‘กรุงไทย’ แชมป์รีเทิร์นกองหุ้น ผลตอบแทนบวกเด่น สวนทางดัชนีติดลบ 15%

‘กรุงไทย’ แชมป์รีเทิร์นกองหุ้น ผลตอบแทนบวกเด่น สวนทางดัชนีติดลบ 15%

กองทุนหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก โชว์ผลตอบแทนครึ่งแรกปี 63 พลิกแซงหน้าหุ้นขนาดใหญ่ในรอบ3 ปี เหตุ เน้นลงทุน "กลุ่มไฟแนนซ์- โรงพยาบาล -สาธารณูปโภค -อาหาร“ ธุรกิจเติบโตได้ช่วงโควิด ด้านบลจ.กรุงไทย เด่นสุด ทำรีเทิร์นบวกได้ถึง 2 กอง

ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' ทำให้ดัชนีปรับตัวลดลงแรงเกือบหลุด 1,000 จุด แม้จะดัชนีจะรีบาวด์กลับมาได้ แต่ยังติด-15.24% ย่อมส่งผลกระทบต่อผลอตอบแทนกองทุนหุ้นไทย 

จากการมูลมอร์นิ่งสตาร์ ประเทศไทย ณ 30 มิ.ย2563 พบว่ากองทุนหุ้นไทยที่ลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ 10 อันดับแรก ทำผลตอบแทนดีสุดติดลบ-5.17%และผลตอบแทนน้อยสุดติด-9.80% ขณะที่กองทุนหุ้นไทยที่ลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก 10 อันดับ มีผลตอบแทนสูงสุดเพิ่มขึ้น 7.75% และต่ำสุดที่-2.70%

สำหรับกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็กมีมีเพียง 2 กองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนเป็น “บวก” ซึ่งเป็นกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์กองทุน(บลจ.)กรุงไทย จำกัด (KTAM) ทั้ง 2 กองทุน คือ กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้น เอ็มเอไอ หรือKT-mai มีผลตอบแทนอยู่ที่ 7.75% และกองทุนเปิดกรุงไทย หุ้น Mid/Small Cap หรือ KTMSEQ มีผลตอบแทนอยู่ที่ 3.29%

ทั้งนี้ กองทุนหุ้นไทย ลงทุนกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก กลับมาโชว์ผลตอบแทนโดดเด่น ส่วนหนึ่งสะท้อนมาจากภาพรวมดัชนีตลาดหุ้น mai และ sSET Indexในช่วง6เดือนแรกของปีนี้ปรับตัวลดลง เพียง-3.8% และ-12.7% ถือเป็นการปรับตัวลงน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับดัชนีSET 100 , SET 50 ,SET Index ที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างมากที่-16.4% ,-17.2% และ-15.2% ตามลำดับส่งผลให้ผลตอบแทนรวม (Total Return Index)ของ sSET Index ปรับตัวลดลงเพียง-8.3% ถือเป็นการปรับตัวลง น้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนของ SET 100 และ SET 50 ปรับลดลงค่อนข้างมากที่-14.5% และ-15.4% ตามลำดับ 

อีกส่วนหนึ่งมาจากสไตล์การลงทุนของกองทุนประเภทนี้ เป็นการลงทุนในกลุ่มหุ้นค้าขายในประเทศเป็นหลัก(Domestic Demand) เช่น ธุรกิจไฟแนนซ์ โรงพยาบาล สาธารณูปโภค และอาหาร ซึ่งยังเป็นกลุ่มธุรกิจยังอยู่รอดในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19และเติบโตได้ต่อเนื่องแม้หลังยุคโควิด-19 อีกทั้งกองทุนดังกล่าวมีการลงทุนในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่มีสัดส่วนที่น้อยมาก จึงไม่ได้รับผลกระทบหรือ ได้รับผลกระทบน้อยกว่า

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ในSET50 อย่างกลุ่มธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เผชิญแรงกดดันหนี้เสียเพิ่มขึ้น และกลุ่มธุรกิจพลังงาน เผชิญแรงกดดันราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ทำให้กองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะกองทุนที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ จะมีสัดส่วนการลงทุนหุ้นในกลุ่ม SET50มากกว่า70% ซึ่งหุ้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหุ้นธนาคารพาณิชย์และพลังงาน

นางสาวชญาณี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประโทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ ธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์และพลังงาน ได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 สะท้อนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนกลุ่มนี้ปรับตัวลงในไตรมาสแรก และไตรมาสสองยังมีแนวโน้มลดลง  ส่งผลให้ผลตอบแทนกองทุนหุ้นไทยที่ลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวลงตามค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็กที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า 

  แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็กแม้จะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า แต่ก็มีความเสี่ยงมากกว่าในภาวะผันผวน  ดังนั้นอยากให้นักลงทุนมองภาพการลงทุนในระยะยาว พร้อมกับประเมินการรับความเสี่ยงการลงทุนของตัวเองที่สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหนก่อนตัดสินใจลงทุน

ขณะที่ นายสมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย กล่าวว่า การคลายล็อกดาวน์ เป็นปัจจัยสนับสนุนให้กลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก ยังมีแนวโน้มที่ได้ประโยชน์และเติบโตต่อได้ทำให้กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กกลับมาเป็นที่สนใจของผู้ลงทุน  แต่จากปีนี้ที่คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นจะยังคงผันผวน จาก การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสอง  ทำให้ กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงขาลงมากกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ โดยดัชนีตลาดหุ้นปีนี้คาดไซด์เวย์ที่ระดับ1,350-,1450 จุด และคาดว่าปีหน้าดัชนีมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 1,530 จุด  ดังนั้นแนะนำว่า ในจังหวะนี้ผู้ลงทุนสามารถกลับมาเริ่มพิจารณาทยอยสะสมลงทุนในกองทุนหุ้นไทยในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็กได้ แต่ควรมองเป็นการลงทุนระยะยาว3 ปีขึ้นไป เพื่อได้รับผลตอบแทนที่ดี​