กูรูเชียร์ตั้งศูนย์ 'บูโรเอสเอ็มอี' สกัดหนี้เสีย 'เจนแซด'

กูรูเชียร์ตั้งศูนย์ 'บูโรเอสเอ็มอี' สกัดหนี้เสีย 'เจนแซด'

“เครดิตบูโร” เผย “เจนแซด” นิยมทำอาชีพอิสระมากกว่าเป็นลูกจ้าง ชี้ส่วนใหญ่เน้นกู้ “พีโลน-เช่าซื้อ” ใช้เป็นทุนทำธุรกิจ แต่ส่วนใหญ่เจ๊งเพราะต้นทุนการเงินสูง ส่งผลหนี้เสียกลุ่มนี้พุ่ง แนะตั้ง “ศูนย์ข้อมูล บูโรเอสเอ็มอี”

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนิยมหันมาทำธุรกรรมบนโลกออนไลน์ที่มากขึ้น ส่งผลให้มี “ธุรกิจใหม่ๆ” เกิดขึ้นมากมายบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะการขายสินค้าบริการต่างๆ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “เจนแซด” หรือนักศึกษาจบใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปีลงมา โดยกลุ่มนี้นิยมใช้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อบัตรเครดิตเพื่อนำมาเป็นทุนในการประกอบกิจการ เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่เข้าถึงง่ายแต่มีข้อเสีย คือ ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ส่งผลให้หลายคนกลายเป็นหนี้เสีย ดังนั้นโจทย์ใหญ่ จึงอยู่ที่ จะทำให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ ซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่าได้อย่างไร

นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า ระยะหลังเริ่มเห็นกลุ่มเด็กจบใหม่ วัยเริ่มทำงานที่มีอายุต่ำกว่า 23 ปีลงมา ขอสินเชื่อส่วนบุคคล รวมไปถึงสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นทุนในการประกอบธุรกิจค้าขายบนโลกออนไลน์ ส่งผลให้กลุ่มเจนแซด มีหนี้สินจากบัญชีเงินกู้ประเภทเหล่านี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมา 

โดยเฉพาะ บัญชีสินเชื่อบุคคล ซึ่งเติบโตก้าวกระโดด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 กลุ่มเจนแซด มีจำนวนบัญชีสินเชื่อประเภทนี้รวมทั้งสิ้น 77,389 บัญชี เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนบัญชีเพียง 26,912 บัญชี โดยคิดเป็นมูลค่าสินเชื่อคงค้าง 2,400 ล้านบาท จาก 1,001 ล้านบาท 

ขณะที่บัญชีเช่าซื้อรถยนต์ และไม่ใช่รถยนต์ จำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด มาอยู่ที่ 34,129 บัญชี จาก 8,706 บัญชี โดยคิดเป็นสินเชื่อคงค้างที่ 17,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีสินเชื่อคงค้างเพียง 4,958 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม หลักการของการเพิ่งเริ่มทำธุรกิจ ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีอัตราสูงที่ จะไม่ประสบความสำเร็จ โอกาสรอดต่ำ ดังนั้นแปลว่า หากคนกลุ่มนี้ ล้มเหลวทางธุรกิจในอายุ 22 ปี ส่งผลให้เกิดเป็นหนี้เสียหรือเป็นเอ็นพีแอล และกว่าที่กลุ่มนี้จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อได้ใหม่ มักต้องรอถึง 3 ปี หรืออายุ 25 ปี ถึงจะสามารถกู้เงินได้อีกครั้ง

นายสุรพล กล่าวว่า สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือ ทำอย่างไรให้กลุ่มนี้ ที่เป็นวัยเพิ่งเริ่มทำงาน สามารถเข้าสู่สินเชื่อได้มากขึ้น แต่มีต้นทุนที่ถูกลงและเหมาะสมกับการทำธุรกิจ ดังนั้นเรื่องนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราควรต้องมีการสร้างศูนย์ข้อมูล หรือ ถังข้อมูล “เอสเอ็มอีบูโร”ขึ้นมา จากปัจจุบันที่มีถังข้อมูลสองถังอยู่แล้ว คือ ข้อมูลรายย่อย และข้อมูลไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเหมือนเครดิตบูโรก็ได้ แต่ต้องได้รับการยินยอมให้เกิดการเก็บข้อมูลคล้ายกับเครดิตบูโร

“ในหลายประเทศ ที่เริ่มมีการสร้างฐานข้อมูลใหม่ขึ้นมา ไม่ใช่เพียง ข้อมูลนิติบุคคล กับบุคคลธรรมดา แต่มีอีก New data base คือ บุคคลธรรมดาที่เป็นเอสเอ็มอี เพื่อแยกให้ชัดเจน ระหว่างคนธรรมดาที่มีพฤติกรรมกินใช้ กับ บุคคลธรรมดาที่ทำธุรกิจ เพราะเชื่อว่าหากมีการแยกข้อมูลเหล่านี้ชัดเจน การวิเคราะห์ความเสี่ยงสินเชื่อ การทำนโยบายการช่วยเหลือต่างๆ จะตรงจุด ตรงกลุ่มเป้าหมาย ถูกฝาถูกตัวมากยิ่งขึ้น”

นายสุรพล กล่าวต่อว่า หากมีข้อมูลที่ชัดเจน จะง่ายต่อการวางกฎเกณฑ์ในการกำกับ หรือการใช้สินเชื่อในอนาคต การที่เป็นบุคคลธรรมดาแต่เป็นเอสเอ็มอี จะสามารถวางเกณฑ์กติกาในการกำกับสินเชื่อได้ง่าย และไม่เข้มข้นเท่ารายย่อยได้ โดยเฉพาะดอกเบี้ย หากเป็นสินเชื่อรายย่อยปกติ อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ราว 18-28% แต่เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ดอกเบี้ยต่ำกว่า 10% เฉลี่ยไม่เกิน 15% ดังนั้นก็เป็นโอกาส หากมีความชัดเจนว่า กลุ่มนี้กู้ไปทำธุรกิจ ก็สามารถได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลง กว่าการกู้สินเชื่อรายย่อยไปทำธุรกิจได้

ทั้งนี้ เชื่อว่าสิ่งสำคัญ เมื่อเห็นข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่าวัตถุประสงค์การกู้ ของแต่ละบุคคลเป็นอย่างไร และเพื่อให้สอดรับกับ ยุค New normal ที่อาจเห็นคนจำนวนหนึ่งหันมาประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น เพราะมีจำนวนหนึ่งที่ถูกบังคับให้ออกเพราะต่อไป โลกอนาคตจะใช้โรโบติกเข้ามาทดแทนคนมากขึ้น ดังนั้น การให้สินเชื่อต้องมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดรับกับคนยุคใหม่ “ที่ล้มเร็วฟื้นเร็ว”เพื่อให้โอกาสผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือบุคคลธรรมดาที่เป็นเอสเอ็มอีเหล่านี้ มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้อีกครั้งเมื่อสะดุดล้ม โดยไม่ต้องรอถึง 3ปี

“กลุ่มเจนแซดเป็นกลุ่มที่ก่อหนี้เร็ว หากเป็นหนี้ที่เอาไปทำธุรกิจ อันนี้เราไม่กลัว ซึ่งหากใช้ทำธุรกิจ แล้วเกิดความเสียหาย สถาบันการเงิน ก็ต้องให้โอกาสเขากลับมาโดยไม่ต้องรอ 3 ปี เหมือนต่างประเทศ ที่มีการแยกข้อมูลเหล่านี้ ว่าถึงเอสเอ็มอี ถึงคอนซูเมอร์ ซึ่งจะทำให้ผู้กู้ ล้มได้ เจ๊งได้ แต่ต้องฟื้นเร็ว ดังนั้นต้องมีนิวดาต้าเบส อันนี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่รองรับเจนแซด แต่ทุกกลุ่มที่วันนี้ ใช้สินเชื่อบุคคล บัตรเครดิต มาทำธุรกิจ หากเราเห็นชัดเจนขึ้น จะทำให้ง่ายต่อการกำกับ หรือการช่วยเหลือกลุ่มนี้ได้ง่ายมากขึ้น”

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เชื่อว่าการมีดาต้าเบส หรือมีเอสเอ็มบูโรเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแยกกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เชื่อว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้แบงก์เข้าถึงข้อมูลผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มได้ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจออนไลน์ ที่เหล่านี้เข้าถึงสินเชื่อได้ยาก

แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่าหลายสถาบันการเงิน ก็มีการใช้เทคโนโลยีทางการเงินต่างๆ มาแยกพฤติกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าใจพฤติกรรม และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น ร้านค้าออนไลน์ เพื่อโอกาสให้กลุ่มนี้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น บนต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้นการมีข้อมูลใหม่ๆ มาใช้พิจาณาในการให้สินเชื่อในอนาคต เชื่อว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ไม่ใช่แค่พฤติกรรมการชำระเงิน หรือเงินในบัญชีเท่านั้น แต่การมีข้อมูลที่หลากหลาย จะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ