'ปิดทองหลังพระ' หนุน 'ทุเรียนชายแดนใต้' คัดคุณภาพส่งออกจีนเพิ่มรายได้เกษตรกร

'ปิดทองหลังพระ' หนุน 'ทุเรียนชายแดนใต้' คัดคุณภาพส่งออกจีนเพิ่มรายได้เกษตรกร

‘ปิดทอง'ผนึกซีพีดันส่งออกทุเรียนคุณภาพจากสามจังหวัดชายแดนใต้ เผยยอดส่งออกขายจีนปีนี้ทะลัก เหตุจีนล็อคดาวน์ปิดเมือง เพิ่มยอดขายออนไลน์ช่วงที่คนอยู่บ้าน 4 เดือนแรกยอดโต 40% "ดิศนัดดา" ชี้3 จังหวัดชายแดนใต้มีศักยภาพสูงทั้งในแง่ของทรัพยากรและคน

“วิกฤติโควิด”ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางรวมทั้งการส่งออกสินค้าหลายชนิดเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายมากขึ้นแต่ไม่ใช่สินค้าอย่างทุเรียนที่ตลาดในประเทศจีนยังคงต้องการผลไม้ชนิดนี้จากประเทศไทยเป็นอย่างมาก พิสูจน์ได้จากยอดส่งออกทุเรียนไปยังจีนในช่วง 4 เดือนแรกเพิ่มกว่า 40% 

จอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ความต้องการทุเรียนในตลาดจีนยังสูงมาก เห็นได้จากผลผลิตราว 900,000 ตัน เป็นการส่งออกอยู่ 85% เกือบทั้งหมดก็ส่งออกไปยังประเทศจีน ซึ่งเวลานี้ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ

บริษัทได้ร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯในการเข้ามารับซื้อผลผลิตทุเรียนจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมองว่าทุเรียนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตอีกมากโดยเฉพาะในส่วนที่จะพัฒนาไปสู่การส่งออก 

โดยทุเรียนตามโครงการของปิดทองหลังพระฯ ทางซีพีจะรับซื้อไว้ทั้งหมด ซึ่งปีนี้บริษัทได้ให้โควตากับโครงการทั้งหมด 100 ตู้คอนเทนเนอร์ ตู้ละประมาณ 18 ตัน หรือรวมประมาณ 1,800 ตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งที่ซีพีส่งออกไปประเทศจีนอยู่ประมาณ 250 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือประมาณ 4,500ตัน

“ส่วนที่ซีพีได้เข้ามาเสริมโครงการของปิดทองหลังพระฯ คือการนำความรู้เกี่ยวกับตลาดมาบอกคนในพื้นที่ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลบริษัทพบว่าคนจีนนิยมทุเรียนหมอนทองซึ่งเป็นผลผลิตหลักหรือคิดเป็นประมาณ 80% ของทุเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ”

159378257232

การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า จากโครงการนำร่องในจังหวัดยะลาในปี 2561 ผู้ร่วมโครงการ 18 ราย ผลิต 33.4 ตัน สร้างรายได้เกษตรกรผู้ร่วมโครงการ 2.3 ล้านบาท เริ่มขยายพื้นที่ในปี 2562 ไปยังอำเภอต่างๆ ในจ.นราธิวาสและปัตตานี ณ ปี 2563 ครอบคลุม 14 อำเภอใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีเกษตรกรที่ร่วมโครงการ 625 ราย ต้นทุเรียนตามโครงการ 29,201 ต้น คาดว่าผลผลิตจะอยู่ที่ 1,778 ตัน

โดยการเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนมิ.ย. และมากที่สุดในเดือนก.ค. และสิ้นสุดในเดือนก.ย. จังหวัดที่มีผลผลิตมากที่สุดคือยะลา 1,640 ตัน นราธิวาส 88 ตัน และปัตตานี 50 ตัน โดย 85% เป็นเกรด AB ซึ่งเป็นมาตรฐานส่งออก และหนอนเป็น 0% โดยราคารับซื้อทุเรียนเกรด AB อยู่ที่ 100 บาทต่อกก. และเกรดต่ำกว่าก็ราคาลดหลั่นลงมา คาดว่าจะสร้างรายได้ให้เกษตรกรในโครงการมากกว่า 160 ล้านบาทซึ่งสูงเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2562 แยกเป็นยะลา 147 ล้านบาท นราธิวาส 8 ล้านบาท และปัตตานี 5 ล้านบาท

ส่วนของการบริหารจัดการเพื่อส่งออกนั้น ปิดทองหลังพระฯ จะร่วมกับจังหวัดยะลารวบรวมผลผลิตจากเกษตรกรทั้ง 3 จังหวัด คัดแยกก่อนจะส่งไปศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าของบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ที่จังหวัดชุมพร ทางบริษัทดำเนินการขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรือแหลมฉบังและส่งไปขึ้นฝั่งที่เมืองกวางโจว ประเทศจีนต่อไป

ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ในช่วงเริ่มโครงการในปี 2561 ยังมีความกังวลว่าการทำงานในพื้นที่จะเป็นไปไม่ได้ แต่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่มีศักยภาพสูงทั้งในแง่ของทรัพยากรและคน ที่ให้โครงการเดินมาได้อย่างดี ซึ่งเวลานี้จีนปิดเมืองมานาน คนก็จะอยากบริโภคทุเรียนปีนี้ราคาเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่เพราะทุเรียนได้คุณภาพดีซึ่งทำให้ได้ราคาดีด้วย เชื่อว่าถ้ามีการดูแลให้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไปทุเรียนใต้จะเป็นอันดับหนึ่งของประเทศได้

159378264826