'ทองคำ' ในช่วงวิกฤติไวรัส

'ทองคำ' ในช่วงวิกฤติไวรัส

สถานการณ์ Covid-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้ผู้ลงทุนพยายามกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน "ทองคำ" จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกและนิยมซื้อขายอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจาก correlation กับหุ้นไม่มาก จึงช่วยกระจายการลงทุนในพอร์ต

สถานการณ์ไวรัส Covid-19 ได้ส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ในภาวะชะงักงัน โดยล่าสุดสถาบันหลายแห่ง เช่น International Monetary Fund หรือ IMF คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกว่าจะหดตัวลงถึง 4.9% สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จะส่งผลกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และในส่วนของประเทศไทยเอง ประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ถูกคาดการณ์ว่าจะหดตัวลงถึง 8% มุมมองเศรษฐกิจในด้านลบนี้

ประกอบกับความกังวลที่อาจจะเกิด Second Wave ของการระบาดไวรัส Covid-19 ทำให้ผู้ลงทุนพยายามที่จะกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทน เช่น ปรับเปลี่ยนการลงทุนไปยังหุ้นที่ได้รับผลกระทบจาก COVID น้อย หรือกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ในต่างประเทศ หรือในสินทรัพย์ที่เป็นทางเลือก เช่น ทองคำ เป็นต้น

ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา "ทองคำ" เป็นสินทรัพย์ที่ได้รับความนิยมซื้อขายอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา โดยราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ที่ระดับ 1,769 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ และคาดการณ์กันว่าอาจจะทำสถิติสูงสุด (New high) ใหม่ที่ระดับเกิน 1,900 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

ความนิยมในทองคำนั้น มีรากฐานมานานจากความเชื่อในด้านการเก็บออมด้วยทองคำ และเห็นว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ต่อมาเมื่อมีการซื้อขายที่อ้างอิงกับทองคำในรูปตราสารการเงินมากขึ้น การซื้อขายทองคำทำได้สะดวก ทองคำจึงเป็นทางเลือกลงทุนในสร้างผลตอบแทน อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์หรือ correlation กับหุ้นไม่มาก จึงช่วยกระจายการลงทุนในพอร์ต

ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ลงทุนทั่วไปเท่านั้น ผู้ลงทุนสถาบันก็ให้ความสนใจกับทองคำมากขึ้นเช่นกัน จากข้อมูลการสำรวจกับธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ของ World Gold Council แสดงให้เห็นว่าตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ธนาคารกลางเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในทองคำ โดยมียอดซื้อสุทธิมากกว่า 600 ตันต่อปี

นอกจากนี้ จำนวนธนาคารกลางที่เป็นผู้ซื้อสุทธิในทองคำมีจำนวนมากขึ้น โดยในปี 2016 มูลค่าการทำธุรกรรมหลักมาจากธนาคารกลาง 9 แห่ง โดยมียอดซื้อทองคำสุทธิ 354 ตัน แต่ในปี 2019 มูลค่าทำธุรกรรมหลักมาจากธนาคารกลาง 15 แห่ง โดยมียอดซื้อสุทธิสูงถึง 638 ตัน ทั้งนี้ จากผลสำรวจพบว่าธนาคารกลางส่วนมากเพิ่มการลงทุนในทองคำ เนื่องจากต้องการหาผลตอบแทนในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ และมองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มในระยะยาว และมีผลตอบแทนดีในช่วงวิกฤติการณ์

ในช่วงวิกฤติที่เกิดจาก COVID ที่ผ่านมา ความผันผวนของราคาทองคำก็เพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่น และมีผลต่อราคาทองคำทั้งในตลาดล่วงหน้า (Futures) และในตลาด spot หรือตลาดส่งมอบทันที (เช่น การซื้อทองคำแท่งกับร้านค้าทอง เป็นต้น)

ในอดีตที่ผ่านมา ราคาทองคำในตลาด Spot และตลาด Futures จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันและอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาก เช่น ห่างกันเพียง 1-2 ดอลลาร์ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ราคาทองคำในตลาดของทั้งสองตลาดกลับมีบางช่วงที่มีส่วนต่างกันสูงถึง 70 ดอลลาร์

โดยภาวะปกติ หากราคาทองคำในตลาด Spot และ Futures ต่างกันมาก ก็จะมีผู้เข้ามาซื้อขายทำกำไรระหว่างตลาด (Arbitrager) นอกจากนี้ ผู้ลงทุนมีสถานะขายสุทธิในตลาด Futures ก็จะเข้าไปซื้อทองคำในตลาด Spot เพื่อที่จะได้มีทองคำมาส่งมอบในตลาด Futures เมื่อสัญญาครบกำหนด ทำให้ราคาทองคำในตลาด Spot และตลาด Futures จึงเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันและอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน

อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัส Covid-19 ทำให้เกิด Disruption ของกระบวนการผลิตและการขนส่ง (Supply Chain) ในอุตสาหกรรมทองคำ โดยมีปิดเหมืองทองและโรงงานผลิตทองคำเพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของไวรัส และเนื่องจากมีการลดจำนวนและระงับเที่ยวบินระหว่างประเทศ ทำให้การขนส่งทองคำทำได้อย่างจำกัด

กลไกการซื้อขายเพื่อทำกำไรและลดความเสี่ยงระหว่างตลาด Spot และ ตลาด Futures จึงไม่สามารถทำงานได้อย่างที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จาก ราคาทองคำในตลาด CME ซึ่งเป็นตลาดล่วงหน้าที่ใหญ่สุดในอเมริกา ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา ซื้อขายกันแบบ Premium กล่าวคือราคา Futures สูงกว่าราคาในตลาด Spot ถึง 70 ดอลลาร์ ในบางช่วง อันเกิดจากความเสี่ยงที่อาจจะไม่สามารถหาทองคำเพื่อมาส่งมอบได้ตามภาระผูกพันในสัญญาล่วงหน้าได้เช่นในช่วงภาวะปกติ (Physical Supply Shortage)

ภาวะดังกล่าวนั้น ไม่ได้เกิดแต่ในสหรัฐอเมริกา แต่มีผลทั่วโลกรวม ทั้งประเทศไทยด้วย ทองคำเป็น Global Commodity โดยราคาซื้อขายในตลาดไทยนั้นก็เคลื่อนไหวไปตามตลาดโลก ทำให้ราคา Gold Futures ซึ่งอ้างอิงกับราคาในตลาดโลกได้รับผลกระทบไปด้วย นอกจากนี้

ในส่วนของตลาด spot ในช่วง COVID ที่มีทำให้เกิดความติดขัดเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ ก็มีผลต่อผู้ประกอบการ ในการบริหารจัดการ Inventory ด้วย เพราะการนำเข้าส่งออกทองคำไม่สามารถทำได้สะดวกเช่นปกติ เพราะข้อจำกัดด้านติดขัดเรื่องการขนส่งระหว่างประเทศ ส่งผลให้ส่วนต่างราคารับซื้อและขาย (Spread) ของไทยที่จากปกติอยู่ที่ 100 บาทต่อบาททองคำ เพิ่มเป็น 300 บาทต่อบาททองคำ ก่อนจะกลับเข้าสู่ปกติเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่การขนส่งระหว่างประเทศทำได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การส่งออกทองคำส่งผลให้มูลค่าธุรกรรมส่งออกของไทยในไตรมาส 1 ปี 2020 เพิ่มขึ้นถึง 160.5% จากไตรมาส 1 ปีก่อนหน้า แต่หากไม่นำมูลค่าทองคำมารวมแล้ว จะพบว่าธุรกรรมส่งออกของไทยจะเหลือเพียง -3.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า

ปัจจุบัน ข้อจำกัดต่างๆ ที่เคยมีจากการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ได้ผ่อนคลายลง ทำให้การซื้อขายกลับมาเป็นปกติ แต่สิ่งที่อาจจะเปลี่ยนไปหรือ New Normal คือพฤติกรรมผู้ลงทุนที่มีการเปิดรับการใช้เทคโนโลยีในการซื้อขายมากขึ้น ทั้งในแง่การหาข้อมูล การเรียนรู้ทำความเข้าใจกับสินค้าทางออนไลน์ ตลอดจนเปิดบัญชีซื้อขายออนไลน์มากขึ้น

สำหรับตลาด TFEX นั้น ได้ให้ความสำคัญกับการใช้ social media และการเรียนรู้ออนไลน์อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่สังคมเราเป็นยุค social distancing ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเรียนรู้และติดตามการวิเคราะห์สินค้าทองคำล่วงหน้าผ่าน Facebook: TFEX Station รวมถึงศึกษาแนวคิดและเทคนิคการซื้อขายได้เพิ่มเติมที่ TFEX e-learning ทาง www.TFEX.co.th โดยไม่มีค่าใช้จ่าย