'ไอเอ็มเอฟ' หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ติดลบ 1.6%

'ไอเอ็มเอฟ' หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชีย ติดลบ 1.6%

"ไอเอ็มเอฟ" (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้ หดตัว 1.6% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตเป็น 0 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายชาง ยง รี ผู้อำนวยการแผนกเอเชียแปซิฟิก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เผยเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียปีนี้เป็นหดตัว 1.6% จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าในรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลกฉบับเดือน เม.ย. ว่า เศรษฐกิจเอเชียปีนี้จะเติบโตเป็น 0 ชี้ให้เห็นว่าแรงต้านระดับโลกยังหนักหน่วง ผลพวงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ที่เล่นงานไปทั่วโลก

“ประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียถูกปรับลดคาดการณ์ปี 2563 ลง ผลจากเงื่อนไขโลกซบเซาลง และเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายเขตยังใช้มาตรการสกัดการแพร่ระบาดต่อไปอีก”

นายรีกล่าวด้วยว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ เศรษฐกิจเอเชียเติบโตดีกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบางประเทศดูแลไวรัสได้แต่เนิ่น ๆ ถ้าไม่มีการระบาดระลอก 2 ประกอบกับนโยบายกระตุ้นชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อนเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัว คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียจะฟื้นคืนมาอย่างแข็งแกร่งสู่ระดับ 6.6% ในปี 2564 แต่เขาเตือนว่า แม้กิจกรรมเศรษฐกิจจะกลับมาอย่างรวดเร็ว ความเสียหายจากโควิด-19 มีแนวโน้มว่ายังคงอยู่

ส่วนในปี 2565 ไอเอ็มเอฟมองว่า เศรษฐกิจเอเชียจะลดลงราว 5% เมื่อเทียบกับที่เคยคาดไว้ก่อนเกิดวิกฤติ และความต่างนี้ “จะเพิ่มขึ้นมาก” ถ้าไม่รวมจีน ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว

ไอเอ็มเอฟเตือนด้วยว่า การคาดการณ์สำหรับปี 2564 และ 2565 ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่า ความต้องการภาคเอกชนฟื้นตัวแข็งแกร่ง กระนั้นยังมีอุปสรรคที่อาจบั่นทอนการฟื้นตัวของเอเชีย เช่น การค้าเติบโตลดลง ล็อคดาวน์นานกว่าคาด ความเหลื่อมล้ำเพิ่ม ฐานะการเงินภาคเอกชนเปราะบาง และความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศ

แต่ก็ใช่ว่าพัฒนาการล่าสุดจะเป็นลบไปเสียทั้งหมด นายรีกล่าวว่า เอเชียหลายประเทศสามารถให้การสนับสนุนนโยบายการเงินและการคลังที่สำคัญ บ่อยครั้งออกมาในรูปของการค้ำประกันและการให้เงินกู้สำหรับครัวเรือนและบริษัท

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันลดลง ความเชื่อมั่นและเงื่อนไขการเงินที่ดีขึ้น กำลังช่วยการฟื้นตัว แต่ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่คงทน

“ชาติเอเชียกำลังทดลองเปิดเศรษฐกิจอีกครั้ง และนโยบายจะต้องมุ่งสนับสนุนการฟื้นตัวที่เพิ่งเริ่มต้น โดยไม่เพิ่มความเสี่ยง พวกเขาต้องใช้การกระตุ้นทางการเงินอย่างชาญฉลาด เสริมด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ”

นายรีย้ำว่า สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างแรก ได้แก่ การประสานนโยบายการเงินและการคลังอย่างใกล้ชิด สร้างหลักประกันว่าทรัพยากรที่มีถูกจัดสรรใหม่อย่างเหมาะสม และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ