เปิดที่มา 'วันเข้าพรรษา' ทำไมพระสงฆ์ถึงต้องหยุดเดินทางในหน้าฝน

เปิดที่มา 'วันเข้าพรรษา' ทำไมพระสงฆ์ถึงต้องหยุดเดินทางในหน้าฝน

วันสำคัญในพุทธศาสนาที่ตลอดระยะเวลาฤดูฝน พระสงฆ์ต้องประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน

วันเข้าพรรษา ปีนี้ตรงกับวันที่ 6 ก.ค.2563 ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องกับ วันอาสาฬหบูชา โดยพิธีกรรมหลักที่เกิดขึ้นใน "วันเข้าพรรษา" ก็คือ พระสงฆ์จะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดช่วงเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกติดปากกันโดยทั่วไปว่า จำพรรษา

"พรรษา" แปลว่า ฤดูฝน "จำ" แปลว่า อยู่

พิธี "เข้าพรรษา" นี้ถือเป็นศาสนพิธีสำหรับพระภิกษุโดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม เริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือวันออกพรรษา

159368195532

  • ประวัติวันเข้าพรรษา

กระทรวงวัฒนธรรมอธิบายที่มาของ "วันเข้าพรรษา" ว่าในสมัยพุทธกาลนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์สาวกอยู่ประจำพรรษา เหล่าภิกษุสงฆ์จึงต่างพากันออกเดินทางเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่ต่างๆ ทั้งในฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน

ต่อมาชาวบ้านได้พากันติเตียนว่า พวกสมณะไม่ยอมหยุดพักสัญจรแม้ในฤดูฝน ในขณะที่นักบวชในศาสนาอื่น พากันหยุดเดินทางในช่วงฤดูฝน การที่พระภิกษุสงฆ์เดินทางไปในที่ต่างๆ แม้ในฤดูฝน อาจเหยียบย่ำกล้าข้าวของชาวบ้านได้รับความเสียหาย หรืออาจไปเหยียบย่ำโดนสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ออกหากินจนถึงแก่ความตาย

เมื่อพระพุทธเจ้าทราบเรื่อง จึงได้วางระเบียบให้ภิกษุประจำอยู่ที่วัดเป็นเวลา 3 เดือน พระสงฆ์ที่เข้าจำพรรษาแล้วจะไปค้างแรมที่อื่นไม่ได้ แต่ถ้าหากเดินทางออกไปแล้วและไม่สามารถกลับมาในเวลาที่กำหนด คือ ก่อนรุ่งสว่าง ก็จะถือว่าพระภิกษุรูปนั้น ”ขาดพรรษา"

แต่หากมีกรณีจำเป็นบางอย่าง พระภิกษุผู้จำพรรษาสามารถไปค้างที่อื่นได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขาดพรรษา แต่ก็จะต้องกลับมาภายในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน ก็คือ

1.การไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย

2.การไประงับภิกษุสามเณรที่อยากจะสึกมิให้สึกได้

3.การไปเพื่อกิจธุระของคณะสงฆ์ เช่น การไปหาอุปกรณ์มาซ่อมกุฏิที่ชำรุด

4.หากมีประชาชนนิมนต์ไปทำบุญ ก็ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขาได้

  • ประเภทของการเข้าพรรษา

การเข้าพรรษาแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. ปุริมพรรษา เขียนอีกอย่างว่า บุริมพรรษา คือ การเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากออกพรรษาแล้ว พระที่อยู่จำพรรษาครบ 3 เดือน ก็มีสิทธิ์ที่จะรับกฐินซึ่งมีช่วงเวลาเพียงหนึ่งเดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ถึงขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12

2. ปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลัง ใช้ในกรณีที่พระภิกษุต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัย ทำให้กลับมาเข้าพรรษาแรกในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไม่ทัน ต้องรอไปเข้าพรรษาหลัง คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ซึ่งเป็นวันหมดเขตทอดกฐินพอดี ดังนั้นพระภิกษุที่เข้าปัจฉิมพรรษาจึงไม่มีโอกาสได้รับกฐิน แต่ก็ได้พรรษาเช่นเดียวกับพระที่เข้าปุริมพรรษาเหมือนกัน

  • สิ่งของจำเป็นสำหรับจำพรรษา

โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาต ที่ให้มีประจำตัวนั้นมีเพียง อัฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย "ผ้าจำนำพรรษา" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

  • การปฏิบัติของชาวพุทธใน "วันเข้าพรรษา"

แม้การเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่สำหรับพุทธศาสนิกชนเองถือว่า "วันเข้าพรรษา" เป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใส ในวันนี้หรือก่อนวันนี้หนึ่งวัน พุทธศาสนิกชนมักจะจัดเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน และข้าวของเครื่องใช้ เช่น สบู่ ยาสีฟัน เป็นต้น มาถวายพระภิกษุ สามเณรที่ตนเคารพนับถือ หรือมีการช่วยพระทำความสะอาดเสนาสนะ ซ่อมแซมกุฏิวิหารและอื่นๆ

พอถึงวันเข้าพรรษาก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และรักษาอุโบสถศีลกันที่วัด บางคนอาจตั้งใจงดเว้นอบายมุขต่างๆ เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น

มีอีกหนึ่งประเพณีที่สำคัญและสืบทอดกันเรื่อยมา ก็คือ ประเพณีหล่อเทียนพรรษา สำหรับให้พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์ซึ่งเทียนพรรษาสามารถอยู่ได้ตลอด 3 เดือน และเป็นกุศลทานอย่างหนึ่งในการให้ทานด้วยแสงสว่าง อีกทั้งมีการ "ประกวดเทียนพรรษา" ของแต่ละจังหวัดโดยจัดเป็นขบวนแห่ทั้งทางบกและทางน้ำ

159368198650

  • กิจกรรมที่ทำใน "วันเข้าพรรษา"

1.ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา

2.ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัยแก่ภิกษุสามเณร

3.ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล

4.อธิษฐาน งดเว้นอบายมุขต่างๆ

5.อยู่กับครอบครัว

159368200249