หน่วงโควิด หน่วงหนี้เสีย

หน่วงโควิด หน่วงหนี้เสีย

มาตรการสาธารณสุขไทยช่วงแรกคือ การหน่วงโรคติดต่อ จนได้รับยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจไทย วันนี้หลายฝ่ายกังวลถึงหนี้แช่แข็งจากมาตรการพักชำระจะปะทุขึ้นเมื่อครบกำหนด ดังนั้นแนวทางต่อจากนี้คงต้องหน่วงหนี้เพื่อให้ประเทศพ้นวิกฤติ

ในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยเลือกที่จะจัดการปัญหาในช่วงแรก 100-200 รายต่อวัน ด้วยแนวทาง “การหน่วงโรคติดต่อ” ดังกล่าว โดยการออกมาตรการจำกัดพื้นที่ ควบคุมการรวมตัว และออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้การแพร่ระบาดอยู่ในระดับที่ความสามารถของประเทศสามารถจัดการได้ เป็นเพราะระบบสาธารณสุขยังไม่พร้อมรับกับจำนวนผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากภาระงบประมาณที่ขาดแคลน อย่างไรก็ดี ถึงวันนี้ ไม่อาจปฏิเสธแนวทางดังกล่าวว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง ไทยได้รับยกย่องจากนานาชาติให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการรับมือกับโควิด

มาถึงปัญหาเศรษฐกิจของประเทศวันนี้ผลจากโควิดชัดเจนแล้วว่า ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา 1-2 ปี เป็นอย่างน้อยกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม ในช่วงแรกของการระบาด ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมมือกันพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเป็นเวลา 6 เดือน หรือตั้งแต่ เม.ย.-ก.ย.2563 

ประเด็นปัญหาคือการแพร่ระบาดของโควิดไม่ยุติ ขณะที่โควิดต่างประเทศยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงปัญหาใหม่ ซึ่งเป็นปัญหาทันทีหลังโครงการพักชำระหนี้หมดลงในสิ้นเดือน ก.ย.นี้ หนี้ที่ถูกแช่แข็งไว้จะปะทุหนักเพราะลูกหนี้ส่วนใหญ่เงินในกระเป๋าที่ลดลง หลายคนตกงานเพราะบริษัทลดต้นทุน ผู้ประกอบการบางแห่งปิดกิจการ พนักงานถูกลอยแพ 

เป็นที่มาของแนวคิดต่ออายุการพักชำระหนี้ออกไป ส่วนจะกี่เดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังระดมความเห็น โดยข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับตัวเลขการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้สถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากโควิด พบว่ามีลูกหนี้ที่จะได้รับความช่วยเหลือมาตรการทางการเงิน ทั้งการพักเงินต้น ดอกเบี้ยและเลื่อนการชำระรวม 15.11 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.68 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อรายย่อย 3.81 ล้านล้านบาท สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี 2.16 ล้านล้านบาท และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 0.71 ล้านล้านบาท 

วันนี้จะมีการต่ออายุโครงการฯ ลูกหนี้จะได้รับการยืดหนี้ สกัดไม่ให้เกิดหนี้เสียที่พุ่งขึ้นกระทบลูกหนี้ เพราะสุดท้ายเจ้าหนี้ก็จะลำบากไปด้วย เรื่องนี้ ปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ยืนยันแล้วว่าธนาคารพาณิชย์มีความยินดีที่จะช่วยเหลือต่อเนื่อง เป็นไปตามสภาวะความเป็นจริงที่ลูกหนี้จะมีเงินมาจ่ายคืนด้อยลงไป แต่สมาคมธนาคารจะขอรอดูหลังจากหมดมาตรการพักหนี้ก่อนว่าหนี้เสียจะเป็นเท่าไหร่ และหวังว่าจะไม่กระทบการปล่อยสินเชื่อใหม่ เนื่องจากธนาคารมีมาตรฐานการพิจารณาอยู่แล้ว

เราเห็นว่า การแก้ปัญหามีหลายวิธีแต่ ที่เหมาะสมที่สุดคือ การเลื่อนเวลาชำระหนี้เพิ่มเติมอีก 3-6 เดือน ควบคู่ไปกับการออกกฎหมายพิเศษเพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายสามารถรวมหนี้หลายประเภทที่มีอยู่กับธนาคารหลายแห่งเป็นก้อนเดียวกันได้ เพื่อให้การแก้หนี้จำนวนนี้ไปพร้อมกัน เนื่องจากลูกหนี้แต่ละราย หนี้แต่ละประเภท ดอกเบี้ยไม่เท่ากัน เราเห็นด้วยกับแนวคิดเบื้องต้นของสมาคมธนาคารไทย เพื่อให้คนไทยและประเทศพ้นจากวิกฤตโควิด โดยที่เศรษฐกิจยังแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับประเทศอื่น