'วิสเทค’ ส่งโนว์ฮาวเพิ่มค่าขยะ ปูทาง ‘น่าน’ ซีโร่เวสต์

'วิสเทค’ ส่งโนว์ฮาวเพิ่มค่าขยะ ปูทาง ‘น่าน’ ซีโร่เวสต์

'นักวิจัยวิสเทค' ประยุกต์ใช้ประสบการณ์ความรู้ด้านเอนไซม์เปลี่ยนขยะอินทรีย์-เศษอาหาร เป็นก๊าซมีเทน สารบำรุงพืชมีสารอาหารครบถ้วน ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งงานวิจัยเข้าพื้นที่จ.น่าน ช่วยชุมชนสร้างรายได้จากขยะครัวเรือนผ่านโครงการขยะเพิ่มทรัพย์

C-ROS (Cash Return from Zerowaste and Segregation of Trash) หรือโครงการขยะเพิ่มทรัพย์ มีจุดเริ่มต้นมาจากการตระหนักถึงปัญหาขยะของประเทศที่อยู่ในขั้นวิกฤติ หลุมขยะต่างๆ มีปริมาณเพิ่มขึ้นและเต็มอย่างรวดเร็ว และกว่า 60% ของขยะจากครัวเรือนคือขยะอินทรีย์จำพวกเศษอาหารต่างๆ ซึ่งมีมูลค่าต่ำที่สุดจึงไม่คุ้มค่าที่จะนำมาสร้างให้เกิดมูลค่าใดๆ นักวิจัยจึงบูรณาการนำเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนขยะให้เป็นสารมีมูลค่าและมีความคุ้มค่าต่อกระบวนการแยกขยะ

วิจัยเปลี่ยนขยะให้มีมูลค่า

159368646486

ศ.พิมพ์ใจ ใจเย็น คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), หัวหน้าโครงการ “ระบบสาธิตกระบวนการชีวภาพเพื่อการแปลงขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า โครงการ “ขยะเพิ่มทรัพย์” เป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีชีวภาพแบบบูรณาการ ที่สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างสังคมไทยให้เป็น “สังคมไร้ขยะ” จากการเปลี่ยนขยะอินทรีย์จากอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ขยะเศษอาหารจากเทศบาลชุมชนและครัวเรือน ให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์มูลค่าเพิ่ม

“ระบบการจัดการขยะที่ยั่งยืนจะต้องเริ่มจากการแยกขยะ แต่กระบวนการแยกขยะมีค่าใช้จ่ายและเป็นการฝืนพฤติกรรมคนส่วนใหญ่ ทีมนักวิจัยจึงต้องสร้างเทคโนโลยีเพื่อทำให้ขยะ เป็นของมีมูลค่า จะมีผลทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นได้จริง"

หนึ่งในผลิตภัณฑ์จากขยะที่พร้อมใช้งานและสามารถจัดจำหน่ายแล้วคือ สารบำรุงพืชชีวภาพ BioVis ที่ผ่านกระบวนการย่อยแบบไฮเทค มีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองครบถ้วนสมบูรณ์ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี มีภูมิคุ้มกันโรค กระตุ้นการเกิดราก เมื่อพืชขยายระบบรากได้ดี จะสามารถดูดซึมธาตุอาหารได้ดีขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี อีกทั้งช่วยปรับสภาพดินให้ร่วนซุย อุ้มน้ำได้ดีและช่วยเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ในดิน

159368648269

นอกจากนี้ การใช้ปุ๋ยชีวภาพยังป้องกันไม่ให้รากเป็นแผลอันเกิดจากการใช้สารเคมีในปริมาณมากอีกด้วย ผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพจากฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ผู้อยู่อาศัยในบ้านเรือน คอนโดมิเนียมและเกษตรกรชาวสวน

สำหรับจุดเริ่มต้นการพัฒนา BioVis มาจากโครงการ “การแปลงขยะอินทรีย์เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและสารชีวภัณฑ์ด้วยกระบวนการชีวภาพ” มุ่งเปลี่ยนสิ่งที่ไม่มีมูลค่าอย่างขยะเศษอาหารให้เป็นสารบำรุงพืชที่มีคุณภาพด้วยกระบวนการทางชีวภาพ โดยอาศัยการทำงานของจุลินทรีย์ทั้งแบบใช้อากาศและไม่ใช้อากาศ ผ่านกระบวนการผลิตที่ช่วยจัดการขยะเศษอาหารที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ไม่มีการเติมสารเคมีลงในผลิตภัณฑ์

นวัตกรรมที่เข้าถึงชุมชน

ทีมนักวิจัยและนิสิตจากสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับการสนับสนุนเริ่มต้นจาก ธนาคารกสิกรไทย ในโครงการ “การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะอินทรีย์ผ่านกระบวนการชีววิทยาสังเคราะห์” ซึ่งได้เริ่มใช้งานจริงในระดับชุมชนบางส่วน ที่ชุมชนบ้านมหาโพธิ วัดอรัญญาวาส และโรงเรียนจุมปีวนิดาภรณ์ จ.น่าน โดยได้รับผลตอบรับอย่างดียิ่ง เพราะเป็นแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด สะดวก ปลอดภัย และสิ่งสำคัญคือการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากขยะที่ไม่มีมูลค่า ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในด้านการรณรงค์การแยกขยะและการใช้พลังงานทางเลือกในระดับชุมชน

159368650361

ทีมวิจัยได้นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ BioVis ไปใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพและปุ๋ยชีวภาพจากขยะเศษอาหาร โดยเชื้อจุลินทรีย์จะใช้เวลา 4-7 วัน ย่อยสลายเศษอาหารและเริ่มแปลงเป็นก๊าซมีเทนในความเข้มข้น 50-60% เมื่อปล่อยให้ย่อยเศษอาหารต่อไปอีก 7-10 วัน จะได้ก๊าซมีเทนที่ความเข้มข้นเพิ่มมากถึง 70-80%

159368655611

ปัจจุบันโครงการวิจัยได้รับการสนับสนุนให้สร้างเทคโนโลยีที่มีระดับใหญ่และครบวงจรมากขึ้น ทั้งจากภาครัฐ คือ สกสว. และภาคเอกชน ธนาคารกสิกรไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีชีวภาพแบบสะอาดในการจัดการขยะ และเป็นระบบ Zero waste อย่างสมบูรณ์แบบ