ยักษ์การบินทรุด! ‘แอร์บัส’ จ่อเลิกจ้าง 15,000 คนทั่วโลกเซ่นพิษโควิด

ยักษ์การบินทรุด! ‘แอร์บัส’ จ่อเลิกจ้าง 15,000 คนทั่วโลกเซ่นพิษโควิด

“แอร์บัส” (Airbus) ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ยุโรป ประกาศแผนปรับลดพนักงานราว 15,000 คนทั่วโลก รับมือพิษโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสชี้ แอร์บัสปลดพนักงานมากเกินไป

บริษัทแอร์บัส แถลงเมื่อวันอังคาร (30 มิ.ย.) ว่า มีแผนเลิกจ้างพนักงานลงราว 15,000 คนทั่วโลก หรือ 11% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด ภายในช่วงฤดูร้อนปี 2564 เพื่อตอบสนอง “วิกฤติครั้งเลวร้ายที่สุด” ที่อุตสาหกรรมการบินโลกกำลังเผชิญ ผลจากการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้นหลังจากธุรกิจการบินพาณิชย์หดตัวลงเกือบ 40% ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา หลังการระบาดของโควิด-19

“เนื่องจากการสัญจรทางอากาศมีแนวโน้มยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับก่อนวิกฤติโควิด-19 จนกระทั่งปี 2566 และอาจยาวจนถึงปี 2568 ตอนนี้ แอร์บัสจำเป็นต้องใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อรับมือแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินยุคหลังโควิด-19” แอร์บัสแถลง

ผู้ผลิตเครื่องบินรายนี้ระบุด้วยว่า ในแผนเลิกจ้างครั้งนี้ จะเป็นการปรับลดพนักงาน 5,000 คนในฝรั่งเศส 5,100 คนในเยอรมนี 900 คนในสเปน 1,700 คนในสหราชอาณาจักร และ 1,300 คนในที่ทำการอื่น ๆ ของแอร์บัสทั่วโลก

แอร์บัสเผยว่า ขณะนี้ บริษัทมีแผนหารือกับสหภาพแรงงานและจะใช้มาตรการต่าง ๆ ในการปรับลดจำนวนพนักงาน ซึ่งรวมถึงการลาออกโดยสมัครใจ การเกษียณก่อนกำหนด และโครงการงดจ้างงานบางส่วนในระยะยาว

“แอร์บัสกำลังเผชิญวิกฤติครั้งเลวร้ายที่สุดเท่าที่อุตสาหกรรมนี้เคยประสบ” นายกีโยม โฟรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) แอร์บัสระบุ

ขณะที่กระทรวงเศรษฐกิจฝรั่งเศสแถลงว่า ตัวเลขแผนเลิกจ้างของแอร์บัสนั้น “มากเกินไป” และเรียกร้องให้ยักษ์ใหญ่รายนี้ทำทุกวิถีทางเพื่อจำกัดตัวเลขดังกล่าว

“ภาคการบินกำลังเผชิญกับภาวะช็อกครั้งใหญ่ รุนแรง และยืดเยื้อ มีแนวโน้มสูงที่การฟื้นตัวจะเกิดขึึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” กระทรวงเศรษฐกิจระบุ “อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการเลิกจ้างที่แอร์บัสประกาศนั้นถือว่ามากเกินไป”

ต้นเดือน มิ.ย. รัฐบาลฝรั่งเศสให้คำมั่นว่า จะอุดหนุนเงิน 15,000 ล้านยูโรให้กับอุตสาหกรรมการบินของประเทศ ในความพยายามเพื่อรักษาการจ้างงาน

ขณะที่ “โบอิง” (Boeing) คู่แข่งสำคัญของแอร์บัส ประกาศเมื่อเดือน เม.ย. ว่า จะลดพนักงานลง 10% ผ่านการลาออกโดยสมัครใจและการเลิกจ้าง เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด