'ทองคำโลก' จ่อทุบสถิติใหม่ กูรูชี้ปัจจัยหนุนอื้อ

'ทองคำโลก' จ่อทุบสถิติใหม่ กูรูชี้ปัจจัยหนุนอื้อ

ราคาทองคำพุ่งแตะ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สูงสุดรอบกว่า 8 ปี กูรูมั่นใจมีลุ้นทะลุไฮเดิมที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในปีนี้ เหตุเศรษฐกิจโลกยังอ่อนแอ ขณะที่กองทุนทองคำทั่วโลกแห่เข้าซื้อ จนถือครองรวม 3,510 ตัน เป็นสถิติสูงสุดใหม่

ผลตอบแทนของสินทรัพย์ลงทุนแต่ละชนิดในครึ่งแรกปี 2563 ที่ผ่านมา ‘ทองคำ’ นับเป็นสินทรัพย์ที่โดดเด่นสุด ด้วยผลตอบแทนสูงถึง 17% จากปีก่อน โดยราคาทองคำล่วงหน้า (Gold Futures) วิ่งทะยานจากราว 1,550 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขึ้นมาแตะระดับ 1,800 ดอลลาร์ เป็นจุดสูงสุดในรอบกว่า 8 ปี ณ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในขณะที่ราคาทองคำในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 21,450 บาทต่อบาททองคำ ในช่วงต้นปี มาอยู่ที่ 26,100 บาทต่อบาททองคำ

หากเปรียบเทียบกับสินทรัพย์อื่น ไม่ว่าจะเป็น ‘หุ้น’ ซึ่งหุ้นไทย (SET) ในปีนี้ยังคงติดลบอยู่ราว 15% จากปีก่อน ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นดัชนี S&P500 ติดลบ 4.8% ส่วน NASDAQ เพิ่มขึ้น 10.62% ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อาทิ น้ำมัน ติดลบ 37% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ติดลบ 16.76%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

นางสาวเบญจมา มาอินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า ราคาทองคำที่พุ่งขึ้น 13% ในช่วงไตรมาส 2 นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นภายในไตรมาสเดียวที่มากที่สุด นับแต่ปี 2559 โดยได้แรงหนุนจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งนี้ หากพิจารณาต่อไปในอนาคต จะเห็นว่าราคาทองคำยังมีโอกาสที่จะปรับขึ้นได้ต่อเนื่องไปทดสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งทำไว้ตั้งแต่ปี 2554 โดยปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งยังอ่อนแอ ขณะเดียวกันยังมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 2 ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ 0% ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 และการใช้นโยบายการคลังจะผลักดันให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เรื่องของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ รวมถึงปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และอีกปัจจัยที่สำคัญคือเงินลงทุนที่ไหลเข้าทองคำอย่างต่อเนื่อง ทำให้การถือครองทองคำของกองทุน ETF ทั่วโลก พุ่งแตะระดับ 3,510 ตัน นับเป็นสถิติใหม่ ขณะที่กองทุน SPDR ซึ่งเป็นกองทุนทองคำใหญ่สุดในโลก ก็มีการซื้อทองคำเพิ่มถึง 283.6 ตัน ในปีนี้ ทำให้ปัจจุบันถือครองรวม 1,187.90 ตัน สูงสุดนับแต่ปี 2556

“หากประเมินราคาทองคำในระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถือเป็นแนวต้านที่สำคัญในเชิงจิตวิทยา หากผ่านขึ้นไปและสามารถยืนอยู่ได้ ก็มีโอกาสสูงที่ราคาจะขึ้นไปทำสอบจุดสูงสุดเดิมที่ 1,920 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้”

ส่วนปัจจัยลบที่อาจกดดันราคาทองคำนั้น มองว่าเป็นปัจจัยระยะสั้นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแรงขายทำกำไรหลังจากราคาทองคำปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการต้องการถือครองเงินสดมากขึ้น หรืออาจจะเป็นการสลับไปลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ยังปรับขึ้นไม่มาก

โดยภาพรวมแล้ว ในระยะยาวราคาทองคำมีโอกาสจะไปถึง 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่เงินเฟ้อจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่า 1% หากเงินเฟ้อกลับมาสูงกว่า 3% ก็มีโอกาสที่นักลงทุนจะเข้าซื้อทองคำมากขึ้น อย่างในช่วงปี 2551 - 2552

ด้าน นายกฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก มองว่า ราคา Gold spot ณ ขณะนี้ ซึ่งอยู่ที่ราว 1,762 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีแนวโน้มจะวิ่งขึ้นไปแตะระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตาม Gold Futures ภายใน 4 สัปดาห์นี้ และในระยะกลางราคาทองคำยังมีโอกาสจะขึ้นต่อได้อีก เพราะตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ยังไม่ได้ดีขึ้นอย่างแท้จริง และยังต่ำกว่าภาวะปกติอยู่ราว 6-7% ขณะเดียวกันเงินที่ล้นระบบและดอลลาร์ที่มีแนวโน้มอ่อนต่อเนื่อง