ศิลปากรที่ 10 โคราช สำรวจหลักหินเมืองโบราณเพิ่มอีก 6 ต้น

ศิลปากรที่ 10 โคราช สำรวจหลักหินเมืองโบราณเพิ่มอีก 6 ต้น

สำนักศิลปากรที่ 10 โคราช สำรวจพบหินหลักเมืองโบราณเพิ่มอีก 6 ต้น อายุราว 900-1,000 ปี สมัยทวาราวดี กลางทุ่งนาบัวใหญ่ โคราช

คืบหน้ากรณีชาวบ้าน บ้านหัวหนอง ตำบลบัวใหญ่ อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ได้พบหินโบราณอายุราว2,000ปี ที่บริเวณกลางทุ่งนา บ้านโนนหินตั้ง ตำบลบัวใหญ่ ความกว้างประมาณ50เซนติเมตร สูงจากพื้นดินประมาณ30เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับหินทราย ในยุคพระเจ้าชัยวรมันที่7เชื่อมโยงแหล่งอารยธรรมปราสาทหินพิมาย

ล่าสุด วันนี้ (1 ก.ค. 63) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวสุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากร ที่ 10 นครราชสีมาพร้อมเจ้าหน้าที่นักโบราณคดี ได้ลงพื้นที่สำรวจหินหลักเมืองโบราณ ในบริเวณตามที่ชาวบ้านระบุ ซึ่งพบว่า มีหินลักษณะดังกล่าว จำนวน6ก้อน ที่มีลักษณะคล้ายกับหลักเมืองโบราณ หรือคล้ายกับใบเสมาเก่าแก่ในสมัยอารยธรรมเขมร ซึ่งคาดว่า จะอยู่ในพุทธศตวรรษที่16-17หรือราว900ปีที่ผ่านมา

โดยคาดว่า น่าจะเป็นหลักเมืองของคนในสมัยโบราณ ที่ใช้หินขนาดใหญ่ปักเป็นหลักเมือง เพื่อใช้บ่งบอกอาณาเขตของเมือง ซึ่งก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายกับหลักเมืองโบราณนั้น มีระยะห่างกันประมาณ1กิโลเมตร มีสภาพสึกกร่อนไปตามกาลเวลา หลังจากนี้ ทางสำนักศิลปากรที่10จังหวัดนครราชสีมา จะได้เร่งสำรวจในพื้นที่ที่พบหินโบราณทั้งหมด เพื่อบูรณะซ่อมแซม ก่อนพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดีที่สำคัญของประเทศไทยต่อไป