'เคทีซี' กำไรวูบพันล้าน พิษลดดอกเบี้ยอุ้มลูกหนี้

'เคทีซี' กำไรวูบพันล้าน พิษลดดอกเบี้ยอุ้มลูกหนี้

“เคทีซี” คาดมาตรการธปท.สั่งลดเพดานดอกเบี้ยอุ้มลูกหนี้รายย่อย ฉุดกำไรลดลง 1,000 กว่าล้านต่อปี จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ เผยยอดลูกค้าขอพักหนี้เพียง 99 ราย ส่วนปรับโครงสร้างหนี้ 4,000 ราย มูลหนี้ 300 ล้าน ย้ำเป็นลูกหนี้ดีจ่ายหนี้คืนได้

นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เปิดเผยว่า จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ไม่สามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ โดยเฉพาะการเติบโตของผลกำไรที่คาดว่าจะลดลงไปราว 1,000 กว่าล้านบาทต่อปี จากเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยตามมาตรการระยะที่1ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สิ้นสุดมาตรการเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมานี้ บริษัทมีลูกหนี้ขอพักชำระหนี้จำนวนเพียง 99 ราย คิดเป็นมูลหนี้น้อยมากไม่มีนัยสำคัญ จากฐานลูกค้าที่มีอยู่ทั้งสิ้น 2.5 ล้านราย

ขณะเดียวกันมีลูกหนี้ขอปรับโครงสร้างหนี้ดอกเบี้ยบัตรเครดิต 12% ต่อปี และสินเชื่อบุคคล 22% ต่อปี นานเป็น 48 เดือน ซึ่งวันเข้าโครงการต้องเป็นลูกหนี้ชั้นดี ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 4,000 กว่าราย เป็นมูลหนี้ทั้งสิ้นราว 300 ล้านบาท และยังเป็นลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถชำระหนี้ได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า จึงไม่น่ามีปัญหา

ส่วนในระยะถัดไปจะมีลูกหนี้รายใหม่มาขอความช่วยเหลือในระยะที่ 2 มากน้อยแค่ไหน ยังต้องติดตามสถานการณ์ แต่บริษัทยังคงหลักเกณฑ์พิจารณาในวันที่เข้าโครงการ ที่จะต้องเป็นลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เป็นหนี้เสีย 

นายระเฑียร กล่าวว่า แนวโน้มอัตราการผิดนัดชำระหนี้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า น่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังจากพบว่า อัตราการผิดนัดชำระหนี้ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมานี้ ปรับตัวดีขึ้นมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งบริษัทน่าจะผ่านจุดต่ำในเดือนเม.ย.ที่ตามเก็บหนี้ไม่ได้  ทำให้ยังเชื่อว่า ลูกหนี้ยังคงมีความสามารถคืนหนี้ได้อยู่  อีกทั้งนอกจากการเข้าดูแลลูกหนี้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา และเพื่อลดความเสี่ยงต่อผลกำไรที่ลดลง อีกด้านหนึ่งเรามีแผนการอนุมัติบัตรเครดิตที่เข้มงวดขึ้น มีการปรับสกอริ่งเน้นตามคุณภาพเป็นหลัก ดังนั้นคนที่มาขอบัตรเครดิตรายใหม่อาจทำได้ยากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทก็ยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ทั้งปีนี้ได้ เพราะต้องรอดูผลกระทบจากโควิด-19 ที่ชัดเจนอีกครั้ง หลังจาก NPLในไตรมาสแรกปีนี้ ภายใต้มาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS 9 อยู่ที่ระดับ4%

นอกจากนี้ บริษัทจะพยายามรักษาเป้าหมายการเติบโตส่วนอื่นๆ ในปีนี้ไม่ให้ติดลบ แม้ว่าทางด้านการขยายสินเชื่อของบริษัทจะเข้มงวดในการออกบัตรเครดิตใหม่ในปีนี้ ก็ไม่กระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทยังมีสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อพี่เบิ้ม (สินเชื่อธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียน) ที่สามารถเป็นโอกาสเข้ามาชดเชยในส่วนที่หายไปได้