‘ชวนคิด’ สร้างผู้นำรุ่นใหม่ สูตร ‘IMET MAX’

‘ชวนคิด’ สร้างผู้นำรุ่นใหม่ สูตร ‘IMET MAX’

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของทุก ๆ องค์กร รวมถึงประเทศชาตินั้น ขึ้นอยู่กับผู้นำหรือนักบริหาร ซึ่งจะต้องเป็นทั้งคนเก่งและเป็นคนดีด้วย

“สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย (IMET) กล่าวว่า มูลนิธิ IMET เองก็มีความเชื่อว่าการพัฒนาประเทศให้สำเร็จอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างผู้นำที่ทั้งดีและเก่ง

ทว่าการสร้างผู้นำยุคใหม่ให้มีคุณสมบัติเหล่านี้แบบครบถ้วนอาจไม่สามารถทำในรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นลักษณะของการเรียนการสอน การอบรม การเทรนนิ่ง แต่ต้องอยู่ในรูปแบบของ “Mentoring” ซึ่งเป็นลักษณะของการ “ชวนคิด”

เนื่องจากผู้นำ ผู้ประกอบการในอดีตส่วนใหญ่ก็มีการศึกษาที่ไม่สูงนัก มีหลายต่อหลายคนที่จบแค่ป.4 ทำธุรกิจแบบเสี่ยสั่งลุย เรียกว่าใช้สัญชาติญานมากกว่าหลักการและเหตุผล ดังนั้นการสร้างการบ่มเพาะก็ควรต้องอยู่ในรูปแบบของการสอน การอบรมให้ความรู้

ตรงกันข้ามที่ผู้นำ ผู้ประกอบการและนักบริหารยุคใหม่ หลายคนมีโอกาสบินลัดฟ้าไปร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก แน่นอนว่าความรู้พวกเขามีพร้อม แค่ต้องการคนที่ชวนคิด คนที่สะกิดเตือนให้พวกเขารู้ว่าอาจมีเรื่องราวบางอย่างที่อาจลืมคิด มีบางอย่างที่ต้องย้อนกลับไปคิด หรือมีบางอย่างที่อาจไม่ได้คาดคิดก็เป็นได้

มูลนิธิ IMET จึงริเริ่มโครงการ “IMET MAX” สร้าง “อุทยานผู้นำ” ปัจจุบันดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปี แล้ว โดยเปิดเป็นโครงการพัฒนาผู้นำระดับสูงรุ่นใหม่ ให้เข้ามาเป็นเมนที (Mentee) เพื่อได้มีโอกาสรับการพัฒนาด้วยกระบวนการเมนเทอริ่ง (Mentoring Process) ซึ่งประกอบด้วยการให้ข้อคิดและชี้แนะแนวทางทั้งในด้านการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างครบถ้วนรอบด้านพร้อมเสริมสร้างจิตสำนึกในคุณค่าเพื่อสังคม ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จากผู้บริหารชั้นแนวหน้าของประเทศที่เป็นโรลโมเดลได้รับการยอมรับนับถือของสังคม

ที่ผ่านมามีผู้บริหารชั้นแนวหน้าที่เสียสละเวลาตอบรับเป็นเมนเทอร์ (Mentor) ในโครงการจำนวน 12 ท่าน อาทิ 1) บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) 2) สมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) 3) ศ.(พิเศษ) กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด 4) ประภาส ชลศรานนท์ รองประธาน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) 5) ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

และสอดคล้องกับยุคสมัย เพราะโครงการดังกล่าวมีคนรุ่นใหม่ของมูลนิธิ IMET มาทำหน้าที่ขับเคลื่อน ก็คือ “ธนพล ศิริธนชัย” ในฐานะประธานโครงการ IMET MAX (Mentorship Academy for Excellent Leaders)

ธนพลกล่าวว่า รูปแบบการเรียนรู้ ไม่ได้เกิดจากการอ่านหนังสือ หรือการเล่าเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดได้จากการสะท้อนมุมมอง แนวคิด หรือ Thoughtful Reflection รวมทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จากเมนเทอร์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำองค์กรผู้มากประสบการณ์ ที่ขึ้นชื่อว่าสามารถนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายแห่งความสำเร็จ

โดยรูปแบบของโครงการ IMET MAX เป็นรูปแบบที่เมนเทอร์จับคู่เมนทีในลักษณะใกล้ชิดในสัดส่วน 1:3 เพื่อให้ได้ใช้เวลาตลอดของโครงการกว่า 8 เดือน ในการพูดคุย และแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ในสิ่งที่เมนเทอร์ใช้จัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ แน่นอนจะเป็น “ห้องเรียนเคลื่อนที่” ขึ้นอยู่กับเมนเทอร์และเมนทีว่าจะตกลงเจอกันที่ไหน เมื่อไหร่

"เราเชื่อว่าประสบการณ์ของเมนเทอร์จะชวนคิด กระตุ้นให้เมนทีได้คิด และช่วยคิดเพื่อร่วมกันค้นหาคำตอบ และขณะเดียวกันรูปแบบของกระบวนการ Mentoring จะมุ่งเน้นในเรื่องสติปัญญาที่สมบูรณ์พร้อม Wisdom for Life and Social Values ซึ่งเป็นการปลูกฝังแนวคิดในการทำดีเพื่อสังคมให้กับเมนทีได้ตระหนักถึงการเอื้อเฟื้อต่อสังคม ซึ่งเป็นการ Pay it forward เมื่อได้รับ โดยปริยายพวกเขาก็จะทำหน้าที่ส่งต่อสิ่งดี ๆเหล่านี้ให้กับสังคมและประเทศชาติ"

ในปีนี้ IMET MAX เดินหน้าโครงการต่อเป็นปีที่ 3 และได้เปิดรับสมัครเมนทีรุ่นที่ 3 แล้วตั้งแต่ 26 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2563 นี้ โดยกำหนดคุณสมบัติสำคัญของเมนทีมีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง ต้องเป็นนักบริหารที่มีศักยภาพระดับสูงหรือมีความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมหรือประเทศชาติ สอง เป็นผู้ที่ไม่มีประวัติด่างพร้อย และ สาม เป็นผู้ที่มีความต้องการและเชื่อมั่นในการพัฒนาตนเองผ่านกระบวนการเมนเทอริ่ง

หมายเหตุว่าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับข้อมูลและสมัครเข้าร่วมโครงการได้ที่ มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย www.imet.or.th หรืออีเมล์ [email protected]

ทั้งนี้มูลนิธิ IMET เป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ก่อตั้งเมื่อปี 2526 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งพัฒนาผู้นำที่เป็นคนดี มีคุณธรรม จริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศ บนความคาดหวังว่าจะมีผลขับเคลื่อนให้ส่วนรวมสามารถก้าวผ่านยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐ และเอกชนอีก 80 แห่ง มีโครงการสำคัญหลากหลายด้าน อาทิเช่น การสร้างผู้นำส่วนภูมิภาคครอบคลุมทุกระดับ การสานต่องานภาครัฐในด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจ วางแผนยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด ตลอดจนการสนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนใน CLMV เป็นต้น