เปิดไทม์ไลน์ ครม.เศรษฐกิจ นายกฯ คุมฟื้นฟูผลกระทบโควิด

เปิดไทม์ไลน์ ครม.เศรษฐกิจ นายกฯ คุมฟื้นฟูผลกระทบโควิด

นายกฯ นัด ครม.เศรษฐกิจ หารือฟื้นประเทศหลังโควิด สร้างความร่วมมือรัฐ-เอกชนครั้งใหญ่ ถกทุก 2 สัปดาห์ ครั้งแรก 10 ก.ค.หาแผนช่วยเอสเอ็มอี นัดต่อไปกระตุ้นการท่องเที่ยว

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูประเทศ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีสั่งการใน ครม.ว่าให้ประชุม ครม.เศรษฐกิจ 2 สัปดาห์ครั้ง เพื่อเป็นเวทีรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจรับทราบ และหารือมาตรการเศรษฐกิจที่ควรเพิ่มเติมร่วมกันเป็นการทำงานแบบบูรณาการ เพราะที่ผ่านมาออกมาตรการมาแล้วแต่ต้องมาดูว่ายังขาดในส่วนไหน ซึ่งเป็นการช่วยเผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ต้องวางแผนเศรษฐกิจระยะยาวด้วย

สำหรับการประชุมครั้งแรกสำหรับเวทีลักษณะนี้จะมีขึ้นวันที่ 10 ก.ค.2563 มีวาระติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาของเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะเข้าไปแก้ปัญหาการเข้าไม่ถึงซอฟโลนท์ซึ่งต้องดูว่าจะปรับปรุงหรือผ่อนปรนเงื่อนไขใดได้

ส่วนครั้งถัดไปจะมีในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป จะติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยว โดยภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากกว่าภาคอื่น ซึ่งแม้การท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยกลับมาได้มากขึ้น 80-90% แต่การจับจ่ายใช้สอยไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปกติเข้ามาไทยปีละ 40 ล้านคนได้ ดังนั้นต้องหารือการช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวและธุรกิจสายการบินที่ได้รับผลกระทบในลำดับต่อไ

คาดเศรษฐกิจฟื้นตัวไตรมาส4

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ครม.เศรษฐกิจประเมินผลกระทบเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะกระทบเศรษฐกิจ 3 เดือน จากการปิดสถานที่ต่างๆ และจะทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ข้อมูลเศรษฐกิจเดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจทั้งการส่งออกติดลบมาก การท่องเที่ยวจากต่างชาติหายไป 100% รวมทั้งหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงขึ้นมาก และสถานการณ์โควิดหลายประเทศไม่ดีขึ้น ทำให้มีผู้ติดเชื่อใหม่วันละกว่า 2 แสนราย 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจโลกกระทบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยวจะมีเวลานานกว่าที่คาดไว้ ซึ่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเร็วอาจเกิดขึ้นในไตรมาส 4 จากโครงการการลงทุนภาครัฐและเม็ดเงินที่ลงไปมากขึ้น 

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การวางแผนการพัฒนาประเทศในระยะต่อไปตามแนวคิดนายกรัฐมนตรี ต้องการให้วางแผนควบคู่กันไป เพื่อให้ช่วงเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจะมีโครงการและมาตรการใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจระยะยาว เช่น แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การลงทุนภาคพลังงาน

การผลักดันโครงการขนาดใหญ่ดังกล่าวรัฐบาลต้องการให้เกิดการลงทุนและการจ้างงาน รวมถึงอุตสาหกรรมที่ไทยยังมีศักยภาพควรมีการส่งเสริม เช่น การผลิตจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องวางแผนทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นการผลักครั้งใหญ่ (Big push) จะยกระดับประเทศเหมือนรถที่กำลังจะวิ่งให้สตาร์ทติดและวิ่งทะยานไปข้างหน้าได้ 

สสว.จ่อชง ครม.ตั้งกองทุน5หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า วันที่ 9 ก.ค.นี้ จะประชุมคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สรุปประเด็นเสนอ ครม.เพื่อช่วยเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยจะขออนุมัติวงเงินตั้งกองทุนเติมพลังต่อทุนเอสเอ็มอี 50,000 ล้านบาท ช่วยเหลือแอสเอ็มอีไม่ต่ำกว่า 5 แสนราย สำหรับกองทุนดังกล่าวมี 2 ส่วน คือ 

1.วงเงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ผ่อนชำระนาน 10 ปี หรือจ่ายเดือนละ 275 บาท โดยจะเน้นธุรกิจรายย่อยหรือไมโครเอสเอ็มอี

2.วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท ที่จะเข้าไปช่วยเอสเอ็มอีที่ใหญ่กว่าธุรกิจรายย่อย ได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการผลิต และจ้างพนักงาน เพื่อให้อยู่รอด และรักษาแรงงานไม่ให้ตกงาน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการว่างจากจากผลกระทบโควิด-19 ได้เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ จะเป็นจะเสนอ ครม.ให้กำหนดหน่วยงานภาครัฐกำหนดโควตาจัดซื้อจัดจ้างจากเอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 30% ของวงเงินจัดซื้อจัดจ้างในหมวดสินค้าและบริการที่กำหนด และให้แต้มต่อกับเอสเอ็มอีเสนอราคาสูงกว่าราคาต่ำสุดได้ 10% ในกรณีที่ใช้การประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด เพื่อให้เอสเอ็มอีแข่งขันกับรายใหญ่ได้ ซึ่งจะเร่งให้ทันใช้ในปีงบประมาณ 2564 จะช่วยเอสเอ็มอีเข้าตลาดภาครัฐสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ 4 แสนล้านบาทต่อปี