คนไข้ต่างชาติ ‘รีเทิร์น’ รพ. ใหญ่เตรียมลุ้นรายได้เพิ่ม

คนไข้ต่างชาติ ‘รีเทิร์น’  รพ. ใหญ่เตรียมลุ้นรายได้เพิ่ม

หลังจากผิดหวังมาตรการจับคู่ประเทศท่องเที่ยว หรือ ‘Travel Bubble’ ถูกเลื่อนการพิจารณาเข้า ครม.ออกไป 1-2 เดือน หลังจากการแพร่ระบาดในต่างประเทศกลับมาเป็นเวฟที่ 2 ในหลายประเทศ

พร้อมส่งผลทำให้ธุรกิจที่เฝ้ารอโดยตรง ท่องเที่ยว สายการบิน และโรงพยาบาล มีอาการ ‘วืด’ กันเป็นแถว เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าบางธุรกิจเตรียมพร้อมรับมือกับลูกค้าต่างชาติที่จะทยอยเข้ามาใช้บริการหลังปิดประเทศเพื่อลดการแพร่เชื้อ

ยิ่งในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีฐานคนไข้ต่างชาติได้รับผลกระทบในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ จึงเริ่มหันมาเตรียมรับกลุ่มคนไข้ที่มีความต้องการเข้ามาใช้บริการในไทยจำนวนไม่น้อย

ความหวังถูกจุดประกายอีกครั้งเมื่อครม .มีมติออกมาเห็นชอบตามที่ ศบค. ผ่อนคลาย “ต่างชาติ” เข้าไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. นั้นบวกกับ สำนักงานการบินพลเรือนไทย (กพท.) อนุมัติการเปิดน่านฟ้าให้กับ11 กลุ่ม ซึ่งมีนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว สามารถเดินเข้าประเทศได้แต่ยังจำกัดเฉพาะกลุ่มและเบื้องต้นเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยต่างชาติ

สอดคล้องกับการกำหนดขั้นตอนผ่อนคลายต่างชาติ 3 ขั้นตอน ซึ่งขั้นที่ 1 มี 2 กลุ่ม ได้กลุ่มที่ดำเนินการให้เข้ามาได้ทันที คือ นักธุรกิจ/นักลงทุน มีลงทะเบียนไว้ 700 คน และอยู่ใน Waiting List เมื่อเข้ามาจะต้องถูกกักตัวตามมาตรการ 14 วัน

กลุ่มที่ให้เข้ามาได้ในวันที่ 1 ก.ค. 2563 หลังเสนอ ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบวันที่ 29 มิ.ย. คือ แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 15,400 คน ซึ่งเป็นแรงงานชาวต่างชาติ

กรณีเป็นครอบครัวคนไทย/มีถิ่นที่อยู่ในไทยจำนวน 2,000 คน ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา ประมาณ 2,000 คน ส่วนนี้ต้องถูกกักตัว 14 วันเช่นกัน

ส่วนนักธุรกิจ นักลงทุน /แขกของรัฐบาลที่เดินทางเข้ามาสั้นๆ เช่น ประชุมสัมมนา 2 วันแล้วกลับ หรือลงนามสัญญาวันเดียวแล้วกลับ จะเสนอ ศบค.ให้เริ่มวันที่ 1 ก.ค.ด้วย

ขั้นที่ 2 กลุ่ม Medical and Wellness Tourism ดำเนินงานด้าน Safety Tour หรือ SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) ว ซึ่งประมาณการว่าจะเข้ามาประมาณ 30,000 คน โดยอาจเลือกไว้ในเขต กทม. ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ เชียงราย (ตามความพร้อม) และขั้นที่ 3 Travel Bubble มีการพิจารณาให้เริ่ม 1 ส.ค. ตามมาตรการที่กำหนด

หุ้นโรงพยาบาลมีฐานคนไข้ต่างชาติมากที่สุด คือ บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BH มีสัดส่วนมากถึง 66 % หลังรายได้ไตรมาส 1 ที่ผ่านมาลดลง 12% จากปีก่อน ถูกกดดันจากรายได้ผู้ป่วยต่างชาติที่ลดลง 16.4% และรายได้จากผู้ป่วยไทยลดลง 2.5 %

บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS มีสัดส่วนคนไข้ต่างชาติ 30 %ซึ่งพึ่งประกาศจับมือกับ ประกันรายใหญ่ของจีน PING AN HEALTH เชื่อการให้บริการกับลูกค้าในจีน คาดจะมีลูกค้าจีนเข้ามาใช้บริการ 1,000-4,000 ราย

รวมทั้งคาดหวังความร่วมมือครั้งนี้จะสร้างรายได้เข้ามาปีละ 1,000-2,000 ล้านบาทภายใต้สถานการณ์ปกติ

ด้านบริษัท บางกอก เชน ฮอลปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH มีสัดส่วนต่างชาติ 5-7 % ได้เริ่มติดต่อเอเยนต์เพื่อสอบถามคนไข้ต่างชาติที่สนใจเข้ามารักษาในไทย ซึ่งเบื้องต้นมีเข้ามาในเดือนก.ค. ประมาณ 1,000 ราย จะสามารถช่วยลดผลกระทบผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2563 ได้

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง ในมุมมอง การผ่อนปรนชาวต่างชาติเดินทางเข้าไทยข้างต้นยังอยู่บนข้อจำกัดที่สำคัญคือต้องกัดตัว หรือ quarantine อยู่ ดังนั้นกลุ่มที่จะได้ประโยชน์คือ ต้นน้ำการบิน และ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หรือ medical tourism ที่มี pent-up demand โดยเฉพาะจากกลุ่มประเทศ CLMV และกลุ่มตะวันออกกลาง ซึ่งโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วย fly-in คือ BH และ BDMS

สำหรับการท่องเที่ยวเชิงสันทนาการ (leisure tourism) ต้องรอลุ้นมาตรการกระตุ้นแบบ travel bubble ที่จำเป็นต้องละเว้นการ quarantine จึงจะแก้ปัญหาตรงจุด