พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 63 ติดลบ 1.1 %

พาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อปี 63 ติดลบ  1.1 %

เงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ติดลบ 1.57% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพ.ค. คาดแนวโน้มเงินเฟ้อครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้นหลังปลดล็อกจากสถานการณ์โควิด-19

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.กระทรวงพาณิชย์  เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนมิ.ย.ยังคงติดลบ1.57% แต่ดีขึ้นจาก 3.44%  ในเดือนพ.ค.  โดยมีสาเหตุสำคัญจากสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มลดลง 2.53%  และสินค้าในหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลง5.06% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงมากถึง 16.14% อีกทั้งมาตรการของภาครัฐลดค่าไฟฟ้า น้ำประปา ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายน้อยลง ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ยังคงมีความเข้มงวดดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคของประชาชน ทำให้สินค้ายังคงทรงตัวไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น

  159376343965

ทั้งนี้ สนค.ได้ประเมินว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยใหม่ทั้งปีอยู่ที่ ติดลบ 0.7 ถึง ติดลบ 1.5% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 1.1% จากเดิมที่ประเมินไว้อยู่ที่ ติดลบ 0.2 ถึงติดลบ 1.0% โดยค่ากลางอยู่ที่ ติดลบ 0.6% ภายใต้สมมุติฐานมาจากราคาน้ำมันโดยประเมินว่าราคาน้ำมันทั้งปี 2563 อยู่ที่ 35-45 ดอลลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์ และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ ติดลบ 8.6 – ติดลบ 7.6% จากเดิมที่ประเมินไว้อยู่ที่ 5.8 – ติดลบ 4.8% แต่อย่างไรก็ดี แม้จะประเมินเงินเฟ้อทั้งปีติดลบแต่ก็อยู่ในสัญญาณที่ดีขึ้น ติดลบน้อยลงเพราะถือว่าเงินเฟ้อผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แม้ครึ่งปีหลังนี้เงินเฟ้อจะติดลบก็ตาม แต่ก็เป็นไปตามสัญญาณและสถานการณ์ภายในประเทศ ซึ่งก็มีผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย          

"การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่รัฐบาลได้ประกาศออกมาเป็นระยะ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยที่ถูกจำกัดในช่วงก่อนหน้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ ทั้งการค้าปลีก การคมนาคม-ขนส่ง และการท่องเที่ยว สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจหลายตัวที่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชนซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อน่าจะสามารถกลับเข้าสู่ทิศทางปกติได้แบบค่อยเป็นค่อยไป"

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า  สัญญาณว่าเงินเฟ้อเริ่มฟื้นตัวไปในทิศทางที่ดี และช่วงนี้ไม่ใช่ภาวะเงินฝืดอย่างแน่นอน เห็นได้จากสินค้าบางรายการปรับตัวดีขึ้นซึ่งก็เป็นไปตามสัญญาณที่ดีสอดคล้องกับการใช้จ่ายของประชาชน และผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ สำหรับครึ่งปีหลังนั้น เชื่อว่าเงินเฟ้อจะดีขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัว 0.05% เฉลี่ย เดือน (ม.ค.- มิ.ย.) ปี 2563
เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 1.13 %  และ เงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้น 0.32%