จาก 'ฌอน' ถึง พ.ร.บ.เรี่ยไร 'บริจาค' อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก!

จาก 'ฌอน' ถึง พ.ร.บ.เรี่ยไร 'บริจาค' อย่างไรไม่ให้ถูกหลอก!

ดราม่าเงิน "บริจาค" กรณี "ฌอน บูรณะหิรัญ" นำไปสู่คำถามถึงการรื้อ-ปรับ พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2487 ที่ควรรัดกุม ป้องกันการฉ้อโกงและไม่ทำลายพลังบวกของการช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคมไทย

รื้อ-ปรับ พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร โฉมใหม่-แบบไหนดี ?

ข่าวฮือฮาของ ฌอน บูรณะหิรัญ ตลอดสัปดาห์ทำให้สังคมได้รับทราบว่า ยังมีกฎหมายสมัยโบราณยุคสงครามโลก คือ พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 ใช้บังคับ ความเก่าแก่ของมันย้อนไปถึงสมัยสงครามโลก และหากย้อนไปดูความในราชกิจจานุเบกษา ยิ่งพบความย้อนยุคเพราะถ้อยคำของกฎหมายสะกดแบบ ‘รัฐนิยม’ ยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม อ่านสนุกดี ... ไนกรนีที่สั่งอนุญาต ไห้คนะกัมการ.../ต้องระวางโทส / ไห้รัถมนตรีว่าการกระซวงมหาดไทยรักสาการ ฯลฯ

หลักๆ ของกฎหมาย คือให้ผู้ประสงค์เรี่ยไรในที่สาธารณะหรือออกสื่อ(ยุคนั้นก็มีแต่หนังสือพิมพ์/วิทยุมีสถานีเดียว) ต้องได้รับการอนุญาตจากพนักงานเสียก่อน ซึ่งมันจะเป็นไปได้อย่างไรสำหรับยุคโซเชียลมีเดียที่ทุกคนเป็นเจ้าของสถานีภาพ/คลิป/ข้อความ นอกจากเป็นกฎหมายเก่าไม่ทันการแล้ว บทกำหนดโทษก็หลักร้อย ซึ่งถือเป็นเงินมากเวลานั้น แต่ยุคนี้หากปล่อยให้เรี่ยไรได้เงินหลักหมื่นหลักแสน มาย้อนเอาโทษแค่ 100-500 มันไม่ทันสมัยแล้ว

ในช่วงเกิดดราม่าคนดังเรี่ยไรดับไฟไม่ได้รับอนุญาต ยังมีข่าวสารที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง นั่นคือ อธิบดีกรมการปกครองได้ให้ข่าวว่า กำลังปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเรี่ยไรใหม่ให้ทันสมัย ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่หากบังคับใช้จริง รังแต่ขัดขวางพัฒนาการของสังคม

การเรี่ยไร-รับบริจาค นี่มีมาแต่โบราณแล้วล่ะครับ ในทางพุทธศาสนาเทศกาลกฐินหลังออกพรรษานั่นล่ะคือมหกรรมของการรับบริจาคอย่างกว้างขวาง แต่สำหรับกรณีทางโลกย์เมื่อเกิดมีพิบัติภัยหรือเหตุพัฒนาที่ต้องระดมความร่วมมือจากสังคมเขาก็ทำกันมานานแล้ว "การเรี่ยไร" ยุคแรกๆ ที่มีบันทึกไว้ก็โน่น ร.ศ.110 สมัยรัชกาลที่ 5 ตรงกับพ.ศ. 2435 เกิดพายุใหญ่ยกน้ำขึ้นท่วมเมืองไชยาผู้คนล้มตายมากมาย ทรงให้มีประกาศเรี่ยไรไปช่วย การเรี่ยไรสาธารณะเพื่อช่วยพิบัติภัยกระทำกันต่อเนื่องจนยุคปัจจุบัน รวมไปถึงกิจกรรมระดมบริจาคเล็กๆ ย่อยๆ ช่วยเด็กยากจน คนชรา แมวหมาจรจัด ฯลฯ สังคมไทยไม่แล้งน้ำใจ

แต่อย่างไรก็ตาม การเรี่ยไรก็เป็นช่องทางของมิจฉาชีพเช่นกัน มีเยอะด้วย ไม่ใช่แค่รถแห่เที่ยวเร่ขอบริจาคอ้างไปทำโน่นนี่ซึ่งตรวจสอบไม่ได้ว่าจริงหรือไม่ ยุคนี้พัฒนาการสร้างเรื่องหลอกลวง เอาเด็กพิการป่วยไข้ขึ้นโพสต์อ้างเป็นลูกหลานป่วยหนักขอให้คนโอนเงินให้ กระทั่งเป็นนายหน้ารวบรวมสิ่งของทำความดีแต่เอาเข้ากระเป๋าตัวเอง ก็มี

มิจฉาชีพประเภทนี้ก็มีมาแต่โบราณเช่นกัน เมื่อ ร.ศ. 125 ตรงกับ พ.ศ. 2450 กรมพระยาดำรงราชานุภาพครั้งเป็นเสนาบดีมหาดไทย ประกาศไม่ให้คนนำภาชนะรับบริจาคซึ่งมักจะมีเทียนจุดตั้งวางไว้ตามบริเวณลานชุมนุมสถานที่ประชุมเพื่อนมัสการทางศาสนาในวันนักขัตฤกษ์ เพราะมักจะมีผู้แอบอ้างผสมโรงเรี่ยไรแล้วเอาทรัพย์ไป ท่านจึงกำหนดให้เฉพาะแต่เจ้าอาวาสหรือผู้ดูแลสถานที่เท่านั้นที่เรี่ยไรได้ หากบุคคลใดประสงค์จะเรี่ยไรต้องไปขออนุญาตจากข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้ว่าราชการเมืองหรือนายอำเภอแล้วต้องเอาใบอนุญาตปิดไว้เป็นสำคัญให้ผู้คนได้เห็น

ธรรมเนียมการที่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองออกใบอนุญาตให้ผู้ประสงค์เรี่ยไร อาจจะเกิดจากประกาศข้อบังคับของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2450 ก็เป็นได้ และสืบเนื่องมาเป็นพระราชบัญญัติในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ใครจะเรี่ยไรอะไรก็ต้องไปขออนุญาตเสียก่อน

การเรี่ยไร การสวมรอย การสร้างเรื่องเท็จขอรับบริจาค หรือการฉ้อโกงใดๆ ลักษณะเดียวกันในยุคใหม่ทำได้ง่ายขึ้นแถมเป็นวงเงินจำนวนมากๆ ผ่านการสื่อสารและการโอนเงินออนไลน์ มีข่าวแท็กซี่คนหนึ่ง หรือการโพสต์เรื่องราวชวนเวทนายุคนี้เรียกเงินบริจาคหลักล้านได้อย่างง่ายดาย

เรื่องที่โผล่ขึ้นมาเพราะนักสืบไซเบอร์/สังคมตรวจสอบกันเอง ระบบตรวจสอบของรัฐไม่ได้ทำเรื่องแบบนี้

แต่อีกมุมหนึ่ง เทคโนโลยีของโลกยุคใหม่ก็ก้าวไปถึงขั้นมีการออกแบบระดมทุนหรือ crowdfunding ที่สะดวกขึ้น ง่ายดายขึ้น ทั้งการระดมเพื่อการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ หรือกระทั่งการขอรับบริจาคเพื่อสังคม แต่หากเราใช้พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร 2487 มาบังคับ แอพพลิเคชั่นและการระดมทุนเพื่อการกุศลรูปแบบใหม่ก็อาจจะผิดกฎหมาย

ปัญหาที่ชวนขบคิดต่อก็คือ หากจะปรับปรุงยกเครื่องกฎหมายควบคุมการเรี่ยไรฉบับใหม่ ควรจะมีโฉมหน้าและข้อบังคับแบบไหน ที่สะท้อนและหนุนเสริมพลังด้านบวกของสังคม หนุนให้สังคมร่วมด้วยช่วยกัน ส่งเสริมจิตสาธารณะ ฯลฯ พร้อมๆ กับสามารถควบคุมและป้องกันการฉ้อโกง หลอกลวง สมอ้างผ่านการเรี่ยไรอย่างได้ผล

การต้องไปกรอกแบบฟอร์มขออนุญาตอันเคยเป็นแบบปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อเนื่องจน 'พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร 2480/2487' แล้วใช้ใบอนุญาตดังกล่าวมาแสดงโชว์ จะสอดคล้องกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยหรือกลายเป็นอุปสรรคขัดขวาง สมมติ มีคนใจบุญนำแมวจรจัดถูกรถชนข้างถนนไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์แล้วโพสต์สื่อโซเชี่ยลขอระดมเงินบริจาคร่วมค่าใช้จ่ายผ่าตัด ความใจบุญดังกล่าวต้องแลกกับความผิดตามพรบ.ควบคุมการเรี่ยไรหรือไม่? 

หรือ มีครอบครัวยากจนบ้านถูกไฟไหม้ เช้าขึ้นมามีเพื่อนบ้านช่วยโพสต์ระดมขอความช่วยเหลือแนบเบอร์บัญชีธนาคาร เขาจะมีความผิดหรือไม่? เรื่องแบบนี้วิญญูชนสามารถรู้ได้ว่านี่เป็นเรื่องราวด้านบวกของจิตสาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติของกฎหมายกลับเป็นอีกด้าน หากไม่มีการไปยื่นขออนุญาตเสียก่อน

ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ออกใบอนุญาตก็เช่นกัน อันที่จริง การเรี่ยไรควรจะเป็นสิทธิ์ของบุคคล เช่นเดียวกับสิทธิ์ที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยน หรือการให้โดยเสน่หา แต่หากเกิดฉ้อโกง ทุจริตไม่เป็นไปตามที่ป่าวประกาศวัตถุประสงค์บุคคลนั้นก็มีความผิดทั้งแพ่งอาญาตามฐานความผิดที่มีอยู่แล้ว

กฎหมายว่าด้วยการเรี่ยไร น่าจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้สาธารณะได้รับทราบเป้าหมาย แนวทาง วัตถุประสงค์และกรอบของการเปิดรับบริจาคเป็นสำคัญ แบบเดียวกับ สลาก/ตราสินค้า พร้อมกันนั้นรัฐอาจจะสามารถตรวจสอบยอดเงินจากการเปิดรับบริจาค รวมถึงเงื่อนไขให้ประกาศแจ้งยอดต่อสาธารณะให้เป็นปัจจุบันต่อเนื่องกับการเปิดรับบริจาค ฯลฯ

แต่ทั้งหมดทั้งสิ้น การป้องกันและควบคุมที่มีประสิทธิภาพต้องไม่กระทบกับกลุ่มที่เจตนาดี กิจกรรมดีๆ อันเป็นด้านบวกของสังคม พลังด้านบวกดังกล่าวเป็นต้นทุนทางสังคมอันหาค่าไม่ได้ สิ่งดังกล่าวคือมาตรฐานคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ของสังคมนั้นๆ ที่กลไกการเรี่ยไร/บริจาคเพื่อสาธารณะ ควรหนุนเสริมอย่างจริงจังพร้อมกันไปด้วย

หากการแก้ไขกฎหมายมีมุมเพียงเพื่อป้องกัน ล้อมคอก เอาผิด และมุ่งทำให้ผู้ประสงค์เรี่ยไรยากลำบากโดยลืมมองการหนุนเสริมพลังบวกของสังคมแล้วไซร้ การแก้กฎหมายนี้ก็จะกลายเป็นตัวบั่นทอนสังคมไปเสียเอง