อำลา 'สกาลา' ย้อนรำลึก 5 โรงหนังสแตนด์อโลนในตำนาน

อำลา 'สกาลา' ย้อนรำลึก 5 โรงหนังสแตนด์อโลนในตำนาน

ปิดฉาก “สกาลา” โรงภาพยนตร์แบบ “สแตนด์อโลน” แห่งสุดท้ายในกรุงเทพฯ พร้อมย้อนรอย 5 ประวัติศาสตร์โรงหนังตั้งโดดเดี่ยวแต่คลาสสิก

โรงภาพยนตร์ หรือ โรงมหรสพ เป็นสิ่งที่สร้างความรื่นเริงบันเทิงใจกับกับผู้คนมาอย่างยาวนานกว่า 60 ปี แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน โรงหนังก็ย่อมเปลี่ยนตามไปด้วย และการพยายามสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เข้าถึงประชาชนไปทั่วทุกพื้นที่ไม่เว้นแม้แต่ "โรงภาพยนตร์" ทำให้เกิดลักษณะโรงฉายที่เรียกว่า "มัลติเพล็กซ์" หรือโรงภาพยนตร์แบบเต็มรูปแบบขึ้นมา 

โดย โรงภาพยนตร์ ในยุคแรก ในช่วงปี 2440 เนื่องจากผู้คนไม่ค่อยนิยมดูละครเวทีแล้ว จึงได้เปลี่ยนจาก "โรงละครเวที" ให้กลายมาเป็นโรงภาพยนตร์ โดยฉายภาพยนตร์จากต่างประเทศ

ต่อมาในช่วงปี 2491 ที่ถือว่าเป็นช่วงเฟื่องฟูของ โรงภาพยนตร์ มีศิลปะวิทยาการใหม่ ๆ และความเจริญจากฝั่งตะวันตกเข้ามา จึงเกิดโรงภาพยนตร์แบบ "ตั้งเดี่ยว" (Stand-alone) ก่อตั้งขึ้นมามากมายในใจกลางเมือง และมีโรงภาพยนตร์หลายโรงตั้งอยู่ในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน 

และการเปลี่ยนแปลงก็ได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2528 เริ่มมีโรงภาพยนตร์สมัยใหม่กว่าเข้ามา (แบบมัลติเพล็กซ์) ที่ได้รวมไลฟ์สไตล์หลาย ๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน ในห้างสรรพสินค้า และในปัจจุบันที่เปลี่ยนจากฟิล์มมาเป็นดิจิทัล อีกทั้งการที่มีช่องทางในการดูหนังฟรีอีกมากมาย

และเมื่อ "วัฒนธรรมการดูหนังของผู้คนเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนไป ก็ทำให้ความรุ่งเรืองของโรงหนังเหล่านี้เริ่มค่อย ๆ หายไปเช่นกัน เพราะรูปแบบของ "โรงหนังสแตนด์อโลน" ไม่ตอบโจทย์ของคนส่วนใหญ่ในยุคนี้อีกต่อไป

จริงอยู่ที่โรงภาพยนตร์ทั้งแบบสแตนด์อโลนและแบบมัลติเพล็กซ์มีฟังก์ชั่นเดียวกันทั้งคู่คือ "ฉายหนัง" แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ความสะดวกสบายทุกระดับในแบบมัลติเพล็กซ์ และเสน่ห์ความ "เก่าแต่คลาสสิก" อันน่าหลงใหล แถมราคาปลอดภัยของโรงหนังแบบสแตนด์อโลน 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนย้อนไปดู 5 โรงหนังสแตนด์อโลนที่เคยได้ให้ความบันเทิงแก่ผู้คน ว่าในปัจจุบัน สถานที่เหล่านั้นเป็นอย่างไรบ้าง 

1. ศาลาเฉลิมเขตร์

159376701478

ที่มารูปภาพ : เพชรรามา

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมเขตร์ ตั้งอยู่ตีนสะพานยศเส เยื้องกับโรงพยาบาลหัวเฉียว ไม่ทราบเวลาเปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่ชัดเจนนัก ตัวอาคารของโรงภาพยนตร์ทันสมัยมาตรฐานสากล อีกทั้งยังมีความสะดวกในการไปชม โดยโรงหนังเฉลิมเขตร์ฉายทั้งภาพยนตร์ไทย และภาพยนตร์ต่างประเทศ และเคยมีผู้ชมรอเข้าชมหนังต่างประเทศที่เฉลิมเขตร์ฉายมากจนต้องต่อแถวคิวยาวไปจนถึงหน้าโรงพยาบาลหัวเฉียวเลยทีเดียว นับได้ว่าเป็นตำนานของโรงหนังในยุครุ่งเรือง ที่วัยรุ่นแทบทุกคนสมัยนั้นต้องเคยไปดูหนังที่นี่อย่างแน่นอน

โรงภาพยนตร์เฉลิมเขตร์ ถูกรื้อถอนออกไปเมื่อปี 2518 ในปัจจุบันได้สร้างเป็นอาคารพาณิชย์ และกลายเป็นย่านการค้า

2. โรงภาพยนตร์กรุงเกษม

159376722267
ที่มารูปภาพ : pinterest

โรงภาพยนตร์กรุงเกษม ตั้งอยู่ที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง เปิดฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 4 พฤศจิกายน 2498 ในระยะแรกโรงหนังแห่งนี้ฉายหนังฮอลลีวูดเป็นหลัก แต่ก็มีหนังไทยและหนังยุโรปฉายอยู่บ้าง และกรุงเกษมได้สร้างตำนานการฉายภาพยนตร์เรื่อง มนต์รักเพลงสวรรค์ (The Sound of Music) ต่อเนื่องกว่า 6 เดือน เมื่อพ.ศ. 2508 ต่อมาได้เริ่มหันมาฉายหนังจีนอย่างเต็มตัวในปี 2513 จนเรียกได้ว่าเป็น "โรงหนังจีน" เลยก็ว่าได้ เพราะได้รับความนิยมจากชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก

เมื่อถึงปี 2528 โรงภาพยนตร์กรุงเกษมเลิกกิจการ และได้รื้อถอนตึก เพื่อก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์

3. ศาลาเฉลิมไทย

159376732996
ที่มารูปภาพ : สร้างประวัติศาสตร์สังคมย่านเมืองเก่ากรุงเทพฯ

โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนราชดำเนินกลางกับถนนมหาชัย โรงภาพยนตร์ชั้นเดียวที่ทันสมัย มีเวทีเลื่อนได้แบบไฮดรอลิค มีลิฟต์สำหรับผู้ชมชั้นบน ภายในบุด้วยวัสดุกันเสียงสะเทือน ผู้ที่จะมาชมต้องจองตั๋วล่วงหน้า โดยเปิดฉายรอบปฐมทัศน์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2492 

ศาลาเฉลิมไทยเป็นแหล่งความบันเทิงแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และเวลาของครอบครัวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในยุคนั้น โดยศาลาเฉลิมไทยยังเป็นโรงภาพนยตร์แห่งแรกในเมืองไทยที่มีการฉายภาพยนตร์สามมิติ ศาลาเฉลิมไทยได้รับความนิยมจากผู้คนเป็นเป็นจำนวนมาก จนเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2532 คณะรัฐมนตรีรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้รื้อศาลาเฉลิมไทย ด้วยเหตุผลเพื่อเปิดทัศนียภาพของวัดราชนัดดาราชวรวิหาร และโลหะปราสาท และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2532 ทางศาลาเฉลิมไทยได้จัดแสดงละครเวทีเรื่อง "พันท้ายนรสิงห์" เป็นการอำลาอาลัยก่อนจะปิดตัวอย่างถาวร 

ปัจจุบัน ศาลาเฉลิมไทยได้ถูกสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ สถานที่ประดิษฐานพระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3

4. ลิโด มัลติเพล็กซ์

159376748297
ที่มารูปภาพ : Facebook : ภาพเก่าในอดีต

โรงภาพยนตร์ลิโด มัลติเพล็กซ์ ตั้งอยู่ภายในสยามสแควร์ เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2511 ด้วยภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Guns For San Sebastian) ลิโดถือเป็นโรงหนังในดวงใจของคนมาหลากหลายยุค โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบดูหนังอิสระ หนังนอกกระแส หนังรางวัล หรือหนังที่หาดูยาก ที่ไม่ค่อยฉายในโรงหนังทั่วไป และยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของวัยรุ่นมารุ่นต่อรุ่น เสน่ห์ของลิโดที่นอกจากเป็นการฉายหนังนอกกระแสและราคาบัตรถูกแล้ว แต่บัตรชมภาพยนตร์ยังเป็นบัตรกระดาษบางๆ อยู่ 

ปี 2561 ลิโด หมดสัญญาเช่าจากสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ และส่งคืนให้กับ CU Property ในปี 2561 เพื่อนำไปพัฒนาทำห้างสรรพสินค้าสยามสแควร์ ภายใต้ชื่อ Lido Connect (ลิโด้ คอนเนค) 

5. สกาลา

159376757214
ที่มารูปภาพ :  Facebook : ภาพเก่าในอดีต

โรงภาพยนตร์สกาลา ตั้งอยู่ภายในสยามสแควร์ แต่มีระยะห่างจากถนนพระรามที่ 1 ไม่กี่เมตร มีการยกย่องให้สกาลาเป็นโรงภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก อันสวยงามโดดเด่น ผสมผสานระหว่างรูปแบบตะวันตกและตะวันออก สกาลาเปิดฉายรอบปฐมทัศน์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2512 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง "สองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated)" 

นอกเหนือจากโรงหนังโรงโปรดของคอหนังนอกกระแส สกาลาก็เป็นอีกโรงหนึ่งเช่นกันที่มักจะนำหนังนอกกระแสทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึง คัดสรรหนังที่หาชมได้ยาก ที่โรงภาพยนตร์อื่นไม่ฉายกันมาขึ้นฉาย รวมถึงยังเป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของวัยรุ่นในย่านสยามสแควร์ ด้วยความสวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น และการพยายามรักษาความคลาสลิกเดิมเดิมให้อยู่ได้ยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ สกาลาจึงไม่ใช่แค่สถานที่แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ตั้งแต่พนักงาน เครื่องแบบคนเดินตั๋ว ข้าวของเครื่องใช้ และสถาปัตยกรรมย้อนยุค 

โดยต่อจากนี้ สกาลาจะหมดสัญญาเช่ากับสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2563 นี้ ซึ่งจะมีการจัดงาน LA SCALA เตรียมฉายหนัง “ปิดม่าน” และเปิดไฟห้องโถงทางเดินให้ครบทุกดวงเพื่อให้ผู้ที่สนใจไปเก็บบรรยากาศสกาล่าเป็นครั้งสุดท้าย เริ่มตั้งแต่วันที่ 3-5 กรกฎาคม 2563

ที่มา : โรงภาพยนตร์ , โรงภาพยนตร์ , แบบมัลติเพล็กซ์ , วัฒนธรรมการดูหนัง