ทุจริตเบิกงบฯบัตรทอง! ลุยเอาผิด"คลินิกชุมชนอบอุ่น" 18 แห่ง

ทุจริตเบิกงบฯบัตรทอง! ลุยเอาผิด"คลินิกชุมชนอบอุ่น" 18 แห่ง

ลุยเอาผิด"คลินิกชุมชนอบอุ่น" 18 แห่ง ทุจริตเบิกจ่ายงบฯบัตรทอง ปลอมผลตรวจสุขภาพป้องกันโรค เบิกเงินเกิน 72 ลบ. แจ้งความเอาผิดฐานฉ้อโกง สบส.เร่งตรวจสอบพบผิดเอาโทษคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท จ่อพักใช้ใบอนุญาต กระทบ 2 แสนคน

     เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ประชุมหารือร่วมกับ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)ถึงกรณีข้อมูลการทุจริตเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในส่วนของคลินิกชุมชนอบอุ่นจำนวน 18 แห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งได้มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราฎรเมื่อเร็วๆ นี้

        นายอนุทิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า เรียก สปสช.มาชี้แจงร่วมกับผู้บริหาร สธ.พบว่า เรื่องนี้เกิดจากการที่ สปสช.เห็นข้อมูลความไม่ปกติของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ส่อไปในทางทุจริต โดยมีการส่งใบเรียกเก็บเงิน และบอกว่าได้ทำการตรวจเช็กสุขภาพประชาชนในเขต กทม. จึงทำการตรวจสอบและพบว่ามีการเรียกเก็บเงินเกินกว่างานที่ทำจริง โดยยอดเงินที่เสียหายราว 72 ล้านบาท ซึ่งสปสช.ได้เรียกเก็บมาแล้วประมาณ 60.77 ล้านบาท ส่วนความผิดในทางคดีอาญานั้น เลขาธิการ สปสช.ก็จะแจ้งความเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามขั้นตอน นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ที่ดูแลเรื่องการให้ใบอนุญาตสถานพยาบาลแก่คลินิกต่างๆ ก็จะลงไปตรวจสอบอย่างละเอียด หากพบว่ามีการกระทำผิดตามมาตรา 73 พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ที่เกี่ยวข้องกับจริยธรมและข้อมูลอันเป็นเท็จ ก็จะดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมด

           นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม.มีประมาณ 190 แห่ง พบการกระทำผิด 18 แห่ง โดยมีการตกแต่งตัวเลขเพื่อเบิกเงินจากสปสช.ในส่วนของบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ในกลุ่มของโรคเมตาบอลิก คือ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคอ้วน เป็นต้น ซึ่งตามปกติแล้วคลินิกจะมีการตรวจคัดกรองประชาชว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคเหล่านี้หรือไม่ โดยทำการตรวจวัดน้ำหนัก ส่วนสูง วัดความดัน สอบถามประวัติความเสี่ยง เช่น ครอบครัวมีคนป่วยด้วยโรคเหล่านี้หรือไม่ หากไม่พบความเสี่ยงหรือไม่ผิดปกติก็จะแนะนำให้ไปตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี

         “การตรวจเหล่านี้จะเบิกจ่ายประมาณ 100 บาทต่อราย แต่หากมีความเสี่ยงผิดปกติจะมีการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจ ซึ่งจะเบิกเพิ่มเติมอีก 300 บาท ซึ่งสปสช.พบว่า มีการตกแต่งตัวเลข เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม แต่รายงาน 60 กิโลกรัม เพื่อให้ค่า BMIหรือดัชนีมวลกายเกินเท่ากับมีความเสี่ยงที่จะต้องเจาะเลือดเพื่อเอาเงินเพิ่มอีก 300 บาท ซึ่งการเบิกจ่ายนั้น คลินิกจะส่งชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน 13 หลัก มาเบิกจ่ายในแต่ละสิทธิประโยชน์ ซึ่งตามปกติ สปสช.จะมีการตรวจสอบ (Audit) เป็นประจำอยู่แล้ว และจะสุ่มตรวจประมาณ 5% ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ โดยมีการโทร.ไปสอบถามผู้ป่วยว่ามีการตรวจมีการบริการเช่นนี้หรือไม่ด้วย ”นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

      นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า ในปีงบประมาณ 2562 ดำเนินการตรวจสอบจนถึงช่วง ส.ค. 2562 ก็พบเห็นความผิดปกติ จึงขยายการสอบสวนทั้งหมดจนทราบจำนวนคลินิกและวงเงินที่เบิกเกิน มีการนำเรื่องเข้าสู่คณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพ กทม.เมื่อ ก.ย.-ต.ค. 2562 และมีมติให้เรียกเงินคืน พร้อมแจ้งเรื่องมายัง สปสช.พิจารณา ซึ่งสปสช.เห็นว่ามีมูล ทั้งนี้ การเรียกเงินคืนในส่วนที่เหลือกำหนดให้คืนภายในสิ้น ก.ย. 2563 อย่างไรก็ตาม จะมีการรวบรวมหลักฐานในแง่ของกฎหมาย เพื่อส่งเรื่องให้แก่ สบส.และแจ้งความฐานฉ้อโกงในคดีอาญาด้วย ซึ่งเอกสารต่างๆ เสร็จแล้ว ตนได้มอบอำนาจตัวแทนไปดำเนินการแล้ว

         “หากมีการสั่งปิดคลินิกชุมชนอบอุ่นทั้ง 18 แห่ง จะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการต้องไปรับบริการประมาณ 2 แสนคน แต่ สปสช.ได้เตรียมการรองรับไว้แล้วด้วยการจัดหาคลินิกชุมชนอบอุ่นข้างเคียงที่ยังมีรองรับได้ และผู้ป่วยเหล่านี้จริงๆ ยังมีหน่วยบริการประจำหรือ รพ.ตามสิทธิที่รับดูแลอยู่ เพราะเป็นการกระจายผู้ป่วยจาก รพ.มายังคลินิกชุมชนอบอุ่นเพื่อลดความแออัด”นพ.ศักดิ์ชัยกล่าว

         ด้านนพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.จะตรวจสอบคลินิกดังกล่าว โดยจะพิจารณาตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ความผิดทางอาญาในมาตรา 73 เรื่องการทำหลักฐานเท็จ การปลอมเอกสารเบิกจ่ายต่างๆ ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท และจะดำเนินการแจ้งความ สน.ในท้องที่ และ 2. มาตรการทางปกครอง จะรอข้อมูลจาก สปสช. ว่ามีผู้เสียหายจากการดำเนินการนี้อย่างไร เช่น สปสช.เป็นผู้เสียหายจากการถูกฉ้อโกง หรือมีประชาชนได้รับความเสียหายหรือไม่ เพราะไม่ป่วยแต่ถูกวินิจฉัยว่าป่วย ต้องไปกินยาอะไรหรือไม่ ก็จะใช้อำนาจตามมาตรา 49 และ 50 ให้ระงับการดำเนินการ และหากมีความผิดร้ายแรงก็จะสั่งพักใช้ใบอนุญาต ทั้งนี้ จะส่งทีมลงไปตรวจสอบคลินิกทั้ง 18 แห่งภายใน 3-4 วันนี้

       เมื่อถามว่าการออกมาแถลงตรงนี้มีการมองว่าเกิดจากศึกซักฟอกที่ผ่านมา นายสาธิตกล่าวว่า ไม่ใช่ ต้องย้ำว่าการอภิปรายของ ส.ส.ในสภาฯ เป็นกรณีที่ สปสช.ตรวจสอบพบเอง และเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 และตรวจสอบมาตลอด เมื่อสธ.รับทราบไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อเห็นข้อมูลจากการอภิปราย จึงมาเรียกประชุมเพื่อจัดการให้ดำเนินการตามขั้นตอนและกฎหมายอย่างเด็ดขาด ไม่ได้หมายความว่าปกปิด