สัญญาณบวกลงทุนอีอีซี ส่งผลต่อ 'อสังหาริมทรัพย์' อย่างไร?

สัญญาณบวกลงทุนอีอีซี ส่งผลต่อ 'อสังหาริมทรัพย์' อย่างไร?

ความก้าวหน้าของ EEC จากความคืบหน้าของภาครัฐ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าเป็นปัจจัยบวกที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีให้กับภาคการลงทุนในไทย โดยเฉพาะใน EEC เช่น Q1 พบญี่ปุ่นเข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอมากที่สุด

แม้วิกฤติโควิด-19 จะส่งผลกระทบแทบทุกภาคส่วน แต่สถานการณ์ ณ ขณะนี้ หลายกิจกรรมกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ยังคงเดินหน้าต่อ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ มีข่าวดีว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่มีมูลค่าโครงการ 2.9 แสนล้านบาทนั้น ได้มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม

EEC เป็นเมกะโปรเจคที่เริ่มกันมาเมื่อปี 2561 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อภาคอุตสาหกรรมหลากหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือภาคอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว และสถาบันการศึกษาชั้นนำ จึงดึงดูดผู้คนให้เข้ามาในพื้นที่และมีความต้องการด้านที่อยู่อาศัยตามมา

ซึ่งการบูรณาการการลงทุนในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ผลักดันงบการลงทุนและดึงภาคเอกชนร่วมลงทุนอย่างเต็มตัว จึงทำให้พื้นที่ EEC มีโอกาสที่จะเป็นทำเลศักยภาพของตลาดที่อยู่อาศัยเติบโตคู่กับการผลักดันเศรษฐกิจอย่างน่าสนใจ

EEC ในวันนี้แม้จะต่อยอดมาจาก Eastern Seaboard (ESB) หรือแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกที่เริ่มใช้ในปี 2520 และใช้กันเรื่อยมาจนถึงปี 2550 แต่สิ่งที่แตกต่างคือ การคมนาคมเชื่อมต่อจากกรุงเทพมหานครมาสู่ EEC ในปัจจุบันสะดวกมากยิ่งขึ้น และหากโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก็จะสร้างความคึกคักให้กับทั้งภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวภาคตะวันออกได้เป็นอย่างมาก

สำหรับอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่โดยรอบ EEC นั้น ไม่ได้มีเพียงกลุ่มคนไทยเท่านั้นที่ต้องการที่อยู่อาศัย แต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน และต้องการที่อยู่อาศัยในทำเลที่ใกล้แหล่งงานและใกล้แหล่งท่องเที่ยว 

จากผลสำรวจของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในศรีราชา ซึ่งเป็นโซนที่จัดอยู่ในกลุ่ม EEC พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นถึง 8,000 คน และพบว่าที่อยู่อาศัยในโซนศรีราชามีระดับราคาเสนอขายอยู่ที่ 3.5-6 ล้านบาท และ 6-15 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาที่ตอบโจทย์นักธุรกิจชาวต่างชาติที่มาทำงานในโรงงานในพื้นที่ EEC รวมถึงกลุ่มพนักงานชาวไทย และกลุ่มผู้ปกครองที่ซื้อให้บุตรหลานที่มาศึกษาเล่าเรียน

สำหรับด้านการลงทุน แม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่สถานการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยมีการจัดการที่ดี และการระบาดได้คลี่คลายไปในทิศทางดีขึ้น หากยังเป็นเช่นนี้เชื่อว่าการลงทุนจากต่างประเทศน่าจะมีความมั่นใจในการกลับมาลงทุนในประเทศไทย

ทั้งนี้ ก็ต้องจับตาดูเรื่องของมาตรการจัดการและควบคุมเรื่องการเปิดประเทศเพื่อการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งหากสถานการณ์ในประเทศไทยดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าภาพการเคลื่อนย้ายการลงทุนรอบใหม่จะเริ่มมีความชัดเจนอีกระลอก

นอกจากนี้จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่พบว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 ญี่ปุ่นมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนโลหะ กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศและสำนักงานสนับสนุนการค้าและการลงทุน กิจการกำจัดของเสียและรีไซเคิล กิจการผลิตเคมีภัณฑ์และพลาสติก และอื่นๆ ซึ่งที่ตั้งของโครงการส่วนใหญ่อยู่ใน EEC

และนอกจากญี่ปุ่นแล้ว คาดว่าจะมีบริษัทจากจีนและบริษัทต่างชาติน่าจะมีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปสู่ประเทศต่างๆ เผื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซึ่งไทยก็น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจจากสถานการณ์ที่คลี่คลายและมาตรการส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุน เช่น ในเขต EEC นี้

จากความก้าวหน้าใน EEC ที่เราเห็นความคืบหน้าจากภาครัฐ ตลอดจนสถานการณ์ในประเทศไทยที่เริ่มมีทิศทางดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเป็นปัจจัยบวกที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีให้กับภาคการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งหากการลงทุนเริ่มกลับมาฟื้นตัว น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเกิดการกระจายรายได้ ส่งเสริมการสร้างงาน ซึ่งจะสร้างความคึกคักให้กับเขต EEC และเป็นเหตุผลว่าทำไมอสังหาฯ ในพื้นที่ EEC จึงยังมีความสนใจครับ