'ซีเมนส์’ ถอดรหัสดิจิทัล สร้างอินฟราฯ อัจฉริยะ แก้เกมวิกฤติ

'ซีเมนส์’ ถอดรหัสดิจิทัล สร้างอินฟราฯ อัจฉริยะ แก้เกมวิกฤติ

สุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซีอีโอคนไทยคนแรก ของซีเมนส์ ประเทศไทย ฉายภาพสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปท่ามกลางวิกฤติโควิด

สำหรับลูกค้าที่มีปัญหาสภาพคล่อง บริษัทสามารถเข้าไปช่วยบริหารสินทรัพย์ ทั้งยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรทางธุรกิจที่สามารถให้คำปรึกษาด้านโปรแกรมทางการเงินได้

เธอกล่าวว่า วันนี้การเติบโตของมหานคร ได้เกิดมิติแยกย่อยขึ้น แบ่งได้เป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ มิติของอาคารพูดได้ (Building can talk) และการเปลี่ยนแปลงไปของชีวิตคนในเมือง (Urban life transformation) โดยอาคารในอนาคตจะเชื่อมโยง และกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบพลังงานไฟฟ้า ต่อไปอาคารจะเหมือนมีชีวิต สามารถเข้าใจผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ โต้ตอบ เรียนรู้และปรับตัวได้

ขณะที่ มุมของระบบสาธารณูปโภค การบริหารงานบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้า เพื่อให้เมืองยังดำเนินงานได้ตามปกติ ก็สามารถทำได้จากระยะไกลผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่การบันทึกข้อมูลมิเตอร์ก็สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการบันทึกข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแบบอัตโนมัติได้เช่นกัน

ปัจจุบัน การนำเทคโนโลยีและระบบออโตเมชั่นเข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม กลายเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนในโลกอุตสาหกรรม ภายใต้เป้าหมายเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ เนื่องจากอุตสาหกรรมยังพึ่งพาแรงงานคนเป็นหลัก เมื่อเกิดวิกฤติที่คนไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้จึงเกิดผลกระทบสูง

ดังนั้น การเริ่มทำ “Industry 4.0 assessment” คือสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรตรวจเช็คว่า โรงงานตนอยู่ขั้นใดของการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 แล้วเริ่มต้นจากตรงนั้น

โดยมี 3 หัวข้อหลักๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาได้แก่ กระบวนการ (process)”, “เทคโนโลยี” และ “โครงสร้างบริษัท (Organization)” สำคัญต้องสอดคล้องไปกับการทำงานด้านเทคโนโลยี ทักษะของบุคลากร รวมไปถึงการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็นด้วย

เชื่อลงทุนเทคฯในไทยยัง “ขยายตัว” 

อย่างไรก็ดี เป้าหมายการเติบโตของธุรกิจซีเมนส์ปีนี้ ยังอยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ แต่เบื้องต้นหวังว่า จะสามารถรักษาการเติบโตให้ได้เท่ากับปีที่ผ่านมา ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจากภาครัฐและเอกชนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

“ขณะนี้ ยังนับเป็นช่วงของปรับตัวเพื่อก้าวเข้าสู่นิวนอร์มอล ซึ่งหากอ้างอิงจากผลการวิเคราะห์ของสำนักวิจัยต่างๆ จะพบว่าปลายปี 2564 ถึงจะได้เห็นภาพที่ชัดว่าสถานการณ์ที่แท้จริงของเศรษฐกิจไทยจะออกมาเป็นอย่างไร”

พร้อมประเมินว่า ภาพรวมการลงทุนด้านเทคโนโลยีในประเทศไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ที่ชัดเจน คือ ภาครัฐ ซึ่งขณะนี้ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ มีการสานต่อแผนงานการพัฒนาอินฟราสตักเจอร์ของประเทศ ส่วนผลกระทบของธุรกิจอื่นๆ ต้องประเมินเป็นรายอุตสาหกรรม

อนาคตจะเกิดวิกฤติขึ้นอีกแน่นอน ดังนั้นเป็นโอกาสที่เราจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดา โดยมีเทคโนโลยีเป็นคำตอบของธุรกิจในวันนี้ สุวรรณี กล่าว