว่าไม่มีอะไรจะคงอยู่ได้ตลอดไป ความ “ปกติใหม่” เกิดขึ้นได้อยู่เรื่อยๆ ในยามที่วันเวลาผันผ่าน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน การเข้ามาของโรงหนังมัลติเพล็กซ์ หรือการแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากค่าเช่าที่ ก็เป็นบรรดาเหตุผล ที่ทำให้โรงภาพยนตร์สกาลาตกที่นั่งลำบาก และ “ขาดทุน” ติดต่อกันหลายปี ในขณะที่มีข่าวแว่วมาว่าจะทุบทิ้งหลายต่อหลายครั้งตามรอย “ลิโด” โรงหนังเจ้าของเดียวกันที่เพิ่งปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่าไปเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2561 

แต่ด้วยความเป็นโรงภาพยนตร์สแตนอโลนแห่งสุดท้ายใจกลางสยาม หรืออาจด้วยสิ่งก่อสร้างที่สวยงามและคลาสสิกเกินกว่าจะปล่อยให้หายไป จึงทำให้สกาลายังคงอยู่ต่อได้จากปี 2561 และเดินทางมาถึงวันสิ้นสุดเอาในปีนี้ ปีที่เต็มไปด้วยสถานการณ์โรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งก็ยังไม่มีข้อมูลหรือข่าวใดชี้แจงแผนหลังปิดกิจการของสกาลาว่าจะเป็นอย่างไรต่อ หรือจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับโรงหนังเก่าสภาพดีเยี่ยมบนทำเลทองของกรุงเทพแห่งนี้ 

โรงภาพยนตร์สกาลา จะจัดงานอำลา LA SCALA ตั้งแต่วันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563 โดยจะมอบตั๋วภาพยนตร์รอบสุดท้ายเป็นที่ระลึกให้ผู้ที่มาชมภาพยนตร์ปิดฉาก รวมถึงจะเปิดไฟทุกดวงให้ได้เก็บภาพบรรยากาศความสวยงามของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ไว้ในความทรงจำ และสกาลา จะหยุดให้บริการถาวรตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม เป็นต้นไป