กทม.กำชับสถานประกอบการ พบหย่อนยานป้องกัน 'โควิด' ฟันตามกม.ทันที

กทม.กำชับสถานประกอบการ พบหย่อนยานป้องกัน 'โควิด' ฟันตามกม.ทันที

กทม.กำชับสถานประกอบการ พบหย่อนยานป้องกัน 'โควิด' ฟันตามกม.ทันที

ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เป็นประธานการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 64/2563

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้กำชับให้คณะทำงานด้านการประสานงานการดูแลความสงบเรียบร้อยและหน่วยงานต่างๆ ตรวจแนะนำสถานประกอบการ กิจการ กิจกรรม ที่ได้รับการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะสถานประกอบการที่ได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 5 ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด อาทิ สถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานประกอบการที่คล้ายคลึงกัน สถานบริการอาบ อบ นวด ร้านอินเตอร์เน็ต ร้านเกม 

โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาวที่มักจะมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก โดยให้เพิ่มจำนวนสถานที่และความถี่ในการตรวจแนะนำ หากพบสถานประกอบการใดไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นและจริงจัง  

รวมทั้งขอให้รณรงค์กระตุ้นเตือนประชาชนระมัดระวังดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อาทิ สวมหน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น ตลอดจนขอให้ประชาชนปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางราชการรวมถึงกรุงเทพมหานครกำหนด 

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักอนามัย ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ โรงเรียนทั้งในสังกัด กทม. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และนำมารายงานต่อที่ประชุม ศบค.กทม. เพื่อหาแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด  สำหรับข้อกำหนดตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. 

กทม.กำชับสถานประกอบการ พบหย่อนยานป้องกัน \'โควิด\' ฟันตามกม.ทันที

หากผู้ปกครองพบว่า นักเรียนมีอาการป่วย ตัวร้อน เป็นไข้ ไอ จาม ขอให้งดการไปโรงเรียนและรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวิเคราะห์โดยเร็ว หากโรงเรียนพบว่านักเรียนมีอาการป่วย ตัวร้อน เป็นไข้ ไอ จาม ในขณะที่อยู่ในโรงเรียนให้แยกตัวไปพักสังเกตอาการ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้นำตัวส่งโรงพยาบาลหรือประสานศูนย์เอราวัณรับตัวไปส่งโรงพยาบาลและให้ติดต่อผู้ปกครองโดยเร็ว

ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19  ที่ประชุมขอให้สำนักพัฒนาสังคม พิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือเยียวยา เช่น การฝึกอบรมอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือน หรือหาแนวทางลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น การส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวสำหรับบริโภคในครัวเรือน เป็นต้น