ร่วม-ไม่ร่วม 'CPTPP' รัฐบาลต้องตัดสินใจ

ร่วม-ไม่ร่วม 'CPTPP' รัฐบาลต้องตัดสินใจ

ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมเจรจาความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อเข้าหรือไม่เข้าร่วมนั้น รัฐบาลต้องมีข้อมูลที่เพียงพอเพื่อตัดสินใจให้รอบคอบ เพื่อสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ภาคสังคมและภาคเอกชน

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) (CPTPP) เป็นข้อตกลงที่เปลี่ยนมาจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำในการผลักดันอย่างจริงจังในช่วงที่ผ่านมา ก่อนที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและให้สหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงส่งผลให้ข้อตกลงซีพีทีพีพี ในปัจจุบันเหลือสมาชิก 11 ราย คือ บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เปรูและเวียดนาม

รัฐบาลชุดที่แล้วมีนโยบายที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกซีพีทีพีพี และกำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ไปศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมข้อตกลงมาพิจารณา รวมทั้งมีประเทศที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วม โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่แสดงท่าทีอย่างชัดเจนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของญี่ปุ่น ซึ่งเห็นว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมทั้งด้านการค้าและการลงทุน แต่รัฐบาลชุดที่แล้วหมดวาระไปก่อนที่จะได้ข้อสรุปและเรื่องนี้เป็นภาระต่อเนื่องมาให้รัฐบาลชุดปัจจุบันตัดสินใจ

ทุกครั้งที่มีการหยิบยกประเด็นการเข้าร่วมข้อตกลงลงทีพีพี หรือซีพีทีพีพี จะมีการแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยเมื่อครั้งที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) จะพิจารณาแถลงการณ์การเข้าร่วมข้อตกลงเมื่อปี 2555 ในช่วงดังกล่าวได้รับการคัดค้านในวงกว้าง รวมถึงการคัดค้านในปัจจุบันที่เกิดขึ้นหลังจากมีการจัดวาระการประชุม ครม.เพื่อพิจารณาผลการศึกษาข้อดีข้อเสียและผลการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ที่เดินสายรับฟังทั่วประเทศ

แรงคัดค้านที่เกิดขึ้นส่งผลให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถอนวาระนี้ออกก่อนเริ่มประชุม และต่อมาการพิจารณาเรื่องนี้กลับย้ายจากฝ่ายบริหารไปอยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้แทนรัฐบาล และรัฐบาลส่งสัญญาณที่จะพิจารณาตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)

ถึงแม้ว่ายังเหลืออีกหลายขั้นตอนกว่าที่จะถึงการยื่นใบสมัครขอเข้าเป็นสมาชิก และเข้าสู่กระบวนการเจรจา ก่อนที่จะนำข้อตกลงลงกลับมาให้ ครม.และรัฐสภาให้ความเห็นชอบเพื่อลงนามข้อตกลง ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ยาวกว่าที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิก แต่ไม่ว่าประเทศไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมเจรจาข้อตกลงดังกล่าว รัฐบาลต้องตัดสินใจ และเมื่อมีข้อมูลเพียงพอระดับหนึ่งควรตัดสินใจ เพื่อสร้างความชัดเจนให้ทุกฝ่ายทั้งเกษตรกร ภาคสังคมและภาคเอกชน